“ขี่ช้าง ล่องแพ” บนลำน้ำแม่แตง

กระแสการท่องเที่ยวทางธรรมชาติได้เข้ามามีส่วนสำคัญต่อความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่หลงไหลใฝฝันในธรรมชาติของเมืองเชียงใหม่เป็นหนักหนา ความนิยมเหล่านี้ยังได้แผ่ขยายมาถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยให้ซึมซับความเป็นธรรมชาติอันพิสุทธิ์ไปด้วย

แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในเมืองเชียงใหม่นั้นมีมากมายหลายที่ด้วยกัน แต่ที่เห็นนักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสธรรมชาติมากที่สุดก็คือ การขี่ช้างล่องแก่ง ซึ่งถือว่าเป็นการท่องเที่ยวที่ท้าทายสำหรับบรรดานักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะเห็นผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติแห่กันไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทุก ๆ สุดสัปดาห์หรือวันหยุดราชการยาว ๆ กันมากขึ้น

สองฟากฝั่งของลำน้ำแม่แตง เขตอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่นี่มีปางช้างเกิดขึ้นมากมาย ไอดินกลิ่นป่าริมฝั่งน้ำแม่แตงนั้นมีเสน่ห์เย้ายวนใจผู้แสวงหาธรรมชาติอีกแห่งหนึ่ง ด้วยเหตุที่ผืนป่าในบริเวณนี้ยังคงอุดมสมบูรณ์ ฝั่งหนึ่งนั้นคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อีกฝั่งหนึ่งคือเขตป่าสงวน อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้นหนึ่งของประเทศ ที่สำคัญแม่น้ำแม่แตงยังเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลไปรวมกับแม่น้ำปิง แม่น้ำสายสำคัญของคนเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีต แต่ปรากฏว่ามีคนไทยที่เป็นนักเดินป่าจำนวนไม่มากนักที่ได้เข้าไปสัมผัสเสน่ห์ของผืนป่าริมฝั่งน้ำแม่แตง ซึ่งจนบัดนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภททัวร์ป่า (Trekking Tour) ของฝรั่งนักผจญภัยไปเสียแล้ว

การท่องเที่ยวแบบทัวร์ป่าริมน้ำแม่แตงส่วนใหญ่จะประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ๆ คือ การเดินป่า การขี่ช้างและการล่องแพ โดยเฉพาะการล่องแพในลำน้ำแม่แตงถือได้ว่าเป็นหัวใจของที่นี่ การท่องเที่ยวทางธรรมชาติจึงเป็นสิ่งใหม่ที่เข้ามามีส่วนเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวเขาในหมู่บ้าน ด้วยความที่ผูกพันอยู่กับป่าไม้และสายน้ำ เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวคึกคักมากขึ้น ชาวเขาบางคนได้เข้าไปทำงานถ่อแพในปางช้างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น บางคนได้มาเป็นควาญช้างของปางช้างก็มี ดังเช่นที่ปางช้างท่าแพแม่ตะมานมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงธรรมชาติอันสวยงามของผืนป่า หลังจากที่ได้ชมการแสดงของช้างแล้วจะมีการขี่ช้างท่องไพร จากนั้นก็จะต่อด้วยการล่องแพตามลำน้ำแม่แตงกระทั่งไปสิ้นสุดที่ปลายทางโดยจะมีเกวียนวัวไปรับที่นั่นเพื่อนำนักท่องเที่ยวนั่งเกวียนเข้าชมหมู่บ้านชาวเขานี่เป็นโปรแกรมอย่างคร่าว ๆ ของทางปางช้างจัดไว้เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว

