เร่งออกแบบเมือง ก่อนเชียงใหม่จะลั้นลากว่าที่เป็น

แนวคิดการออกแบบเมืองโบราณที่มีอายุร่วม722 ปีอย่างเชียงใหม่ ให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับความร่วมสมัยของเมืองที่เผชิญความเชี่ยวกรากด้านทุนธุรกิจที่มุ่งทุบทำลายคุณค่าของเมืองโดยเล็งมูลค่าเป็นที่ตั้งประเด็นดังกล่าวมีข้อถกเถียง เปิดเวทีประชาพิจารณ์หาทางออกมานานหลายสิบปี ที่เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างก็คือ ความพยายามผลักดันเชียงใหม่ สู่ความเป็นเมืองมรดกโลก ด้วยคาดหวังว่า หากได้ตีตรา ปัญหาบุกรุกทำลายกระแสร่วมอนุรักษ์คุณค่าเมืองคงโชติช่วงขึ้นบ้าง

มีงานศึกษาวิจัย แนวทางออกแบบเมือง ผ่านกระบวนการศึกษา หาข้อมูล เกณฑ์องค์ประกอบ ปัจจัยแวดล้อม ความน่าจะเป็นไปได้ตามบริบทสังคม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ หลายสูตร ยกตัวอย่าง การจัดวางและออกแบบผังเมืองอุตสาหกรรมพื้นถิ่น มีการชูเมืองสันกำแพง เชียงใหม่ ไปจับคู่ ดึงศักยภาพ ทิศทางการออกแบบในบริบทคล้ายเมืองโออิตะ ของญี่ปุ่น คำตอบ ผลที่ได้คงรับรู้กันบ้างแล้ว

ตำแหน่งเมืองที่จะออกแบบต้องเด่นชัดว่าจะมุ่งสู่แนวคิดใดไม่ว่าจะเมืองปรับตัว เป็นเมืองแห่งอนาคตที่ยืดหยุ่นได้ตามภาวะเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ต้นทุนเมืองที่มี เมืองนิเวศน์,เมืองสร้างสรรค์, เมืองฉลาด,เมืองพอเพียง,เมืองศูนย์ราชการ,เมืองการศึกษา,เมืองโบราณ,เมืองท่องเที่ยว,เมืองศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง เป็นต้น หากศึกษาแผนยุทธศาสตร์พัฒนาแต่ละฉบับจะพบเห็นบทสรุปหลากหลาย

อย่างไรก็ตามกระบวนทัศน์การออกแบบชุมชนเมืองหรือเชียงใหม่ทั้งจังหวัดใน 25 อำเภอ ได้หยิบยก จุดเด่น จุดแข็ง สกัดจุดด้อยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน บนรากฐานทฤษฎี ประสบการณ์ที่ผ่านๆมา เป็นบทเรียนสู่การปรับรูปแบบ การออกแบบชุมชนเมืองที่มีความเหมาะสมในแต่ละภูมิสังคม เชียงใหม่ไม่ได้มีความยากลำบากหรืออุปสรรคใดๆมาขวางกั้น รูปแบบที่ควรเป็นไปกับการออกแบบเมืองที่เติบโตก้าวสู่ความเป็นเมืองใหญ่ เป็นมหานครที่ผู้คนเข้ามาแสวงหาโอกาสจากต้นทุนที่มีอยู่ในเมืองโบราณแห่งนี้ไม่ขาดสาย

การพัฒนา ด้านสังคม โครงสร้างพื้นฐาน สอดประสานกับวิถีชุมชนดั้งเดิม แผนพัฒนาที่มีกรอบแนวทางเด่นชัด กลับกลายเป็นเมืองที่ประชากรต้องเร่งปรับตัว ดิ้นรนให้อยู่รอด อยู่ให้ได้ท่ามกลางเมืองร่วมสมัยดัชนีคุณลักษณะเมืองน่าอยู่ คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก 11 ประการ อาทิ เมืองที่มีกายภาพสิ่งแวดล้อมดี เมืองที่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชากร อย่างมีประสิทธิภาพ มีมรดกวัฒนธรรม วิถีชุมชนที่มีอัตลักษณ์

ปัญหาพื้นๆไม่ว่าจะขยะ น้ำเน่า รถติด ความเป็นอยู่ที่ไม่เหลื่อมล้ำ ขาดการมีส่วนร่วม วางอนาคตเมือง ทุกขั้นตอน และข้อเสนอจากกลุ่มสถาปนิกชุมชนเมืองที่กระตุ้น เร่งรัดการออกแบบเมือง ไม่ให้ยับไปกับปัญหาที่สั่งสมไว้ ชาวเชียงใหม่คงทราบคำตอบกันถ้วนหน้าว่าเป็นไปได้ในทางปฏิบัติหรือเป็นเพียงนโยบายและทฤษฎีที่ต้องรู้ว่า ถ้าไม่ลงมือทำผลลัพท์จะเป็นเช่นไร ในรุ่นต่อๆไปที่ต้องลุ้นกันตามยถากรรม

ร่วมแสดงความคิดเห็น