โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมกับ โรงเรียนมัธยมเทนริ ประเทศญี่ปุ่น

วันที่17 ธันวาคม 2561 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมระหว่างโรงเรียนมัธยมเทนริ ประเทศญี่ปุ่นและโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ประเทศไทย โดยมีนายบุญเสริญ สุริยา ผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวต้อนรับ ผู้บริหารคณะครูและนักเรียน โรงเรียนมัธยมเทนริ ประเทศญี่ปุ่น ณ.ห้องโสตอาคาร4 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

นายบุญเสริญ สุริยา ผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้ต้อนรับผู้บริหารคณะครูและนักเรียน โรงเรียนมัธยมเทนริ ประเทศญี่ปุ่น กับโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยประเทศไทยในวันนี้ โดยโรงเรียนมัธยมเทนริและโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยได้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 จนถึงปัจจุบันในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 7

กิจกรรมแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้เป็นพลเมืองโลก แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนครูและนักเรียนและเพื่อช่วยเหลือวัฒนธรรมไทย – ญี่ปุ่นนับเป็นความโชคดีของผู้เรียนทั้งสองสถาบันที่ได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจากเจ้าของภาษา ซึ่งจากความเชื่อมโยงดังกล่าว

คณะของเราจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ได้รับเกียรติจากโรงเรียนมัธยมเทนริ ที่ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นในการไปทัศนศึกษา ณ โรงเรียนมัธยมเทนริ เมื่อวันที่ 11 – 21 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา และในวันนี้เป็นวันที่พวกเราคณะครูและนักเรียนโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยได้รอคอยที่จะให้การต้อนรับท่านผู้บริหาร คณะครู และนักเรียนโรงเรียนมัธยมเทนริด้วยความยินดียิ่ง ด้วยกิจกรรมเรียนรู้ภาษาไทย กิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมไทย ประกอบด้วย การแสดงวัฒนธรรมไทย การตัดตุง และ การทำขนมไทย

นายทาเคโมริ ฮิโรชิ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมเทนริประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า การมาทัศนศึกษาที่ประเทศไทยในปีนี้ เป็นครั้งที่15ซึ่งการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมกับโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยนั่นเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การมาเยือนโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในครั้งนี้ได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นจากท่านผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการและคณะครูอาจารย์ที่เกี่ยวข้องทุกคน

ซึ่งโครงการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมระหว่างโรงเรียนมัธยมศึกษาเทริกับโรงเรียนในประเทศไทยจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ชิมิซุ อะคิระ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นางผกาพรรณ พรหมมานุวัติ รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนคุณครูพัชรินทร์ อู่ทอง คุณครูสุรกานต์ ชุ่มวารี และนักเรียนจำนวน 18 คน ได้ไปเยี่ยมเยือนที่โรงเรียนมัธยมศึกษาเทนริของเรา ทั้งนี้การได้มาเจอกันอีกครั้งที่นี่ จึงคิดว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง

อนึ่งประเทศญี่ปุ่นกับจังหวัดเชียงใหม่มีระยะทางห่างถึง 4,400 กม. คณะของผมเดินทางมาจากเมืองเทนริ จังหวัดนารา ซึ่งมีที่ตั้งอยู่กึ่งกลางประเทศญี่ปุ่น มีประชาชนประมาณ 66,000 คน และเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องของสุสานทหารโบราณ ในใจกลางเมืองนั้น มีโบสถ์ขนาดใหญ่ของศาสนาเทนริอยู่มากมายจนศาสนากลายเป้นหนึ่งเดียวกับชีวิตประจำวัน

โรงเรียนมัธยมศึกษาเทนริ ประกอบด้วย โบสถ์ขนาดใหญ่ของศาสนาเทนริที่เป็นศูนย์กลางสถานศึกษาที่มีตั้งแต่โรงเรียนอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเทนริ ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1908 และปีนี้เป็นปีครบรอบ 110 ปี ซึ่งมีประวัติศาสตร์และขนมธรรมเนียมประเพณีที่เราภาคภูมิใจ มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 1,230 คน และบุคลากรทางการศึกษาประมาณ 100 คน

นโยบายการเรียนการสอนของโรงเรียนของเรา สอดคล้องกับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศอีกทั้งยังมีจุดประสงค์หลักที่จะปลูกฝัง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความสามัคคีที่ยึดตามหลักธรรมคำสอนของศาสนาเทนริอีกด้วย

ด้านนายสาธิต คำหน่อแก้ว กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวว่า ในนามของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ขอต้อนรับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนมัธยมเทนริ ในกิจกรรมการแลกเปลี่ยนด้านภาษาวัฒนธรรมระหว่างโรงเรียนมัธยมเทนริ ประเทศญี่ปุ่น กับโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยประเทศไทย ในวันนี้ด้วยความยินดียิ่ง

ตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมานั้นโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยได้น้อมนำพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเป็นข้อคิดแก่สถานศึกษาในพระองค์ ไว้ว่า “ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้น คือเยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์ สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี” มาเป็นหลักในการจัดการเรียนรู้ส่งผลให้โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนยอดนิยมและมีอัตราการแข่งขันสูง

“กิจกรรมแลกเปลี่ยนการศึกษาและวัฒนธรรม” ครั้งที่ 7 เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทางโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยส่งเสริม สนับสนุน ให้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ข กลุ่มการเรียนอังกฤษ – ญี่ปุ่น จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้เป็นพลเมืองโลกเพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนระหว่างครูและนักเรียน เพื่อช่วยเหลือในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย – ญี่ปุ่น

นับเป็นความโชคดีของผู้เรียนทั้งสองสถาบันจะได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจากเจ้าของภาษา อีกทั้งการมีโอกาสแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆอันจะส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายมีเจตคติที่ดี มีการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาได้อย่างรวดเร็วสามารถใช้ภาษาในการสื่อสารได้ รู้จักคิด พัฒนาการคิดจากประสบการณ์ที่ได้รับและนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสม เกิดเครือข่ายการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น