เกษตรเชียงใหม่ เชิญชวนให้หันมาปลูกพืชอื่น ทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง เพื่อลดความเสี่ยงราคาผลผลิตข้าวตกต่ำ

เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เชิญชวนให้หันมาปลูกพืชอื่น ทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง เพื่อลดความเสี่ยงราคาผลผลิตข้าวตกต่ำ หลังมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 5,000 ไร่

นายธนเดช วงค์เขียว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ กลุ่มยุทธศาสตร์ฯ
สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่

นายธนเดช วงค์เขียว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ กลุ่มยุทธศาสตร์ฯ สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึง การดำเนินงานโครงการการปลูกพืชอื่น ทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง และโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2562 ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนให้เกษตรกรทำการปลูกพืชอื่น เพื่อลดรอบการปลูกข้าว ไปปลูกพืชที่มีความเหมาะสม และมีตลาดรองรับผลผลิต จะสามารถช่วยลดปริมาณข้าวใหม่ที่จะออกสู่ตลาด รวมทั้งเป็นการลดความเสี่ยงเรื่องราคาผลผลิตข้าวตกต่ำ และสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกร ตลอดจน สามารถสร้างรายได้จากการปลูกพืชอื่น และได้เรียนรู้การปรับเปลี่ยนการปลูกข้าว ไปปลูกพืชชนิดใหม่ที่มีรายได้ดีในอนาคต

สำหรับ การปลูกพืชในช่วงหน้าแล้ง ตามปฏิทินการเพาะปลูกจะนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 30 เมษายน ของทุกปี ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จะมีการปลูกพืชในหน้าแล้ง ได้แก่ ข้าวนาปรัง และพืชผัก อาทิ หอม กระเทียม หอมหัวใหญ่ และพืชตระกูลถั่ว ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการให้เกษตรกรสมัครเข้าร่วมได้ตามเป้าหมายที่วางไว้จำนวน 5,157 ไร่ ในพื้นที่ 17 อำเภอ ส่วนงบประมาณในการปรับเปลี่ยนไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมจะต้องไม่ทำการปลูกข้าวนาปรัง และทำการปลูกพืชอื่น ยกเว้น หญ้าเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย เผือก พืชปุ๋ยสด ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผลไม้ยืนต้น และพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวมากกว่า 120 วัน ภายใต้เงื่อนไขของข้อมูลทางวิชาการความเป็นไปได้ ในการผลิต และความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ขอเชิญชวนให้เกษตรกรปรับระบบการปลูกข้าว เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะฝนทิ้งช่วง และลดความเสี่ยงเรื่องราคาผลผลิต หากเกษตรกรทำการปลูกข้าว และได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ได้น้อย ส่งผลให้ผลผลิตข้าวได้น้อยลงไปด้วย และในการปลูกพืชแต่ละช่วง ขอให้เกษตรกรให้ความร่วมมือในการแจ้งข้อมูลการเพาะปลูก โดยทำการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ที่สำงานเกษตรอำเภอทุกที่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลการผลิตพืช และเป็นการวางแผนการเชื่อมโยงการตลาดให้กับเกษตรกรต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น