เชียงใหม่ในตาฝรั่ง เชียงใหม่โบราณในบันทึกของ “ปิแอร์ โอร์ต”

ในประเทศสยามในอดีตยังไม่ได้มีการพัฒนามากมายเท่าปัจจุบันจึงมีการใช้ที่ปรึกษาทางกฎหมายชาวต่างชาติ เนื่องจากข้าราชการชาวสยามยังไม่มีความสามารถมากเท่าชาวต่างชาติเพราะยังไม่ได้รับการศึกษาเท่าในปัจจุบัน ซึ่งคนสยามชนชั้นทั่วไปที่ไม่ใช่ชนชั้นสูงในอดีตก่อนที่จะได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงในปัจจุบันนั้น ไม่สามารถอ่าน และเขียนหนังสือได้ จึงไม่นิยมการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเสียเท่าไร จึงทำได้เพียงอ่านบันทึกจากคณะทูต, บาทหลวง, มิชชั่นนารี หรือข้าราชการต่างชาติ

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จึงนำเสนอบันทึกของนาย “ปิแอร์ โอร์ต” ผู้ช่วยที่ปรึกษากฎหมายชาวเบลเยี่ยม ของสยามในอดีต ที่ได้บันทึกเรื่องราวการเดินทางในเมืองล้านนา รวมถึงเมืองเชียงใหม่เอาไว้มาให้ผู้อ่านได้อ่านกันด้วย

“นาย ปิแอร์ โอร์ต” ผู้ช่วยที่ปรึกษากฎหมายชาวเบลเยี่ยม ของสยามในอดีต

เมื่อปี พ.ศ.2439 ได้เกิดคดีสำคัญขึ้นที่เชียงใหม่ “ระหว่างรัฐบาลสยาม” กับ “ประเทศสหรัฐอเมริกา” นาย “อี.วี.เคลเลตท์” รองกงศุลที่รัฐบาลสหรัฐส่งมาประจำอยู่ที่เชียงใหม่เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของหมอชิก หรือ “นายแพทย์แดเนียล แมคกิลวารี” เป็นอดีตหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันที่ได้หันมาทำธุรกิจป่าไม้ ซึ่งกำลังตกเป็นคดีความกับรัฐบาลสยาม ได้ถูกทหารสยามทำร้ายร่างกาย “นายจอห์น บาเรตท์” ราชทูตสหรัฐในเมืองบางกอกได้ยื่นหนังสือขึ้นร้องต่อสมเด็จฯกรมหลวงเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีต่างประเทศ ขอให้พิจารณาสอบสวนคดีนี้โดยตั้งคณะอนุญาโตตุลาการผสม ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายสหรัฐ และฝ่ายสยามขึ้นพิจารณาคดี

ขบวนช้างระหว่างการเดินทางในป่า

ทางฝ่ายสยามได้แต่งตั้ง “นายปิแอร์ โอร์ต” ผู้ช่วยที่ปรึกษากฎหมายชาวเบลเยี่ยม ให้เดินทางไปทำหน้าที่พิจารณาคดีร่วมกับนาย “จอห์น บาเรตท์” ราชทูตสหรัฐที่เมืองเชียงใหม่ ในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2440 ทั้งสองนายออกเดินทางจากบางกอกทางแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเรือ ขึ้นมาตามผ่านเมืองชัยนาท ปากน้ำโพขึ้นมาตามลำน้ำปิงผ่านกำแพงเพชร เมืองตาก จนมาถึงเมืองเชียงใหม่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมปีเดียวกัน ทั้งสองได้ร่วมกันพิจารณาคดีโดยเบิกพยานทั้งสองฝ่ายมาให้การโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2440 การพิจารณาคดีก็เสร็จสิ้นลงในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2440

หลังจากที่พิจารณาคดีนี้กำลังจะแล้วเสร็จ “นายปิแอร์ โอร์ต” ก็ได้รับคำบัญชาจากพระยาอภัยราชาให้ออกเดินทางด้วยการนั่งช้าง ขี่ม้า และเดินเท้าบ้าง เขาได้ไปเยี่ยมหัวเมืองต่างๆ ในภาคเหนือและภาคอีสาน เริ่มจากเมืองลำพูน ลำปาง พะเยา เชียงราย แพร่ น่าน ซึ่งขณะนั้นรวมเป็นมณฑลลาวเฉียง เมื่อไปถึงเมืองใดปิแอร์ ก็จะหารือข้อราชการกับข้าหลวงถึงปัญหาต่างๆ ถ้าเรื่องไหนเห็นว่า สามารถแก้ไขได้ก็จะแนะนำให้ข้าหลวงดำเนินการโดยทันที

หลังจากที่ออกเดินทางจากเมืองน่านแล้ว ท่านได้เดินทางไปถึงเมืองปากสายริมแม่น้ำโขงแล้วล่องแพไปตามลำน้ำจนถึงเมืองเวียงจันทน์ จากนั้นก็ใช้แพเดินทางล่องลงมาจนถึงเมืองหนองคาย ผ่านเมืองหมากแข็ง หรือ จังหวัดอุดรธานี จนมาถึงเมืองโคราช ผ่านดงพญาไฟ และมาขึ้นรถไฟที่หมู่บ้านหินลังในเขตจังหวัดสระบุรี ก่อนที่จะเข้าสู่เมืองบางกอก โดยปิแอร์ โอร์ต ใช้เวลาในการเดินทางเยี่ยมหัวเมืองต่าง ๆ ทั้งหมดนานถึง 5 เดือนเต็ม

เขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ในอดีต

ซึ่งในบันทึกของเขาได้เล่าว่า “ข้าพเจ้าไปพบเจ้าเมือง และ เจ้าผู้ครองนครผู้เฒ่า เจ้าเมืองพำนักอยู่ในคุ้มที่ปลูกด้วยไม้ซึ่งได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และออกมาต้อนรับข้าพเจ้าพร้อมด้วยลูกชายและเจ้านายอื่นๆ อีก 2 องค์ เจ้าเมืองคะคั้นคะยอให้ข้าพเจ้ารับหอกไม้ที่หุ้มด้วยเงิน 2 เล่ม ซึ่งเป็นงานฝีมือของช่างพื้นเมือง”

นอกจากนั้นยังได้บันทึกไว้อีกว่า “เมืองเชียงใหม่” สมัยนั้น (พ.ศ.2440) มีประชากรราว 5 หมื่นคน ลักษณะของเมืองแบ่งเป็น 2 เขต แต่ละเขตมีกำแพงสูง 2 – 3 เมตร และมีป้อมสูงที่แต่ละมุมกำแพง ตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งของแม่น้ำปิง มีสะพานไม้ สันนิษฐานว่า เป็นสะพานแห่งแรกที่สร้างข้ามแม่น้ำปิง (บริเวณหน้าวัดเกตุ) ทำด้วยไม้สัก ต่อมาได้พังลงเนื่องจากถูกท่อนซุงที่ไหลมากับกระแสน้ำเชี่ยวพุ่งชน 

ทั้งนี้สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ “ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง” ซึ่งเป็นบันทึกการเดินทางเยี่ยมหัวเมืองเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือเมื่อประมาณ 100 ปีก่อนของนาย “ปิแอร์ โอร์ต” ที่ได้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ของภาคเหนือ และประเทศสยาม ซึ่งได้รับการแปลจากบันทึกต้นฉบับ “หอจดหมายเหตุแห่งชาติกรุงบรัสเซลล์” โดย “คุณพิษณุ จันทร์วิทัน”

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลและภาพจาก : จักรพงษ์ คำบุญเรือง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น