ปฏิรูปเชียงใหม่ จาก “นพบุรีศรีนครพิงค์” สู่ “มณฑลพายัพ”

ในอดีตรัฐไทยนั้นยังมีลักษณะเป็น “รัฐแสงเทียน” ที่ไม่มีเส้นเขตแดน หรือข้อตกลงที่ชัดเจนในการปกครองอย่างปัจจุบันที่จะขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง ซึ่งทำให้รัฐไทยในอดีตมีความยุ่งยากในการควบคุมเมืองที่ห่างไกลจากเมืองหลวงที่เป็นประเทศราชอย่างเมือง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” จึงได้มีการรวบรวมเป็นมณฑลของอาณาจักรสยามให้มีความมั่นคงในการรักษาอำนาจอธิปไตยของสยามในดินแดนนี้มากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และการเปลี่ยนจาก “รัฐจารีต” สู่การเป็น “ประเทศ”

ฉะนั้น “เชียงใหม่นิวส์” ขอนำเรื่องราวในอดีตให้ผู้อ่านได้ทราบถึงเหตุการณ์การปฏิรูปประเทศก่อนที่จะเป็นจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบันนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่
คนแรกที่สยามส่งมาปกครองมณฑลพายัพ

นับตั้งแต่ “เชียงใหม่” ได้ตกเป็นประเทศราชของไทยในพ.ศ.2317 จนถึงช่วงก่อนการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 สถานการณ์โดยทั่วไปในเชียงใหม่นั้นไม่ได้สร้างปัญหาอย่างใดต่อรัฐบาลกลาง การเปลี่ยนแปลงในรูปที่รัฐบาลกลางต้องเข้าไปควบคุมกิจการภายในมากขึ้น จนในที่สุดก็ผนวกเอาเชียงใหม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของไทยในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคที่ได้เริ่มการพัฒนาประเทศตามชาติตะวันตก เช่น การพัฒนารถจักรไอน้ำ (รถไฟ) การเลิกทาส และการเปลี่ยนการปกครองประเทศให้เข้าสู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นต้น โดยมีการยกเลิกระบบการปกครองเมืองประเทศราชซึ่งเป็นระบบเมืองลูกหลวงแบบเก่า และจัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้นแทน มีข้าหลวงเทศาภิบาลที่รัฐบาลกรุงเทพฯส่งไปปกครอง และขึ้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย ระบบมณฑลเทศาภิบาลที่จัดตั้งขึ้นจึงเป็นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ ซึ่งมีอำนาจรวมศูนย์ที่ “องค์พระมหากษัตริย์”

ศาลาว่าการมณฑลพายัพ

ซึ่งสาเหตุของการปฏิรูปการปกครองนั้น เกิดจากปัญหา 2 ประการ อันมาจากการที่อังกฤษเข้าครอบครองดินแดนพม่าเป็นตัวแปรสำคัญ คือ ปัญหาเกี่ยวกับกิจการป่าไม้ และปัญหาความวุ่นวายในหัวเมืองชายแดน ดังนี้

1.“ปัญหาเกี่ยวกับกิจการป่า” แต่เดิมนั้นป่าไม้ทั้งหมดเป็นของเจ้าเมือง และเจ้านายบุตรหลาน ซึ่งมีการตัดไม้ขายแต่น้อย การขายมักจะอยู่ในรูปเจ้าของป่าอนุญาตให้ลูกหลานใช้บ่าวไพร่ตัดขายคราวละ 100-200 ต้น โดยไม่คิดเงินทอง ทว่าคนในบังคับของอังกฤษเข้ามาทำกิจการป่าไม้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และกิจการได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ป่าไม้จึงมีมูลค่ามหาศาล เกิดการแข่งขันกันเพื่อให้ได้ทำสัมปทานป่าไม้ ซึ่งเจ้าของป่าไม้ก็ให้สัมปทานซ้ำซ้อนในป่าเดียวกันเสมอ จึงเกิดเป็นกรณีพิพาทฟ้องร้องต่อกงสุลอังกฤษ และรัฐบาลไทยเป็นคดีความมากมาย

