ตำนานการปลูกฝิ่นแห่งสามเหลี่ยมทองคำที่พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น เชียงแสน

พื้นแผ่นดินช่วงรอยต่อระหว่างดินแดนประเทศไทย ลาวและพม่าที่เรียกว่า สามเหลี่ยมทองคำ ยังคงเป็นดินแดนแห่งปริศนาที่ว่ากันว่าเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เรื่องราวของฝิ่นถือกำเนิดขึ้นเมื่อราว 356 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นผู้นำฝิ่นเข้ามาเผยแพร่ในแถบประเทศอินเดียกระทั่งฝิ่นแพร่ขยายเข้าสู่จีน ซึ่งในประเทศจีนนี้เองอังกฤษเป็นผู้มีผลประโยชน์มหาศาลจากการผูกขาดการค้าฝิ่นให้ชาวจีน

จนกระทั่งเกิดการขัดแย้งกับรัฐบาลจีนเมื่อปีค.ศ. 1839และจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อชาวเขาหลายเผ่าจากประเทศจีนได้อพยพลงมาอาศัยอยู่ทางตอนใต้ตามเทือกเขาและแถบชายแดนประเทศไทย ลาวและพม่า พร้อมกับนำต้นฝิ่นมาแพร่พันธุ์ ฝิ่นจึงเริ่มเข้าสู่ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำและเริ่มแพร่หลายตั้งแต่นั้นมา

ตำนานฝิ่นที่เล่าขานในหมู่ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ นั้นมักมีเค้าเรื่องคล้ายคลึงกันคือ กล่าวว่าแต่ก่อนนานมาแล้วมีแม่เฒ่าคนหนึ่งอายุยืนมาก แต่ตายลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ก่อนตายแม่เฒ่าสั่งไว้ว่าให้เอาศพไปฝังไว้ที่บริเวณสามแยกที่มีคนเดินผ่านไปมา จากนั้นก็ปรากฏว่ามีต้นไม้งอกขึ้นมา 2 ต้นคือต้นยาสูบงอกขึ้นมาที่นม ส่วนต้นฝิ่นงอกขึ้นมาที่บริเวณอวัยวะเพศ ชาวบ้านผ่านไปมาเห็นต้นไม้แปลกประหลาดก็ลองเด็ดชิมดู ปรากฏว่าชาวบ้านชอบต้นยาสูบมากกว่าฝิ่น เนื่องจากต้นยาสูบเกิดจากนม ดังนั้นเด็ก ๆ พอหย่านมก็เลยดูดยาสูบแทนในทางชีววิทยา

ต้นฝิ่นถือว่าเป็นพืชพื้นเมืองที่ขึ้นได้ดีในแทบเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนใครจะเป็นคนค้นพบคนแรกนั้นไม่ปรากฏหลักฐาน แต่จากเรื่องราวในวรรณคดีและหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า มนุษย์รู้จักใช้ฝิ่นมาตั้งแต่กว่า 1,000 ปีก่อนคริสตกาล (สันนิษฐานว่ามีอายุ 3,000 ปีเริ่มที่เกาะไซปรัส) ฝิ่นถูกนำมาใช้ทางการแพทย์และพื่อการผ่อนคลายอารมณ์มาเป็นเวลานานหลายทศวรรษแล้ว นอกจากนั้นฝิ่นยังใช้ในการรักษาอาการทางประสาท ระงับอาการไอ ท้องร่วง และบรรเทาความเจ็บปวดอย่างรุงแรง นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

