เมียงแต้ๆ! เรื่องน่ารู้และประวัติความเป็นมาของชุดม่อฮ่อม

ชุดม่อฮ่อมของชาวล้านนา เป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยว หรือคนต่างถิ่นรู้ดีว่า เป็นเอกลักษณ์ของคนในภาคเหนือของประเทศไทย และมักจะแปลกใจว่า ทำไมนักเรียนในภาคเหนือจะต้องสวมใส่ชุดพื้นเมือง รวมทั้งสงสัยว่า มีที่มาอย่างไร และทำไมจึงต้องเรียกชุดเหล่านี้ว่า “ม่อฮ่อม” ซึ่งจริงๆ แล้วคนเมืองเหนือเองหลายคนอาจไม่รู้ว่า ชุดนี้มีที่มาอย่างไร

และโอกาสนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ด้หยิบยกประวัติความเป็นมาเรื่องชุดม่อฮ่อมขึ้นมา เพื่อให้ทราบถึงต้นตอ และความเป็นมาของ “ชุดม่อฮ่อม” ว่า มีที่มาจากแห่งใดกันแน่ ชุดม่อฮ่อมเป็นของชาวล้านนาเอง หรือว่า ได้รับมาจากชนเผ่าใด และเพื่อให้ทราบกระจ่างแจ้งเราจึงได้ยกความเป็นมาของชุดม่อฮ่อมอันโด่งดังมาให้ผู้อ่านได้กระจ่างแจ้ง ดังต่อไปนี้

ร้านขายเสื้อม่อฮ่อมในจังหวัดแพร่

ลักษณะของม่อฮ่อม


“ม่อฮ่อม” เป็นคำภาษาถิ่นล้านนา โดยแท้จริงมิได้หมายถึงเสื้อ แต่หมายถึงสีของเสื้อที่เป็นสีครามอมดำ ซึ่งเสื้อชนิดนี้ชายชาวภาคเหนือนิยมสวมใส่กันอย่างมาก ม่อฮ่อมมีลักษณะเป็นผ้าฝ้ายย้อมสีคราม ดำ คอกลม ผ่าอก แขนยาวหรือแขนสั้น มีทั้งแบบที่ใช้กระดุมกลัดและที่ใช้ผ้าเย็บเป็นเชือกผูก ในอดีตผ้าหม้อฮ่อมเป็นผ้าฝ้ายทอมือ ที่นำดอกฝ้ายขาวมาทำเป็นเส้นใยแล้วทอด้วยกี่พื้นเมืองเป็นผ้าพื้นสีขาว หลังจากนั้นจึงนำไปตัดเย็บให้เป็นเสื้อแบบต่างๆ กางเกงเตี่ยวสะตอ จากนั้นนำมาย้อมในน้ำฮ่อม ที่ได้จากการหมักต้นฮ่อมเอาไว้ในหม้อในปัจจุบันมีการทอผ้าด้วยกี่แบบพื้นเมืองน้อยลงทำให้ผ้าทอมีราคาแพง ในการตัดเย็บเสื้อผ้าหม้อฮ่อมจึงมีการใช้ผ้าดิบจากโรงงานตัดเย็บ ย้อมด้วยน้ำฮ่อมธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันเสื้อม่อฮ่อมได้พัฒนารูปแบบของเสื้อให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น และด้วยความที่เสื้อม่อฮ่อมนั้นสวมสบาย ทนทาน และราคาถูก จึงได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศ

ที่มาของม่อฮ่อม


“เสื้อม่อฮ่อม” เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่จังหวัดแพร่ มาจากชนเผ่าลาวพวนที่อพยพเข้าไปอยู่ที่อำเภอเมืองแพร่ และได้เย็บเสื้อผ้าฝ้ายย้อมสีครามดำออกจำหน่ายแก่คนงานและลูกจ้างทำป่าไม้ขึ้นก่อน ทว่า ได้มีคนซื้อมาสวมใส่กันแพร่หลาย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2496 “นายไกรศรี นิมมานเหมินท์” ได้จัดงานเลี้ยงอาหารแบบขันโตกเพื่อเป็นเกียรติแก่ “ฯพณฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์” และกงสุลอเมริกันขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้กำหนดให้ผู้มาร่วมงานสวมเสื้อผ้าฝ้ายคอกลม ย้อมสีคราม คาดผ้าขาวม้า หลังจากงานนี้จึงมีผู้นิยมใช้เสื้อม่อฮอมกันแพร่หลายยิ่งขึ้น คนทั่วไปจึงคิดว่า เป็นเสื้อประเพณีนิยมสำหรับชายชาวล้านนา

เสื้อม่อฮ่อมโดยทั่วไป

ในปัจจุบันแหล่งผลิตเสื้อผ้าหม้อฮ่อมอยู่ที่ “บ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่” เป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดประวัติของบ้านทุ่งโฮ้ง ตามคำบอกเล่าของคนแก่ในหมู่บ้าน เล่าว่า บ้านทุ่งโฮ้งเป็นหมู่บ้านของชาว “ไทพวน” ที่ถูกกวาดต้อน และอพยพมาจากแขวงเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อประมาณ พ.ศ.2340 – 2350 โดยคนกลุ่มแรกได้เดินทางมาถึงเมืองแพร่ และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกกำแพงเมืองแพร่ ทางทิศเหนือด้านประตูเลี้ยงมา ต่อมาจึงได้ย้ายจากที่เดิม มาตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่บริเวณที่เป็นที่ตั้ง “บ้านทุ่งโฮ้งใต้” ในปัจจุบัน และอยู่กันเรื่อยมาจนประมาณ พ.ศ.2360 – 2380 จึงมีกลุ่มไทยพวนกลุ่มใหม่อพยพเข้ามาและตั้งหมู่บ้านห่างจากเดิมประมาณ 200 เมตร เป็น “หมู่บ้านทุ่งโฮ้งเหนือ” ในปัจจุบัน

ลักษณะชุดม่อฮ่อมในอดีต

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : www.homhuanmohom.com และ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เว็บไซต์ www.royin.go.th
รูปภาพจาก : www.siammorhom.com และ www.thainorthtour.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น