“เจดีย์ขาว” เจดีย์ริมปิง อันมีเรื่องเล่าขาน

หนึ่งในสัญลักษณ์ของ “เทศบาลนครเชียงใหม่” ได้แก่ “เจดีย์ขาว” หรือ “เจดีย์กิ่ว” ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ริมน้ำปิง บริเวณด้านหน้าสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่ง “เจดีย์ขาว” นั้น ปรากฎณ์ขึ้นมาแต่โบราณ พร้อมเรื่องเล่าขานที่เป็นตำนานฝากไว้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

โดย เจดีย์ขาว นั้นไม่ได้เป็นเจดีย์ที่อยู่ในเขตวัด หรือโบราณสถานแต่อย่างใด ตั้งอยู่ริมน้ำปิง กลางสามแยกถนนวิชยานนท์กับถนนวังสิงห์คำ ด้านหน้าสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นเจดีย์ที่มีความสูงไม่มากนัก เพียง 8 เมตร และกว้าง 6 เมตร มีลักษณะรูปร่างคล้ายกรวยสามเหลี่ยมทรงกลม องค์สถูปโบกปูนเรียบ ทาสีขาว ไม่มีลวดลายประดับใดๆทั้งสิ้น ส่วนบนยอดนั้นหักเข้า และมีเครื่องประดับตามแบบเจดีย์ทั่วไป

สำหรับหลักฐานการก่อเกิดของของเจดีย์ขาวนั้นไม่ชัดเจน แต่ก็มีเรื่องเล่าแต่โบราณปรากฎให้ทราบว่า “ครั้งหนึ่งกษัตริย์พม่า ยกพลมาล้อมเมืองเชียงใหม่เอาไว้ และให้จัดหานักดำน้ำไปแข่งดำน้ำพนัน โดยว่าหากชาวเชียงใหม่ ดำน้ำได้ทนกว่าชาวพม่า พม่าก็จะยกทัพกลับไป คราวนี้จึงมีชายชราผู้หนึ่งชื่อ ลุงเพียง (หรือภาษาเหนือว่าลุงเปียง) อาสาขอเป็นตัวแทนชาวเชียงใหม่ลงแข่งพนันดำน้ำ เจ้าหลวงผู้ครองนครเชียงใหม่จึงรับไว้ แล้วนัดหมายกับพม่า และเสนอให้จัดแข่งขันดำน้ำในแม่น้ำปิง (บริเวณใกล้เจดีย์ขาวแห่งนี้) โดยให้จัดหาหลักสองอันปักลงไปในแม่น้ำ เว้นระยะมิให้ใกล้กันเกินไป เมื่อนายทัพทั้งสองฝ่ายเข้าประจำที่ และนักดำน้ำของทั้งสองฝ่ายลงไปเกาะเสารอพร้อมแล้ว ก็ให้สัญญาณแก่นักดำน้ำทั้งสองลงดำพร้อมกัน 

เวลาผ่านไปเนิ่นนาน จนคนที่อยู่ในที่ชุมมุนรู้สึกอึดอัด ในที่สุดนักดำน้ำคนแรกที่โผล่ขึ้นมาก็เป็นคนพม่า จึงก่อให้เกิดความโล่งใจแก่ชาวเชียงใหม่ทั้งปวง หลังจากนั้นทุกคนก็รอให้ลุงเพียงขึ้นมาจากน้ำ เพื่อประกาศชัยชนะ จึงให้คนลงไปตามลุงเพียงขึ้นจากน้ำ แต่คนที่ลงไปตามนั้นบอกว่าลุงเพียงไม่อาจขึ้นจากน้ำได้ เนื่องด้วยลุงเพียงยอมพลีชีวิตเพื่อบ้านเมือง โดยใช้ผ้าขาวม้าผูกตนไว้กับหลักและตายอยู่ในลำน้ำปิง ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นอนุสาวรีย์แก่ความเสียสละของลุงเพียงดังกล่าว เจ้าผู้ครองเชียงใหม่ จึงให้สร้างเจดีย์กิ่วที่ริมฝั่งแม่ปิงขึ้น”

ทั้งนี้อีกแนวคิดหนึ่ง ถึงที่มาที่ไปของ เจดีย์ขาว นั้น เจดีย์ขาว ไม่ได้มีลักษณะและความสูงเหมือนเจดีย์ที่เป็นปูชนียวัตถุทั่วไป จึงมีผู้คิดว่าเจดีย์ขาวอาจเป็นสถูปบรรจุอัฐของบุคคลสำคัญชาวพม่า ในครั้งที่มาครอบครองนครเชียงใหม่ ในช่วง พ.ศ. 2101-2317 ก็ได้ และนอกจากนี้ยังมีผู้เล่าอีกว่า เจดีย์กขาวเป็นเครื่องหมายบอกว่า ด้านล่างของเจดีย์ดังกล่าวเป็นปากอุโมงค์ที่ทอดยาวมาจากอุโมงค์ใต้ฐานเจดีย์หลวงที่อยู่กลางเมือง พร้อมกันนี้ที่ตั้งของเจดีย์ขาว ยังมีคุ้มของเจ้าเชียงใหม่อยู่แห่งหนึ่งชื่อว่า คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานกงสุลอเมริกันประจำ จ.เชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น