“แมคคอร์มิค” โรงพยาบาลแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่

ปัจจัย 4 ในชีวิตมนุษย์เรานั้นประกอบไปด้วย อาหาร อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ซึ่งหากมนุษย์ไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชียวชาญที่ให้ยารักษาโรคแก่เราแล้ว เป็นเรื่องยากที่จะมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาว การรักษาจึงมีความสำคัญอย่างมาก ในนโยบายสิทธิขั้นพื้นฐานของประเทศก็ได้ให้สิทธิในการเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลเช่นกัน จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโรงพยาบาลก็เป็นสถานที่มีความสำคัญมากๆ

“เชียงใหม่นิวส์” เชื่อว่าหลายๆคนในจังหวัดเชียงใหม่ต้องรู้จัก และเคยมาใช้บริการโรงพยาบาลแห่งนี้อย่างแน่นอน ซึ่งวันนี้เราจะนำเสนอถึงประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลที่ได้ชื่อว่า “โรงพยาบาลแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่” ว่าประวัติศาสตร์ของโรงพยาบาลที่เก่าแก่ที่สุดในเชียงใหม่นั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร และสำคัญมากเพียงใดต่อคนในอดีต

อาคารผู้ป่วยในอดีตของโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

สำหรับ “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” ถือเป็น “โรงพยาบาลแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่” เมื่อพ.ศ.2410 “ศาสตราจารย์ดานิเอล แมคกิลวารี” มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้เดินทางมาที่ภาคเหนือของประเทศไทยเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้พบผู้เจ็บป่วยมากมาย จึงแบ่งปันยารักษาโรคที่นำติดตัวมาแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านที่เจ็บป่วย พร้อมทั้งแนะนำความรู้ด้านสาธารณสุขแก่ชาวบ้านก่อนที่ “คณะเพรสไบทีเรียน” ได้ส่งแพทย์มิชชันนารีหลายท่านมาในพ.ศ.2415 ได้แก่ “นายแพทย์วรูแมน”, “นายแพทย์ชีค”, “นายแพทย์แครี่” ฯลฯ เพื่อให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วย โดย “ศาสตราจารย์แมคกิลวารี” ได้เปิดสถานจำหน่ายยาแผนปัจจุบันขึ้นบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “สถานีกาชาดจังหวัดเชียงใหม่” ในปัจจุบัน

นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท ขณะทำการรักษาผู้ป่วย

ถัดมาปีพ.ศ.2430 “คณะกรรมการกลางเพรสไบทีเรียน” ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติเงินจำนวน 10,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อก่อสร้าง “โรงพยาบาลที่จังหวัดเชียงใหม่” โดยปรับปรุงบริเวณสถานที่จำหน่ายยาดังกล่าวให้เป็นสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนด้วย โดยใช้ชื่อว่า “โรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น” ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของ “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” 

พ.ศ.2432 “นายแพทย์แมคเคน” แพทย์มิชชั่นนารีชาวอเมริกันได้เดินทางมาทำงานประจำที่โรงพยาบาล และในปี พ.ศ. 2451 “นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท” (Dr.Edwin Charles Cort) แพทย์มิชชั่นนารีผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” ได้เดินทางมาประจำที่โรงพยาบาลแห่งนี้ และนายแพทย์แมคเคนได้แยกไปสร้าง “นิคมโรคเรื้อนแมคเคน” (McKean Leprosy Asylum) ที่บริเวณเกาะกลาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนซึ่งมีเป็นจำนวนมาก

นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อเลี้ยงคอร์ท”

ในเวลานั้น “นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท” หรือที่ชาวบ้านเรียกขานว่า “พ่อเลี้ยงคอร์ท” ได้ทำงานพันธกิจการบำบัดรักษาโดยมีใจรักในการบริการ ทุ่มเทในการรักษาอย่างมาก จึงเป็นที่รักที่เคารพยกย่องนับถือของทุกคนในแถบนี้เป็นอย่างยิ่ง ทำให้มีผู้มารับการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก ทว่าโรงพยาบาลมีสถานที่ไม่เพียงพอ

หลังจาก “นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท” เดินทางกลับไปพักผ่อนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้มีโอกาสได้พบกับ “นางไซรัส แมคคอร์มิค” (Mrs.Cyrus McCormick) มหาเศรษฐีนีในวงการอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ซึ่งได้บริจาคเงินจำนวน 30,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ “นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท” จึงก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ขึ้นกลางผืนนาทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” ในปัจจุบัน และให้ชื่อโรงพยาบาลที่สร้างใหม่นี้ว่า “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” (McCormick Hospital) เพื่อเป็นเกียรติแก่ “นางไซรัส แมคคอร์มิค” โดย “พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงอดิศรอุดมเดช” เป็นผู้ทำพิธีวางศิลาหัวมุม (Corner Stone) เมื่อปี พ.ศ.2463 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปีนับว่าเป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยที่สุด และมีอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยจากสหรัฐอเมริกา เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ซึ่งมีจำนวนเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนได้ 100 เตียง

นาง ไซรัส แมคคอร์มิค ผู้สนับสนุนเงินทุนในการสร้างโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ปี พ.ศ.2485 ถึง พ.ศ.2489 รัฐบาลไทยได้เข้าควบคุมกิจการของโรงพยาบาลแมคคอร์มิค และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลเสรีเริงฤทธิ์” ใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม เมื่อสงครามโลกสงบลง รัฐบาลไทยจึงส่งมอบโรงพยาบาลคืนให้กับคณะมิชชั่นนารีดำเนินการต่อไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2489 และใช้ชื่อ “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” ดังเดิม

เนื่องจากทำงานอยู่ในแผ่นดินล้านนาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี ในปี พ.ศ.2492 “นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท” พร้อมทั้งครอบครัว จึงเกษียณอายุการทำงาน และเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา “คณะมิชชั่นนารีเพรสไบทีเรียน” จึงมอบ “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” และกิจการทั้งหมดให้แก่ “มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย” เป็นผู้ดูแลต่อนับแต่นั้นเป็นต้นมา “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” จึงอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของคนไทยมาจนปัจจุบัน

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลและภาพจาก : ประวัติการก่อตั้งโรงพยาบาลแมคคอร์มิค เว็บไซต์ www.mccormick.in.th

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น