เที่ยวดอยป่าแป๋ ชมวิถีชนคนปกาเกอญอลำพูน

บ้านปกาเกอญอ ป่าแป๋ลำพูนตั้งอยู่ท่ามกลางป่าไม้ มีหุบเขาล้อมรอบบนความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,300 เมตร และมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี หมู่บ้านแห่งนี้มีประวัติความเป็นมากว่า 200 ปี โดยผู้ที่มาอยู่ลงหลักปักฐานเริ่มแรกชื่อ พือนกเอี้ยง (พือ แปลว่า ปู่,ตา) ซึ่งแต่เดิมเป็นคนบ้านแม่ลี้ จ.แม่ฮ่องสอน ภายกลังแต่งงานมีครอบครัวที่ อ.อมก๋อย จเชียงใหม่ ต่อมาได้ย้ายครอบครัว และชวนเพื่อนบ้านอีก2 ครอบครัวมาอยู่ที่ดอยป่าแป๋(กะซอโข่ะ)แห่งนี้ด้วยกัน คือ ครอบครัวของพือกู่ดาและครอบครัวของพือเดาะป๊อก

หลังจากนั้นไม่นานก็มีเพื่อนๆจากบ้านกู่แพะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และจากที่อื่นๆย้ายเข้ามาอาศัยวิถีชีวิตความเป็นอยู่บนดอยในสมัยนั้น สงบและอุดมด้วยสัตว์ป่า เช่น หมูป่าเก้ง กวาง กระทิง หมี เสือ เป็นต้น ภายหลังถูกล่ามากขึ้นจึงได้ค่อยๆหมดไปเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง

ปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้มีบ้านทั้งหมด 68 หลังคาเรือน จำนวนประชากร 230 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกข้าวนา ข้าวไร่ และปลูกกาแฟพันธุ์อราบิก้า เดินรอยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ และมีความเป็นอยู่เรียบง่าย

สำหรับการปลูกกาแฟของดอยป่าแป๋ จะปลูกสลับกับต้นไม้ในป่าที่สมบูรณ์ ทั้งธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับต้นกาแฟ จึงทำให้ไม่เห็นต้นกาแฟปลูกเป็นแถวเรียงสวยๆ การให้ปุ๋ยที่เป็นอาหารเสริมของต้นกาแฟบ้านป่าแป๋ จะใช้ปุ๋ยคอก มูลสัตว์ และปุ๋ยหมักในการดูแลต้นกาแฟ จึงมั่นใจได้ว่ากาแฟของบ้านป่าแป๋นั้นปลอดภัยจากสารเคมี และได้คุณภาพ

บ้านป่าแป๋ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวในฐานะของหมู่บ้านปกาเกอญอที่มีวิถีชีวิตดั่งเดิม เรียบง่าย นักเดินทางหลายต่อหลายคนเล่าบอกต่อกันว่า หากจะไปท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติอันบริสุทธิ์กับวิถีชนคนบนดอยแล้วละก็ ต้องมาเยือนบ้านป่าแป๋

ปัจจุบันหมู่บ้านป่าแป๋ยังไม่ได้เปิดให้คนภายนอกเข้ามาเที่ยวชม ทว่านักท่องเที่ยวท่านใดที่สนใจจะต้องติดต่อที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน การเดินทางไปยังหมู่บ้านป่าแป๋ค่อนข้างลำบากเนื่องจากอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 1,300 เมตร เส้นทางขึ้นเป็นภูเขาสูงชันและบางช่วง
ยังแคบ ดังนั้นการเดินทางขึ้นบ้านป่าแป๋จะต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ส่วนกิจกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมได้แก่ เที่ยวชมไร่กาแฟ ชมการสาธิตการผลิตกาแฟ เที่ยวชมวิถีชีวิตของชาวปกาเกอญอ การทอผ้า การทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเดินทางขึ้นไปเที่ยวได้ตั้งแต่ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เดือนมีนาคม อันเป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลิตผลกาแฟ โดยกาแฟบ้านป่าแป๋ได้ชื่อว่ามีรสชาติดีที่สุดไม่แพ้กาแฟจากที่อื่น เนื่องจากมีกลิ่นของน้ำผึ้งป่าผสม โดยหมู่บ้านป่าแป๋ได้จัดตั้งเป็นกลุ่มกาแฟวิสาหกิจชุมชน

