ชุมชนป่าต้นน้ำ วิถีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “โฮมสเตย์บ้านห้วยน้ำกืน”

การเดินทางจากอุทยานแห่งชาติขุนแจ เข้าสู่เส้นทางที่ลัดเลาะไปตามแนวกำแพงเทือกเขาสูงตระหง่านปกคลุมด้วยป่าไม้เขียวขจี ราวว่าเรากำลังผ่านม่านหมอกปราการแห่งป่าเขา ถนนขึ้นลงคตเคี้ยวไปตามแนวเขาและหมู่บ้าน ราว 15 กม. ชุมชนกลางขุนเขาที่โอบล้อมด้วยป่าผืนใหญ่ก็เปิดเผยภาพ “บ้านห้วยน้ำกืน” ให้เราได้เห็น

เริ่มต้นจากกลุ่มคนบ้านสาขันหอม เข้ามาหาของป่า และได้พบต้นเมี่ยง(ชา)ขึ้น จึงได้ชักชวนกันเพรียวถางตั้งรกราก 5 ครัวเรือน โดยมี พ่ออุ้ยหนาน ปินตา พ่ออุ้ยคำ พีระ พ่ออุ้ยก๋า ซึ่งมีต้นตระกูลกาวิโล เป็นแกนนำในการจัดตั้งหมู่บ้าน ต่อมาได้มีผู้คนเข้าอยู่อาศัยมากขึ้นประ กอบหมู่บ้านแคบ ต่อมาปี พ.ศ.2475 ได้ย้ายจากหมู่บ้านเดิมมาอยู่ในพื้นที่หมู่ในปัจจุบันประกอบด้วย หมู่บ้านห้วยน้ำกืน,บ้านปางมะกาด,บ้านปางกุลา,บ้านปางม่อนวัด,บ้านปางแม่เจดีย์,บ้านปางกลาง ได้จัดตั้งหมู่บ้านขึ้นชื่อว่า “หมู่บ้านปางมะกาด” ต.แม่เจดีย์ อ.เวียงป่า เป้า จ.เชียงราย ในปี พ.ศ.2545 ได้ขอแยก “หมู่บ้านห้วยน้ำกืน” หมู่ 13 ต.แม่เจดีย์ 

ชุมชนเก่าแก่อายุ 130 ปี บ้านห้วยน้ำกืน ต.แม่เจดีย์ อ.แม่ขะจาน จ.เชียงราย ที่อาศัยอยู่ร่วมกับป่าต้นน้ำแม่ลาว มีวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อสอดคล้องกับความยั่งยืนของป่าต้นน้ำ

เย็นนี้อาหารค่ำมีเมนู “ส้าใบเมี่ยง” เป็นอาหารพื้นบ้านที่นำใบเมี่ยงสดมายำ แล้วชมการแสดง ฟ้อน รำเก็บใบเมี่ยง คืนนี้เราพักโฮมสเตย์ที่บ้าน ผญบ.นายเสถียร ชัยนาม อากาศในยามค่ำคืนในเดือนกุมภาต้นๆฤดูร้อน ที่เรียกว่าบ้านน้ำกืนยังหนาวเอาเรื่องที่เดียว นอนต้องห่มผ้าใช้ผ้าห่ม 5 ผืน ถึงจะเอาอยู่ ได้พูดคุยเรื่องราวของหมู่บ้านในครั้งอดีตจนง่วงนอน

05.00 นาฬิกาปลุกท่ามกลางความมืด และอากาศที่หนาวเย็น รถ w4 ของนายจันทร์แดง สุลัยยะ พี่สมบูรณ์ นำผ่าความมืดมิดขึ้นดอย ที่เป็นสวนเมี่ยงจากระดับน้ำทะเล 1,700 เมตร รถต้องหยุดที่ปลายทาง ต่อไปเดินเท้ากันต่อ ดวงดาวบนท้องฟ้ายังส่งแสงพราวระยับ ไม่นานนักแสงทองจากขอบฟ้าเริ่มเผยสีสันออกมา ขุนเขาดอยหมด ดอยช้าง ที่บริเวณที่เราตั้งกล้องถ่ายภาพมีชื่อเรียกว่า “ดอกผักกูด” เนื่องจากบริเวณนี้เต็มไปด้วยผักกูดและต้นเมี่ยง มีเสียงนกร้องขับขานดังก้องผืนป่า พอสมควรกับเวลาเราย้อยกลับไปในหมู่บ้าน

ม่านหมอกขาวปกคลุมหมู่บ้านจนมองแถบไม่เห็น บ้านเรือนไม้โอบล้อมด้วยขุนเขา ที่หน้าบ้านหลังบ้านของแต่ละหลัง จะมีกระถางปลูกผักนานาชนิด ใบเขียวสดน่ารับประทาน เช้านี้เราร่วมตักบาตรพระที่หน้าบ้าน แล้วเติมพลัง ข้าวต้มร้อนๆ ชา กาแฟ พร้อมลุยท่องเที่ยวกันต่อ

ภายในหมู่บ้านมีฐานเรียนรู้ให้นักท่องเที่ยว ได้ร่วมท่องเที่ยวสัมผัสเรียนรู้ในฐานต่างๆ “ฐานการเรียนรู้วิถีชุมชน คนต้นน้ำ” เรื่อง “เมี่ยง” การเก็บใบเมี่ยง การมักเมี่ยง“ชา”การเก็บยอดชา การคั่วชา การนวดเพื่อทำตัวชา การอบใบชาแห้ง การคัดเกรด บรรจุหีบห่อ การชงชาและชิมชา “กาแฟ” แนวคิดการปลูกกาแฟในร่ม การเตรียมพื้นที่ การเก็บเกี่ยวผลกาแฟ การคัดเกรด A B C การคั่วกาแฟ ตลอดจนถึงการชงกาแฟ การทำขนมพื้นบ้าน น้ำผลไม้เคฟกูสเบอรรี่ การทำบายศรี ให้เราได้ร่วมเรียนรู้ไปกันอย่างสนุกสนาน คน น้ำ ป่า ชุมชนกลางขุนเขาเรื่องราวของป่าต้นน้ำ ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ที่อยู่ร่วมผืนป่าใหญ่ เป็นโรงเรียนห้องใหญ่ ให้เราได้ร่วมเรียนรู้องค์ความรู้มากมายที่รักษาไว้

การเดินทาง

จากตัวเมืองเชียงใหม่ 68 กม. ใช้เส้นทางหลวง 118 เชียงใหม่-เชียงราย ระหว่าง กมที่ 54-55 แยกซ้ายมือเข้าบ้านขุนลาว ไปยังบ้านห้วยน้ำกืน ระยะทางประมาณ 14 กม. เป็นทางคอนกรีตสลับทางดินลูกรังเป็นระยะ (ในฤดูฝนการเดินทางค่อนข้างลำบาก)

ขอบคุณ : สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง,กระทิงแดง สปิริต

ร่วมแสดงความคิดเห็น