เที่ยว”ทุ่งหญ้า-ป่าสน” บนอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง

เรื่องราวอันเป็นปริศนาและสมรภูมิรบบนพื้นที่ระหว่างรอยต่อของอำเภอวังทอง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลกกับอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ยังคงเย้ายวนใจให้ผู้คนรุ่นหลังต่างเดินทางขึ้นมาสัมผัสผืนป่าธรรมชาติอันสวยงามนามว่า “ทุ่งแสลงหลวง” ขณะที่เรื่องราวการต่อสู้ในสมรภูมิรบ “ยุทธการผาเมืองเผด็จศึก” เมื่อ ปี พ.ศ. 2524 ในการขับไล่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์บนพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นตำนานที่น่าสนใจให้ผู้ใฝ่รู้ได้ขึ้นมาค้นหาอีกเช่นกัน

ท่ามกลางวันเวลาปลายฝนต้นหนาวปีนี้ ผมมีโอกาสเข้ามาสดับรับฟังถึงเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างนักรบผู้กล้าแห่งกองร้อยทหารพรานที่ 342 กับขบวนการผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ในผืนป่าทุ่งแสลงหลวง ดินแดนที่ได้ชื่อว่า “พื้นที่สีแดง” ถิ่นที่อยู่ของขบวนการนัก
ศึกษาเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในนามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พร้อมๆกับการได้เข้ามาชื่นชมความงามอันพิสุทธิ์ของธรรมชาติในป่าทุ่งแสลงหลวง ใครจะรู้ว่าผืนป่าสีเขียวสลับทุ่งหญ้ากว้างใหญ่เบื้องหน้านั้น เมื่อ 20 ปีที่แล้ว บริเวณแห่งนี้คือสมรภูมิรบอันดุเดือด ที่ซึ่งผู้คนจำนวนมากต้องสังเวยเลือดเนื้อ หรือแม้กระทั่งชีวิตในการต่อสู้ ขณะที่ร่องรอยแห่งสงครามบางอย่างยังปรากฏเป็นตำนานเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้

ทุ่งแสลงหลวงในวันนี้ ต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง ตำนานแห่งสงครามบทเก่าจางหาย ตำนานบทใหม่แห่งการท่องเที่ยวได้เริ่มขึ้น หลังสงครามสงบทางราชการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ทำให้แต่ละปีที่นี่ไม่เคยเงียบเหงาไปจาก
นักท่องเที่ยว

ด้วยพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 1,262 ตารางกิโลเมตร กินอาณาเขตถึง 5 อำเภอ ใน 2 จังหวัด อันได้แก่ อำเภอวังทอง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก อำเภอเขาค้อ อำเภอหล่มสัก อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ผนวกกับภูมิประเทศที่เป็นทุ่งหญ้า (สะวันนา) สลับด้วยป่าสน
เขาและป่าดิบแล้ง ทำให้ชื่อเสียงของทุ่งแสลงหลวงยังคงตราตรึงอยู่ในใจของนักเดินทาง กล่าวกันว่าแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวที่ทุ่งแสลงหลวงเป็นจำนวนหลายหมื่นคน จนทำให้บางครั้งบ้านพักไม่พอจำนวนแก่นักท่องเที่ยว ขณะที่ลานกางเต็นท์ก็ถูกจับจองพื้นที่จนหมดสิ้น หากปีไหนอากาศเริ่มหนาวมากขึ้นเท่าไหร่ ทุ่งแสลงหลวงก็คราคร่ำด้วยนักท่องเที่ยวมากขึ้นเท่านั้น

ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กระแสการท่องเที่ยวเชิงนิเวศดูเหมือนว่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไม่น้อย ทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ แหล่งท่องเที่ยวไหนที่มีชื่อเสียงเรื่องธรรมชาติ นักท่องเที่ยวก็จะแห่ไปเที่ยวที่นั่น และแน่นอนว่าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงก็
เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาค้างแรมมากที่สุด

อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 3 ของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ 1,262.55 ตารางกิโลเมตร หรือ 789,000 ไร่ จากสภาพภูมิประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาเพชรบูรณ์ จึงทำให้บริเวณพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงเต็มไปด้วยแนวเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อน โดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของอุทยานฯ เป็นแนวเทือกเขายาวจากเหนือจรดใต้ ขณะที่ตอนกลางของพื้นที่ประกอบด้วยเทือกเขาสูงหลายแห่ง เช่น เขาร่องเรือตาหมื่น เขาถ้ำ เขาปู่ เขาสามหมื่น และเขาแคซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของอุทยานฯโดยสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,028 เมตร อันเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำเข็กใหญ่และลำน้ำเข็กเล็ก

บริเวณพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงเต็มไปด้วยลำธารน้อยใหญ่ไหลผ่านลงมาเป็นแก่งน้ำและน้ำตกหลายสาย ลำน้ำสายสำคัญคือ คลองวังทอง ซึ่งเป็นลำน้ำสายใหญ่ที่สุดเกิดจากลำน้ำเข็กใหญ่และลำน้ำเข็กน้อยไหลมารวมกัน ดังนั้นภายในอุทยานแห่ง
ชาติทุ่งแสลงหลวงจึงมีน้ำตกและแก่งหินที่สวยงามที่สุดอยู่หลายแห่ง เช่น น้ำตกแก่งโสภา น้ำตกสกุโณทยาน น้ำตกแก่งซอง รวมถึงแก่งวังน้ำเย็น