หากขึ้นมาเที่ยวหมู่บ้านป่าแป๋แล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม อีกแห่งนี้ได้แก่ ดอยช้าง ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ใกล้ๆบ้านป่าแป๋ นับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองลำพูน ตั้งอยู่ที่ อ.บ้านโฮ่ง โดยอยู่ในพื้นที่ดูแลของชุมชนปกาเกอญอ บ้านป่าแป๋ ดอยป่าแป๋(ดอยจ๊ะโข่)ลำพูน การเดินทางค่อนข้างลำบาก เพราะเป็นพื้นที่ป่า ที่มีความสูงชันและมีซับซ้อน ต้องอาศัยเจ้าของพื้นที่พาไปเท่านั้น

สำหรับดอยช้างแห่งนี้ เป็นจุดชมวิวที่สวยงามมากๆ หากมาตอนเช้า สามารถนั่งชมพระอาทิตย์ขึ้น และอาจได้เห็นทะเลหมอกเป็นของแถม ดอยช้างถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนบ้านป่าแป๋ ที่ได้รับการเล่าขานจากบรรพบุรุษ ชาวปกาเกอะญอบ้านป่าแป๋ให้ความเคารพสถานที่แห่งนี้อย่างมาก และมีกฏระเบียบปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มีพื้นที่ต้องห้าม ที่ห้ามมิให้สุภาพสตรีขึ้น และห้ามขึ้นมาตั้งเต้นท์ค้างคืนโดยเด็ดขาด

แต่ปัจจุบันก็ยังมีการฝ่าฝืนให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรืออาจจะมีคนในพื้นที่พามาก็ตาม หากแต่กฏที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ลงมตินั้นคือ ห้ามมิให้ขึ้นมาค้างคืน เพราะเคยมีหลายๆครั้งที่เมื่อนักท่องเที่ยวขึ้นมาค้างคืนแล้วส่งเสียงดังรบกวน การก่อกองไฟ การทิ้งขยะเกลื่อนกลาด ในฐานะนักท่องเที่ยวที่ดี เราควรฟังเสียงส่วนใหญ่ของชาวบ้าน อย่าขึ้นไปนอนค้างคืนบนดอยช้างกันเลยดีกว่า หรือหากต้องการค้างคืนจริงๆ แนะนำให้ติดต่อชาวบ้านขอค้างคืนที่บ้านของชาวบ้าน แล้วค่อยตื่นเช้าไปชมพระอาทิตย์ขึ้น

และหากต้องการขึ้นไปชมวิวสวยๆ บนดอยช้างนักท่องเที่ยวควรติดต่อกับชาวปกาเกอญอบ้านป่าแป๋โดยตรง ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ เพราะพวกเขาทำหน้าที่ดูแลรักษา สถานที่แห่งนี้มาหลายช่วงอายุ จนทำให้สถานที่แห่งนี้ยังคงสภาพสวยงามมาจนถึงทุกวันนี้และเมื่อไปถึง ควรปฏิบัติตามกฏระเบียบอย่างเคร่งครัดอย่าส่งเสียงดัง อย่าพูดคำหยาบ อย่าทิ้งขยะ อย่าเก็บก้อนหินหรือสิ่งใดๆลงมานอกจากภาพถ่ายและความประทับใจเท่านั้น ช่วยกันทำให้ดอยช้างแห่งนี้ ยังคงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสวยงามคู่บ้านคู่เมืองลำพูนสืบต่อไป

ภาพประกอบจาก : เพทลำพูนเมืองต้องห้าม

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น