ช้างที่ถูกพามารับนักท่องเที่ยวในย่านน้ำแม่แตง มีอยู่ถึงกว่า 100 เชือกพวกมันเป็นผลพวงอันเนื่องมาจากพรบ.ปิดป่าเมื่อปี พ.ศ.2531 ช้างที่เคยหมุนเวียนอยู่ในธุรกิจทำไม้ในป่าภาคเหนือต้องตกงานกันเป็นแถว ทางออกที่ดีที่สุดก็คือการผันตัวเองมารับใช้ธุรกิจท่องเที่ยวที่มีกระแสฟีเวอร์ค่อนข้างสูงในขณะนี้ ทว่าสิ่งที่ได้รับก็คือ รายได้ระหว่างการลากซุงกับการมาให้ฝรั่งขี่เที่ยวป่านั้นค่าแรงต่างกันลิบลับ ช้างจากที่เคยมีรายได้ในการชักลากไม้เดือนละกว่าหมื่นบาท ทำ 3 วันพัก 2 วัน แต่การมาทำทัวร์ป่าต้องทำทุกวัน มีรายได้เดือนละสามพันกว่าบาทเท่านั้น มันเป็นความรันทดของทั้งช้างและควาญ อย่างไรเสียการให้ฝรั่งขี่อยู่ในป่าก็ยังดีกว่าการเข้าไปเดินเพ่นพ่านอยู่เมืองแล้วเก็บตังค์จากคนที่เชื่อว่า เวลาเดินลอดท้องช้างแล้วจะโชคดี ซึ่งไม่ต่างอะไรไปจากการขอทานเท่าใดนัก

จะว่าไปแล้วความผูกพันระหว่างช้างกับควาญเป็นที่ร่ำลือมาแต่ไหนแต่ไร บรรดาช้างกว่าร้อยเชือกที่มาทำงานในปางช้างที่แม่แตงบางปาง ส่วนใหญ่ล้วนมีเจ้านายเป็นกะเหรี่ยงทั้งสิ้น เพราะคนกะเหรี่ยงถือว่าสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งบ่งชี้ความมั่งคั่ง ใครมีวัวมีควายก็ถือเป็นผู้มีอันจะกิน แล้วถ้าใครเป็นเจ้าของช้างแล้ว ย่อมถือเป็นคหบดีเลยทีเดียว แต่วันชื่นคืนสุขของธุรกิจลากไม้ได้ผ่านไปแล้ว วันนี้ช้างได้เปลี่ยนบทบาทครั้งสำคัญของชีวิตมาให้บริการแก่นักท่องเที่ยว แต่กระนั้นก็มิได้ทำให้สำนึกของช้างที่ได้เคยชักลากไม้ลบเลือนไปได้ ทุกวันนี้มีปางช้างหลายแห่งจัดให้มีการแสดงการลากไม้ของช้างให้กับนักท่องเที่ยวได้ชมกัน ถือได้ว่าเป็นการรื้อฟื้นความทรงจำอันรันทดของช้างให้ได้รับความสงสารจากผู้ชมมากยิ่งขึ้น

กิจกรรมการท่องป่าที่ควบคู่กับการขี่ช้างก็คือ การล่องแพในลำน้ำแม่แตง ว่ากันว่าน้ำแม่แตงเป็นแม่น้ำที่มีการล่องแพกันมากที่สุดในเชียงใหม่ก็ว่าได้ สังเกตุเห็นจากการที่มีแพไม้ไผ่กองทิ้งระเกะระกะเป็นจำนวนมาก ทำให้นึกถึงว่า ป่าไผ่อันเป็นอาหารสำคัญของช้างจะเหลืออยู่เพียงเท่าใด เมื่อได้รู้ว่ามีการตัดไม้ไผ่จากในป่าเพื่อมาทำแพบริการนักท่องเที่ยวถึงกว่าเดือนละ 4,500 ลำ ปรากฏว่าทุกวันนี้ คนตัดไม้ไผ่ในย่านแม่แตงต้องเข้าไปตัดไม้ในป่าลึกขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไผ่ริมน้ำเติบโตไม่ทันความต้องการของธุรกิจท่องเที่ยว เมื่อเข้าไปตัดลึกขึ้นราคาก็แพงขึ้นจากลำละประมาณ 300 บาทก็ขึ้นมาถึงประมาณ 400 – 500 บาท แต่คุณค่าของมันเมื่อไปถึงปลายทางกลับมีค่าเพียงบุหรี่ซองเดียว

ปัจจุบันหลังจากมีการนำเอาไม้ไผ่มาใช้ทำเป็นแพสำหรับบริการนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น จนวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อเกิดการขาดแคลนไม้ไผ่ขึ้นมาอาจทำให้การล่องแพบนน้ำแม่แตงต้องหยุดชะงักลง ยังผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวต้องซบเซา ทว่าด้วยสำนึกในธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงอุ้มชูสรรพสัตว์ โดยเฉพาะช้างที่ต้องหากินอาหารจากป่า จึงทำให้เจ้าของปางช้างปรับเปลี่ยนจากการนำไม้ไผ่ที่ใช้ในการล่องแพก็หันมาใช้เรือยางแทน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น