นอกจากความสวยงามตามธรรมชาติแล้ว อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงยังมีป่าที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศสูง ประกอบด้วยสภาพป่าหลายชนิด ทั้งป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าสนเขาและทุ่งหญ้า ขณะที่สัตว์ป่าที่พบก็มีหลาก
หลายชนิด ทั้งเก้ง กวาง และผีเสื้อหายากอีกนับร้อยชนิด

จะมีใครสักกี่คนที่รับรู้ว่าชื่อของ “ทุ่งแสลงหลวง” แท้ที่จริงมีที่มาจากชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่งสูงประมาณ 25 เมตร เรือนยอดเล็กเรียว ผิวใบเกลี้ยง ก้านดอกมีขนหนาแน่นและกาบเล็ก ๆ ส่วนเนื้อของมันนั้นจริง ๆ แล้วกินได้ แต่เมล็ดมีสารสตริกนินซึ่งเป็นพิษต่อประสาทอย่าง
รุนแรง ชาวบ้านเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า “ต้นแสลงใจ” ขณะที่ลักษณะทางภูมิประเทศที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่และเป็นที่มาของชื่อ “ทุ่งแสลงหลวง” ก็คือทุ่งหญ้าแบบสะวันนา (Savannah) ขึ้นตามธรรมชาติมากมาย โดยเฉพาะบริเวณจุดชมวิวขุนณรงค์ซึ่งมองเห็นทุ่งแสลงหลวงราวกับแอ่งกระทะ มีทุ่งหญ้าสีเขียวขึ้นปกคลุมแผ่กว้างกินอาณาบริเวณหลายร้อยไร่

ด้วยพื้นที่ที่กว้างใหญ่ของทุ่งแสลงหลวง อีกทั้งจุดท่องเที่ยวก็ไม่ได้อยู่ชิดติดกัน จึงเป็นเรื่องยากหากนักท่องเที่ยวไม่มียานพาหนะ เพราะแหล่งท่องเที่ยวแต่ละที่ในทุ่งแสลงหลวงนั้นอยู่ห่างกันหลายกิโล ครั้นจะใช้วิธีเดินป่าศึกษาธรรมชาติอาจต้องเหนื่อยกันสักหน่อย

ขณะที่จักรยานเสือภูเขากลับเป็นพาหนะยอดฮิต ยามเช้าคือช่วงเวลาอันสวยสดงดงามที่สุดของทุ่งแสลงหลวง นักท่องเที่ยวจะต้องตื่นแต่เช้ามืดแล้วเดินไปตามเส้นทางรถซึ่งลัดเลาะตัดผ่านทุ่งหญ้าไปยังเนินเขาสูงที่แวดล้อมด้วยป่าสนและป่าดิบเข้าสู่ทุ่งนางพญา หรือ ทุ่งนางพญาเมืองเลน ซึ่งกินพื้นที่กว้างถึง 16 ตารางกิโลเมตร ทุ่งนางพญาแห่งนี้มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของผึ้งนางพญา แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีผึ้งนางพญาปรากฏให้เห็น

นอกจากนั้นในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงยังมีทุ่งหญ้าธรรมชาติอีกหลายแห่ง อาทิ ทุ่งโนนสน ทุ่งยาว ทุ่งหนองรี ทุ่งหนองเรือ ทุ่งตะลูบบอน และทุ่งแสลงหลวงซึ่งถือว่าเป็นทุ่งหญ้าขนาดกว้างใหญ่ที่สุด ซึ่งตั้งอยู่ติดที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ สล.8 หนอง
แม่นา ถือเป็นจุดศูนย์กลางในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูร้อน ฤดูฝน หรือ ฤดูหนาว นักท่องเที่ยวก็นิยมเดินทางมาเที่ยวชมความสวยงามของป่าสนและทุ่งหญ้าที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงแห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย

ทุ่งหญ้า – ป่าสน บนอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ผ่านวันเวลาของอดีตกาลมายาวนาน ทั้งจากสงครามการสู้รบกระทั่งพลิกมิติใหม่สู่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศ ได้ยินเช่นนี้แล้วนักเดินทางผู้รักในธรรมชาติทั้งหลาย หากมีเวลาว่างสัก 2-3 วันลองเข้าไปค้นหาความงามตามธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงดูบ้าง บางทีคุณอาจจะรู้ว่าประสบการณ์และความทรงจำบางอย่าง ไม่ได้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ และการทำงานอันแสนเบื่อหน่าย ทว่าอยู่ในธรรมชาติและโลกกว้างต่างหาก

สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจทางอุทยานฯมีบ้านพักและเต็นท์ไว้บริการ โดยสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง 0 5526 8019, 0 81226 0728บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น