2.“ปัญหาความวุ่นวายในหัวเมืองชายแดน” ในบริเวณที่เรียกว่า “หัวเมืองเงี้ยวทั้งห้า” ประกอบด้วย เมืองหาง, เมืองสาด, เมืองต่วน, เมืองทา, และเมืองจวด (จวาด) เมืองเหล่านี้ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของ “แม่น้ำสาละวิน” และอยู่ระหว่างเขตแดนของเชียงใหม่กับพม่า เชียงใหม่ได้ “หัวเมืองเงี้ยวทั้งห้า” ในสมัย “พระยากาวิละ” ฟื้นฟูบ้านเมือง แต่ด้วยวิธีการปกครองเมืองขึ้นของเชียงใหม่ที่ปล่อยให้ปกครองตนเองอย่างอิสระ จึงมีฐานะเป็นเมืองขึ้นแต่เพียงในนามเท่านั้น นั่นทำให้เมื่ออังกฤษเข้าครอบครองพม่า บรรดาหัวเมืองชายแดนพม่าต่างพยายามแยกตัวเป็นอิสระมีการรบพุ่งกันเสมอ จึงมักจะล้ำแดนเข้ามาเกณฑ์ราษฎรในเขต “หัวเมืองเงี้ยวทั้งห้า” เสมอ ความวุ่นวายในหัวเมืองชายแดนจึงขยายวงกว้างยิ่งขึ้น เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมมีการปล้นฆ่าคนในบังคับอังกฤษที่ได้เข้ามาติดต่อค้าขายในล้านนาไทยด้วย

ข้าหลวงสยามที่ถูกส่งมาประจำมณฑลพายัพ

รัฐบาลไทยทำ “สัญญาเชียงใหม่ ฉบับแรก พ.ศ.2416” เพื่อที่จะจัดการป้องกันผู้ร้ายที่ปล้นสดมภ์ตามชายแดนเชียงใหม่ โดยเป็นการรักษาผลประโยชน์ของคนในบังคับอังกฤษ กับรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย “สนธิสัญญาเชียงใหม่” ฉบับนี้นับเป็นครั้งแรกที่อังกฤษยินยอมให้อำนาจทางการศาลแก่ไทยบ้าง แม้จะไม่สมบูรณ์นักก็ตาม อย่างไรก็ดีสนธิสัญญาฉบับนี้มีข้อบกพร่องหลายประการ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการป้องกันโจรผู้ร้ายตามบริเวณหัวเมืองชายแดน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่เกินกำลังที่เมืองเชียงใหม่จะจัดการให้เรียบร้อยได้ และด้านคดีความต้องส่งมาฟ้องร้องต่อกงศุลอังกฤษที่กรุงเทพฯ เสมอ

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจึงเกิดทำสนธิ “สัญญาเชียงใหม่ ฉบับที่สอง พ.ศ.2426” โดยขยายอำนาจศาลไทยให้มีอำนาจมากขึ้น คือกำหนดให้คนในบังคับอังกฤษต้องขึ้นศาลต่างประเทศทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญา ถือเป็นการยกเลิกสิทธิของคนในบังคับอังกฤษที่เคยได้รับตาม “สัญญาเชียงใหม่ฉบับแรก” ที่ว่า จะขึ้นศาลไทยต่อเมื่อตนเองยินยอม

จาก “สัญญาเชียงใหม่ฉบับที่สอง” ทำให้รัฐบาลไทยยินยอมให้รัฐบาลอังกฤษจัดตั้งกงศุลประจำเมืองเชียงใหม่ และจากการทำ “สัญญาเชียงใหม่” ที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของตะวันตกที่เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะอังกฤษมีผลประโยชน์ผูกพันอยู่เป็นอันมาก การปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพจึงเกิดขึ้นตั้งแต่พ.ศ.2427 เพื่อให้รัฐบาลไทยดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ได้ง่ายยิ่งขึ้น

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : www.topchiangmai.com
ภาพจาก : เพจ บ้านกันตะบุตร นครลำปาง และ www.th.wikipedia.org

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น