แม่โจ้โพลล์ชี้ คนไทยเห็นด้วย นำกัญชามาเป็นยา ช่วยลดต้นทุนนำเข้ายานอก

กัญชา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis Indica เป็นพืชล้มลุกเช่นเดียวกับพืชจำพวกหญ้า มีขนาดลำต้นสูงประมาณ 2-5 เมตร ลักษณะของใบจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 5-8 แฉก ทุกแฉกจะมีรอยหยักเป็นเอกลักษณ์ มีดอกออกเป็นช่อเล็กๆ ตามกิ่งและก้านของต้น กัญชามีสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท จากตามตำราแพทย์แผนไทยโบราณในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการนำกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบของตัวยาในการรักษาโรคหลายชนิด (The Office of Protection wisdom medicine of Thailand, 2012) และในปัจจุบันมีการค้นพบข้อมูลทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่า สารจากกัญชาสามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคได้ ซึ่งให้ผลดีต่อผู้ที่มีความผิดปกติของเมตาโบลิซึม ผู้ป่วยเบาหวาน โรคลําไส้อักเสบในระบบทางเดินอาหาร และโรคมะเร็ง 

ทั้งนี้ มีการเรียกร้องเพิ่มมากขึ้น ให้รับรองการใช้ประโยชน์จากกัญชา ในด้านการบำบัดรักษาโรคตามกฎหมายหรือเรียกว่ากัญชาการแพทย์ กัญชาสามารถช่วยบรรเทาอาการในคนไข้บางรายซึ่งมีปัญหายากในการควบคุมรักษา รวมถึงโรคกล้ามเนื้อแข็งตัวชนิดต่างๆ ซึ่งในหลายประเทศมีการอนุญาตให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศให้การเสพกัญชาเพื่อ “ความบันเทิง” กลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย และคาดว่ารัฐแมสซาชูเซตส์ จะอนุญาตให้สามารถใช้กัญชาเพื่อสันทนาการภายในปลายปีนี้ และเมื่อช่วงต้นปีเช่นเดียวกัน รมต.สาธารณสุข ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่ากับสื่อมวลไว้ว่า รัฐบาลออสเตร เลียตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกษตรกรและผู้ผลิต เป็นผู้ส่งออกกัญชาเพื่อการแพทย์อันดับ 1 ของโลก และนโยบายนี้จะเป็นผลดีต่อทั้งภาคธุรกิจและช่วยเหลือผู้ป่วยภายในประเทศด้วย 

ซึ่งอย่างไรก็ตาม กลับพบว่าสถานะทางกฎหมายของกัญชาประเทศไทยในปัจจุบันนั้น ยังถือว่า “กัญชา” เป็นสิ่งเสพติดประเภท 5 ตามมาตรา 7(5) แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว จึงเป็นอุปสรรคในการพัฒนากัญชาเพื่อการแพทย์ โดยล่าสุดในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2561 โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ เสนอเพื่อแก้ไข พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ปลดล็อกให้กัญชาสามารถใช้เป็นยารักษาโรค (ที่มา: https://www.bbc.com)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยาการณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,426 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 – 15 ธ.ค.2561 ในหัวข้อ “คนไทยคิดเห็นอย่างไร กับการนำกัญชามาใช้เป็นยารักษาโรค” มีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับการปลดล็อกกัญชา ให้สามารถใช้เป็นยารักษาโรค โดยมีผลการสำรวจดังต่อไปนี้

จากการสอบถามความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชา พบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 64.03) เห็นว่ากัญชาเป็นยาสูบประเภทหนึ่งคล้ายบุหรี่ ที่คนสมัยก่อนใช้สูบผสมกับยาสูบ อันดับ 2 (ร้อยละ 59.68) เห็นว่า กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ อันดับ 3 (ร้อยละ 45.86) เห็นว่ากัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารบางประเภท และอันดับ 4 (ร้อยละ 10.73) เห็นว่ากัญชาเป็นยารักษาโรค การสอบถามประเด็นการผลักดันให้กัญชาสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคได้นั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วย ร้อยละ 74.68 ซึ่งได้ให้เหตุผลไว้ว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 61.78) เห็นว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้ยานำเข้าจากต่างประเทศได้

อันดับ 2 (ร้อยละ 59.75) เห็นว่าสารที่พบในกัญชาสามารถนำมาวิจัยและผลิตเป็นยารักษาโรคได้ และอันดับ 3 (ร้อยละ 52.66) เห็นว่าปัจจุบันกัญชาเป็นที่ยอมรับว่าเป็นของถูกกฎ หมายในบางประเทศแล้ว โดยมีเพียงร้อยละ 25.32 เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับการนำกัญชามาใช้เป็นยารักษาโรค ซึ่งได้ให้เหตุผลไว้ว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 17.95) กัญชายังคงเป็นพืชเสพติดให้โทษ อันดับ 2 (ร้อยละ 13.11) อาจเป็นการเพิ่มจำนวนผู้เสพภายในประเทศ และอันดับ 3 (ร้อยละ 11.92) หน่วยงานที่ดูแลและควบคุมในเรื่องนี้ ยังไม่เข็มแข็ง อาจเกิดการลักลอบการกระทำความผิดได้ในที่สุด

จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับการผลักดันให้มีการนำกัญชามาใช้เป็นยารักษาโรคในประเทศไทย ซึ่งหากมองลึกลงไปแล้ว เหตุผลที่สนับสนุนนอกเหนือจากสรรพคุณทางยารักษาโรค และสารที่สกัดจากกัญชาแล้วนั้น ยังพบว่าราคายารักษาโรคในประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของคนภาย ในประเทศ ในการเข้าถึงการรักษาด้วยตัวยาบางประเภท การนำกัญชามาสกัดทำยารักษาโรคในครั้งนี้ อาจส่งผลดีต่อการเข้าถึงตัวยา และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ อีกทั้งสามารถลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายารักษาโรคบางชนิดจากต่างประเทศ 

แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว ต้องคำนึงถึงประชาชนบางส่วน ที่ไม่เห็นด้วยนั้นคือ จะต้องนำผลกระทบที่อาจจะเกิดตามมา เพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาหากมีการนำกัญชามาสกัดเป็นยารักษาโรคอย่างแพร่หลาย โดยควรต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดูแลบริหารจัดการ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะต้องไม่ทำให้ก่อให้เกิดปัญหาระหว่างทาง เพื่อให้ประเทศไทยได้มีการผลิตยาที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการนำเข้าและสามารถทำให้ประชา ชนคนไทยทุกกลุ่ม สามารถเข้าถึงบัญชียาได้อย่างเท่าเทียมกัน ในอนาคตอันใกล้นี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น