ศูนย์นวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Teaching and Learning Innovation Center. Chiang Mai University (TLIC)

อาจารย์ ดร.อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ รองผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูแลศูนย์นวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงศูนย์ TLIC ว่า ถ้าอาจารย์คือปัจจัยสำคัญที่สุดในการนำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เท่าทันกับการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล แล้วมหาวิทยาลัยฯ จะช่วยอาจารย์อย่างไรบ้าง? ศูนย์นวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้ (TLIC: Teaching and Learning Innovation Center) กำลังจะจัดตั้งขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ชื่อ TLIC นี้ได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกในการประชุมสภามหาวิทยาลัย และปัจจุบันกำลังจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นภายใต้สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITSC) บางท่านเมื่อเห็นว่า TLIC อยู่ภายใต้หน่วยงานด้านเทคโนโลยีอาจคิดว่า TLIC จะทำด้าน e-learning เท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว TLIC ถูกจัดตั้งขึ้นด้วยพันธกิจที่หลากหลาย มุ่งสนับสนุนอาจารย์ทั้งด้านกระบวนการและเทคโนโลยี
แม้ TLIC กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้ง แต่ก็ได้เริ่มดำเนินงานไปบ้างแล้ว กิจกรรมที่พอเห็นเป็นรูปธรรมของ TLIC ได้แก่

กิจกรรมพัฒนาอาจารย์ – TLIC เริ่มบูรณาการงานอบรมอาจารย์ด้านการเรียนรู้แบบใหม่ซึ่งเดิมดำเนินการโดยสำนักพัฒนาคุณภาพการศึกษา เข้ากับโครงการการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 ซึ่งให้ทุนแก่อาจารย์ที่สนใจ โดยในปี 2562 จะมีการจัดงานสัมมนาชื่อ CMU21 เพื่อนำเสนอผลงานของอาจารย์ มีการทำ peer review เพื่อคัดเลือกผลงาน และรวบรวมผลงานออกมาในรูปแบบของ eBook ที่ใช้อ้างอิงได้

ส่งเสริม Digital Learning – แม้ปัจจุบันอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประมาณ 50% มีการใช้ LMS (Learning Management System) ในการเรียนการสอน แต่การจะก้าวไปเป็น Digital Learning นั้นเครื่องมือจะมีบทบาทมากกว่าเป็นเพียงที่ฝากสื่อนำเสนอและส่งการบ้าน คณะพยาบาลเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่มุ่งพัฒนาการเรียนหลักสูตรบัณฑิตศึกษาให้เป็น Online โดยในปีนี้มีนักศึกษาหลักร้อยคนเรียนด้วยวิธีนี้ อาจารย์สอนผ่านทางระบบ Video Conference บางท่านพยายามบันทึกการสอนของตน มีการสร้างกิจกรรมสนทนาผ่าน Discussion Forum ซึ่ง TLIC ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมนี้โดยพัฒนาชุดบันทึกการสอนด้วยตนเองชื่อ Ez Studio มีการจัดหาโปรแกรม Zoom Meeing ที่เหมาะกับการเรียนการสอนทางไกล รวมทั้งอบรมการใช้ความสามารถที่เหมาะสมของ KC-Moodle เป็นต้น

การเรียนรู้ตลอดชีวิต Life Long Learning – ในปี 2562 TLIC จะเปิดตัว CMU MOOC ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ สกอ. เพื่อสร้างเวทีให้อาจารย์ในการเผยแพร่ความรู้ให้กับบุคคลภายนอก โดยมีทีมงานมืออาชีพช่วยเหลือออกแบบและผลิตสื่อให้ได้มาตรฐาน การเผยแพร่ความรู้เหล่านี้อาจใช้ชักชวนให้ศิษย์เก่ากลับมาฟื้นหรือต่อยอดความรู้ สามารถใช้เป็นเครื่องมือเสริมการอบรมหรือปฏิบัติการที่อาจารย์ทำกับบุคคลภายนอกอยู่แล้ว ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขเพื่อทำการสะสมหน่วยกิตเพื่อเทียบโอนในกรณีที่สมัครเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยได้

มุ่งสู่ Outcome-based Education – คุณภาพของบัณฑิตไม่จำเป็นต้องดูเพียงจากผลการเรียนเฉลี่ย (GPA) เท่านั้น ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมหลักสูตรหนึ่งๆ สามารถที่จะระบุสมรรถนะด้านต่างๆ ซึ่งนักศึกษาสามารถสะสมเป็น Electronic Portfolio ได้ แต่การที่จะสร้างคุณวุฒิลักษณะนี้ขึ้นมาจำเป็นต้องอาศัยระบบการประเมินผลที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ TLIC ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนพัฒนาระบบประเมินผลการเรียน (ตัดเกรด) ให้กับอาจารย์ ตามด้วยระบบบันทึกผลการเรียนรู้ เพื่อให้สุดท้ายแล้วสามารถเชื่อมโยงเข้ากับผลลัพธ์การเรียนรู้ที่หลักสูตรต้องการ โดยสร้างเป็นระบบ Online เพื่อให้ไม่เป็นภาระในการทำเอกสารให้กับอาจารย์

ท้ายนี้ TLIC อยากรับฟังความคิดเห็นของท่านว่า ศูนย์ใหม่นี้ควรทำอะไรให้กับอาจารย์บ้าง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสร้างบริการให้ครบถ้วนและตอบโจทย์ สามารถแสดงความเห็นได้จาก QR Code และลิงก์ด้านท้ายบทความนี้https://tinyurl.com/cmu1234

ร่วมแสดงความคิดเห็น