เมืองมรดกโลก ถึงเชียงใหม่ไม่ได้ก็กำไรทุกมิติ

หากติดตามความคืบหน้า หรือจะใช้คำว่า ” ความก้าวหน้า ของการผลักดัน เชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก”ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่คาดหวังกับเป้าหมายดังกล่าว ตั้งแต่ได้รับรองและบรรจุชื่อสู่ ขั้นตอนเตรียมประกาศเป็นมรดกโลก ของยูเนสโก้ เมื่อกพ. 2558 แต่เสียงสะท้อนจากผู้คนบางกลุ่ม ยังตั้งคำถามตามมาว่า เป็นแล้วได้อะไร ซึ่งคณะทำงานโครงการนี้ได้ชี้แจงรายละเอียดในทุกๆด้านของการเตรียมนำเสนอเอกสารฉบับสมบูรณ์ช่วง กพ.ปี2562 และที่น่าชื่นชมคือผู้มีส่วนร่วมในแผน ย้ำชัดว่าจะดีกว่าไหม” ถ้าเราลงมือทำเสียตั้งแต่วันนี้ ดีกว่าจะปล่อยให้เชียงใหม่ทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่ง ถึงรู้สึกตัวว่าสายไปเสียแล้ว หากทุกคนช่วยกันอย่างจริงจังต่อให้ไม่ได้เป็นมรดกโลก …ก็กำไรแล้ว “

เอกสารข้อเสนอเชียงใหม่มรดกโลกฉบับล่าสุดสรุปว่าได้เสนอพื้นที่มรดกดอยสุเทพ 32.37 ตร.กม.พื้นที่มรดกเมืองเก่าเชียงใหม่ 5.30 ตร.กม. พื้นกันชน ล้อมรอบดอยสุเทพ-ปุย และเมืองเก่าเชียงใหม่165.84ตร.กม. ตั้งแต่พื้นที่ป่าบนดอยปุย-ดอยสุเทพ จรดเขตผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ (ถ.ซุปเปอร์ไฮเวย์-วงแหวนรอบที่ 1) โครงการเชียงใหม่สู่มรดกโลกดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งปีพ.ศ. 2559จนถึงปัจจุบัน การเลือกเมืองเก่าเชียงใหม่เป็นพื้นที่หลัก เพราะประเด็นผังเมืองมีโอกาสจะทำให้ได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลก ปัญหาอยู่ที่ การมีส่วนร่วมของชาวเมืองที่ต้องปรับแนวคิด ทัศนคติ และลงมือฟื้นฟูความสง่างามของเชียงใหม่ ให้ฟื้นคืนมา

เรื่องเหล่านี้ คณะทำงาน ดำเนินการเพียงกลุ่มเดียวไม่ได้ จากเหตุผลที่เชียงใหม่มีคุณค่าควรยกย่องและบำรุงรักษาให้เป็นมรดกโลก ตามเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก ซึ่งนำเสนอคือ
เมืองเชียงใหม่ เป็นประจักษ์พยานหนึ่งเดียว ของการก่อตั้งเมือง และสร้างสรรค์เมืองภายใต้แนวคิดสร้างพันธมิตรระหว่างกษัตริย์ 3 พระองค์ เพื่อตั้งรับการแผ่อำนาจของมองโกล
มีความโดดเด่น และสะท้อนพัฒนาการสูงสุดของรัฐในหุบเขาของชาติพันธุ์ไต สะท้อนแนวคิดเมืองที่มีชีวิต ผ่านการสืบต่อและส่งทอดวิถีวัฒนธรรม และจิตวิญญาณของความเป็นเมือง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ผ่านการหลอมรวมความเชื่อ ผี พุทธ และพราหมณ์

โดยคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าว สะท้อนผ่านองค์ประกอบสำคัญของเมือง 3 ประการ คือ
1.โครงสร้างของการออกแบบผังเมือง อันได้แก่ แนวคิดของการสร้างเมือง การจัดวางองค์ประกอบเมือง ทิศทาง ตำแหน่ง แนวแกน ถนน และความเชื่อมต่อของเมืองที่สัมพันธ์กับองค์ประกอบทางธรรมชาติ เช่น ดอย สุเทพ พื้นที่ราบเชิงเขา พื้นที่ลุ่ม แหล่งน้ำ และแม่น้ำปิง
2.อาคาร สถาปัตยกรรม และองค์ประกอบของสถาปัตยกรรม ที่สะท้อน แนวคิดของการสร้างเมือง ทั้งป้อม ประตู คูเมือง เสาหลักเมือง วัด อาคาร แหล่งโบราณสถาน ที่สะท้อนแนวคิดการสร้างเมือง และ ไม้หมายเมือง
3.วัฒนธรรม ระบบความเชื่อ ประเพณี และจารีต ของผู้คนที่ทำให้เมือง ยังคงความสืบเนื่อง และมีชีวิต

อย่างไรก็ตาม หากมองความเป็นไปของเมืองที่พุ่งทยานไปกับดัชนีทางเศรษฐกิจ ด้วยทุนทรัพยากรของเมืองที่เน้นธุรกิจบริการและภาคท่องเที่ยว ความสุข ความมั่งคั่งของเมืองกับคุณค่าที่มีอยู่ ทั้งศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตที่งดงาม ความสง่างามของเมือง อดีตที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นต้นทุนสู่โอกาสภาคเศรษฐกิจ ไม่ย่อยยับ สูญหายไปจนเชียงใหม่ ไม่เหลืออะไร คงไม่ต้องตั้งคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไร เชียงใหม่จึงจะได้เป็นมรดกโลก เพราะขอเพียงมีส่วนร่วม มีจิตสำนึกหวงแหน ดูแลรักษาความทรงคุณค่าของเมืองที่มีอยู่ ก็คือสิ่งที่วิเศษสุดแล้ว

ร่วมแสดงความคิดเห็น