“เครื่องยศ” เจ้าหลวงเชียงใหม่

สมัยก่อนเมื่อครั้งที่หัวเมืองต่าง ๆ ได้ถูกรวมการปกครองและขึ้นตรงต่อประเทศสยาม จะมีเจ้าผู้ครองนครปกครองเมืองนั้น และในทุกปีก็จะมีการเจริญสัมพันธ์ไมตรีระหว่างเมืองหลวงและหัวเมืองต่าง ๆ ทั้งยังเป็นการรับสนองพระบรมราชโองการในการบริหารบ้านเมืองจากพระมหากษัตริย์อีกด้วย

สิ่งหนึ่งที่พระมหากษัตริย์ได้มอบให้เพื่อเป็นการตอบแทน หรือเป็นบำเหน็จในคุณงามความดีและความจงรักภักดีของเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ ที่มีต่อพระมหากษัตริย์ก็คือ “เครื่องยศ” ซึ่งในระยะหลังได้เปลี่ยนจากการมอบเครื่องยศมาเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์แทน เครื่องยศ
ได้แพร่หลายและเป็นที่นิยมกันในสมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

เครื่องยศ หมายถึง สิ่งของเครื่องใช้บางประเภทที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน เพื่อเป็นเครื่องแสดงเกียรติยศของผู้ได้รับพระราชทาน สำหรับบุคคลที่ได้รับพระราชทานนั้น มีตั้งแต่เจ้านายในราช
ขัตติยราชสกุลไปจนถึงผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

ประเพณีการพระราชทานเครื่องยศเป็นประเพณีที่มีขึ้นในเมืองไทยมาตั้งแต่โบราณกาล สมัยอยุธยาได้ปรากฏการพระราชทานเครื่องยศในกฏมณเฑียรบาล รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแล้ว แต่เดิมตามธรรมเนียมราชประเพณีการพระราชทานเครื่องยศจะพระ
ราชทานแก่ผู้รับนำไปตั้งเป็นเครื่องเกียรติยศเมื่อเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเฉพาะพระพักตร์ภายในห้องท้องพระโรง

เครื่องยศนั้นประกอบด้วยสิ่งของหลายอย่างต่าง ๆ กัน เช่นต่างกันในชนิดของสิ่งของ ต่างกันในรูปลักษณ์ของสิ่งของที่เป็นของสิ่งเดียวกันและต่างกันในวัสดุที่นำมาประดิษฐ์ แบ่งออกได้เป็น 6 หมวด หมวดเครื่องสิริมงคล ได้แก่ สังวาลย์พระนพ, ตะกรุด, ประคำ 108 เม็ด, สายดิ่งและแหวนมงคล

หมวดเครื่องศิราภรณ์ ได้แก่ พระมงกุฏ, พระชฏามาลาและหมวกทรงประพาส เครื่องยศหมวดนี้มิใช่เป็นของที่จะพระราชทานทั่วไป จำกัดพระราชทานอยู่ในบรรดาผู้มีอิสริยศักดิ์สูง เช่นพระมงกุฏ พระชฏา จะพระราชทานเฉพาะเจ้านายในขัตติยราชสกุล

หมวดเครื่องศาสตราวุธ ได้แก่ กระบี่ กั้นหยั่น หอก ง้าว ปืน กระบี่หรือดาบที่พระราชทานเป็นเครื่องยศนั้นมีมากมายหลายชนิด เช่นตัวกระบี่แบบธรรมดาบ้าง ทำเป็นสินปรุ ส่วนฝักกระบี่มีทั้งฝักที่เรียกว่า บั้งเงิน บั้งทอง ฝักนาถ ฝักทองคำเกลี้ยงเป็นต้น

หมวดเครื่องอุปโภค ได้แก่ พานหมาก หีบหมาก เจียด ขันน้ำ คนโทน้ำ กาน้ำ กระโถน เครื่องยศในหมวดนี้เป็นเครื่องยศที่พระราชทานทั่วถึง แต่ลดหลั่นกันตามศักดิ์และความดีความชอบ สำหรับขันล้างหน้าและขันน้ำเย็น เป็นเครื่องยศที่พระราชทานเฉพาะฝ่ายใน

หมวดเครื่องสูง ได้แก่ ฉัตร อภิรุมชุมสาย บังสูรย์ บังแทรก จามร กลด พัดโบก ฉัตรเบญจา กรรเชิงและทิวธงต่าง ๆ เครื่องยศหมวดนี้บางอย่างเป็นเครื่องแสดงอิสริยยศ บางอย่างเป็นเครื่องบ่งบอกเกียรติยศ

หมวดยานพาหนะ ได้แก่ เสลี่ยง, แคร่กัญญา ฯลฯ ซึ่งได้มีการพระราชทานมาแต่โบราณ เสลี่ยงและแคร่กัญญาจะมีลักษณะที่แตกต่างกันคือ เสลี่ยงเป็นคานหามเปิดไม่มีหลังคา ส่วนแคร่กัญญาคือ คนหามที่มีหลังคา

การพระราชทานเครื่องยศในปัจจุบัน ยังคงมีการพระราชทานกันตามโบราณราชประเพณีอยู่ เช่นในการสถาปนาพระอิสริยาฐานันดรศักดิ์ของพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงและในการแสดงออกมหาสมาคม พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เจ้าพนักงานก็จะอัญเชิญเครื่องยศออกท่ามกลางมหาสมาคม

ในการพระราชทานเครื่องยศที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหลวงเชียงใหม่หลายพระองค์ได้รับพระราชทาน ซึ่งบทบาทของเจ้าหลวงในอดีตนั้น จะเป็นผู้นำหรือผู้บังคับบัญชาการต่อสู้ศัตรูในยามที่บ้านเมืองเกิดศึกสงคราม แต่เมื่อยามที่บ้านเมืองสงบสุข เจ้าหลวงก็จะเป็นหัวหน้า
นการทำนุบำรุงบ้านเมือง สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าหลวงจะต้องได้รับการยินยอมจากบรรดาเจ้านายทั้งปวงและจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ด้วย

สำหรับเครื่องประกอบยศเจ้าหลวงที่ได้รับพระราชทานนั้น ได้แก่ กระโจมหัว (มงกุฏ) ดาบสรีกัญชัย (พระแสงขันชัยศรี) เกิบตีน (ฉลองพระบาท) วี (วาลวิชนี,พัด)และไม้เท้า (ธารพระกร) ซึ่งเจ้าหลวงคนหนึ่ง จะได้รับพระราชทานเครื่องยศทั้งหมดหรือแยกเป็นชิ้นก็แล้วแต่
ดังเช่น พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ท่านทรงได้รับพระราชทานเครื่องยศที่เป็นกล่องสำหรับใส่หมากจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ซึ่งจะเห็นได้เวลาที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงฉายพระรูปจะมีเครื่องยศตั้งประกอบอยู่ด้วย

นอกจากนี้ยังมีสิ่งของที่เจ้าหลวงได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัวแห่งราชสำนักรัตนโกสินทร์อีกต่าง ๆ กันไปในแต่ละพระองค์ ซึ่งเครื่องประกอบยศประเภทเครื่องใช้ประจำตัวในการดำเนินชีวิตของเจ้าหลวงจะเป็นเครื่องที่ทำด้วยทองคำ ส่วนเครื่องประกอบยศอย่าง
อื่นนั้นจะมีการใช้งานตามความเหมาะสม ซึ่งผู้สนใจสามาถเข้าไปชมได้ที่พิพิธภัณฑ์เงินตราเชียงใหม่ บริเวณสี่แยกกลางเวียง

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น