มอร์ฟีน ซึ่งได้จากฝิ่นสกัดก็ถูกนำมากลั่นให้บริสุทธิ์ละลายน้ำได้ง่าย ประกอบกับเริ่มมีเข็มฉีดยา จึงทำให้มีการฉีดสารละลายมอร์ฟีนเป็นจำนวนมาก เรื่องราวของดินแดนสามเหลี่ยมทองคำที่ในอดีตมีการปลูกฝิ่น ดินแดนแห่งนี้อยู่ในบริเวณผืนดินที่งอกออกมากลางแม่น้ำโขงในรอยต่อระหว่าง 3 ประเทศคือประเทศไทยที่บ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ประเทศพม่าที่บ้านผักฮี้ อำเภอท่าขี้เหล็กจังหวัดเชียงตุงและประเทศลาวที่บ้านกว๊าน แขวงบ่อแก้ว การซื้อขายฝิ่นในสมัยก่อนนั้นมีราคาแพงมาก จนฝิ่นได้ฉายาว่า ทองดำ หรือ Black Gold แต่เดิมการซื้อขายมักใช้ทองคำเป็นตัวแลกเปลี่ยน ดังนั้นบริเวณสามเหลี่ยมทองคำจึงมีทองคำแพร่หลาย เนื่องจากการค้าขายฝิ่นมักจะมีหักหลังกันบ่อย ๆ การซื้อขายแลกเปลี่ยนจึงต้องมีการผ่าพิสูจน์ทั้งท่อนฝิ่นและก้อนทองคำ อันเป็นที่มาของชื่อ สามเหลี่ยมทองคำ

นอกจากนั้นฝิ่นยังถูกนำมาเกี่ยวโยงกับการค้าขายของขบวนการชื่อก้องโลก ขุนส่า หรือ จางซีฟู ถือเป็นผู้มีอิทธิพลในการค้าฝิ่นมากที่สุดในโลก ขุนส่าเป็นลูกของเลาจาง หรือ ขุนสาม ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากจีนฮ่อ ส่วนแม่ชื่อนางคำ เป็นชาวไทใหญ่ ในอดีตขุนส่าเคยเป็นหัวหน้าหน่วย “ก่าก่วยแย” หรือที่รู้จักในชื่อ หน่วยปราบปรามพวกไตกู้ชาติ และยังเคยเป็นหน่วยสืบราชการลับของพม่าจนกระทั่งได้รับยศ พันเอก ปีพ.ศ. 2509 ขุนส่าถูกจับที่เมืองตองยีและถูกขังเป็นเวลานานถึง 7 ปี ก่อนจะถูกเพื่อนสนิทที่ชื่อ จางซูเฉียนหรือ ฟ้าหลั่น ได้วางแผนจับตัว
นายแพทย์ชาวรัสเซีย 2 คนเพื่อแลกกับอิสรภาพ ขุนส่าจึงออกมาเข้าร่วมขบวนการกู้ชาติไตได้อีก โดยได้ประกาศต่อหน้าสาธารณชนว่า  “ถ้าข้าพเจ้าได้ประเทศฉานคืนมา จะทำให้คน 8 ล้านคนของข้าพเจ้ามีความสุข แต่ถ้าข้าพเจ้าสามารถระงับปัญหายาเสพติดได้จะทำให้คนทั้งโลกมีความสุข”

ปัจจุบันเรื่องราวของการปลูกฝิ่นในดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ ได้กลายเป็นอดีตอันขมขื่นไปแล้ว พื้นที่แห่งนี้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นโรงแรมชื่อดังขนาดมหึมา ที่นักการเมืองหลายคนของไทยได้เข้าไปมีหุ้นส่วนในโรงแรมดังกล่าว ภายในถูกตกแต่งให้เป็นสถานที่เล่นการพนัน
ที่ครบวงจร มีนักแสวงโชคเดินทางมาเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีคลับเฮาส์ไว้บริการแก่สมาชิกอีกด้วย

ตำนานและเรื่องราวของการปลูกฝิ่นยังไม่สิ้นสุดลงเมื่อคุณพัชรี ศรีมัธยกุล ได้เก็บรวบรวมเครื่องมือที่เกี่ยวกับฝิ่นตั้งแต่อดีตหาดูได้ยากนำมาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น ภายในจัดแสดงตั้งแต่ประวัติของการปลูกฝิ่นและมีอุปกรณ์เกี่ยวกับการปลูกและสูบฝิ่นจำนวนมาก เรียกว่าได้รับความสนใจทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์เดียวที่จัดแสดงเรื่องราวของฝิ่นได้ครบถ้วนทุกกระบวนความ

สำหรับท่านที่สนใจสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น ตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เปิดบริการให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 07.00-16.30 น.

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น