ศักดินาในล้านนา ตำแหน่งปกครองของล้านนาในอดีต

เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันนั้นได้ยกเลิกระบบนายและไพร่ทาสไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่สมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดการ “เลิกทาส” ในระบบการปกครองของอาณาจักรนั้นก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินการปกครอง

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จึงขอนำเสนอ “ยศถาบรรดาศักดิ์” ในอาณาจักรล้านนา เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองในอดีตมากยิ่งขึ้น

การบริหารบ้านเมืองของอาณาจักรนั้นๆ ตำแหน่งต่างๆ ในแต่ละเมืองล้วนมีความสำคัญในการทำให้เมืองมีความเจริญเติบโต อีกทั้งตำแหน่งยังเป็นการแบ่งชนชั้นของสังคมในอาณาจักรนั้นๆอีกด้วย อาณาจักรล้านนาก็มีตำแหน่งปกครองเป็นของตัวเองซึ่งวางไว้เป็นระบบดังต่อไปนี้

“พ่อเมือง” มีที่ปรึกษา 4 ท่าน เรียกทั้งคณะว่า “เถ้าสรีเมือง” หรือ “มนตรี” เรียกเป็นสามัญว่า “ต้าวตังสี่” หรือ “ท้าวทั้งสี่” เรียกรายตัวว่า

  1. “ราชครูเมือง” เป็นพระสังฆราชา เรียกเป็นสามัญว่า “หัวหน้าคณะฝ่ายหนใน” หมายความว่า “ฝ่ายปฏิบัติตนใกล้หรือเหมือนกับพระพุทธจริยาวัตร”
  2. “อาจารย์หลวง” คือ นักปราชญ์ เรียกเป็นสามัญว่า “หัวหน้าคณะหนฝ่ายนอก” หมายความว่า “ฝ่ายปฏิบัติไม่ครบอย่างพุทธจริยาวัตร” เป็นคฤหัสถ์ที่ได้บวชเรียนทรงความรู้เท่าๆ กับราชครูเมือง แล้วสึกออกมามีหน้าที่ให้คำแนะนำพ่อเมืองในการพิพากษาเทียบได้กับ “อธิบดีศาลฎีกา” และเป็นหัวหน้าชาวเมืองประกอบการกุศลบางครั้งก็เป็นผู้วินิจฉัยปัญหาในพระไตรปิฎก และให้คำแนะนำสั่งสอนพระภิกษุสามเณร
  3. “โหราหลวง” คือ โหรหลวง มีหน้าที่ทางพยากรณ์โชคลางและวิธีในไสยศาสตร์ บางคนก็เป็น “พ่อเลี้ยง” คือแพทย์เรียกกันเป็นสามัญว่า “พ่อหมอเถ้า” ถ้าอยู่ในวัยชราเรียกว่า “ปู่เจ้า”
  4. “ต๋าเมือง” หรือ “ตาเมือง” เป็นที่พระนามหาอุปราชเทียบอย่างง่ายๆ ว่า “นายกรัฐมนตรี”
บรรดาเจ้านายชนชั้นสูงของล้านนาขณะประชุมราชการ

“ยศบริวาร” คือ เสนาอำมาตย์ แบ่งเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้

1. “หัวสาม” อาจจะหมายถึง “อาลักษณ์” หรือ “เลขาธิการคณะรัฐบาล” มีหน้าที่ในการติดต่อสื่อสาร และการคลัง มีตำแหน่งขึ้นอยู่หัว 3 อย่างคือ

ก. “หัวศีล” อาจจะหมายถึง “สังคการี” คือ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับสงฆ์ในงานหลวง มีหน้าที่ ช่วยเหลือ และดำเนินกิจกรรมทางพุทธศาสนา

ข. “หัวเมืองแก้ว” คือ “ผู้ทำกิจต่างเมือง” หรือ “การต่างประเทศ” มีหน้าที่ ติดต่อกับชาวต่อชาติในเรื่องของการค้าขาย การเมืองการปกครอง

ค. “หัวคลังแก้ว” คือ “นายคลัง” มีหน้าที่ ดูแลควบคุมการคลังของพระราชวัง

นอกจากนี้ยังมีตำแหน่ง “ม้าแข้งเหล็ก หรือผู้เดินทน” กับ “ม้าแข้งไฟ หรือผู้เดินเร็ว” ขึ้นอยู่กับหัวสามอีก 2 ตำแหน่ง เข้าใจว่า “ม้าแข้งเหล็ก” จะตรงกับ “ทหารรักษาวัง” ทางเมืองเชียงใหม่เรียกตำแหน่งนี้ว่า “เขน” แปลว่า สู้ หรือต่อสู้ ส่วน “ม้าแข้งไฟ” เห็นจะตรงกับ “ตำรวจวัง” คำนี้ทางเมืองเชียงตุงเรียกว่า “แย” เห็นจะเป็นภาษาพม่าทำหน้าที่อยู่ยาม และรับใช้

บรรดาเจ้านายชนชั้นสูงของล้านนา

2. “หัวสนาม” บางทีเรียก “อะธิปติ” เห็นจะได้แก่ เจ้ากรมต่างๆ ฝ่ายพลเรือน เรียกเป็นสามัญว่า “จ๊ะเร” คำนี้ใกล้เคียงกับภาษาเขมรว่า “สเสร” ซึ่งแปลว่าเสมียน

คำว่า “สนาม” ตรงกับศาลากลางจังหวัด หรือศาล ถ้าพ่อเมืองไปนั่งทำการที่สนามเทนนิสสนามนั้นเรียกว่า “เค้าสนามหลวง”

3. “หัวสึก” บางทีเรียกว่า “ขุนพล” ตรงกับ “แม่ทัพนายกอง” มีตั้งแต่หัวสิบ หรือนายสิบ ผู้บังคับหมู่ หัวซาว หรือนายหมวด ผู้บังคับหมวด หัวร้อย หรือนายร้อย ผู้บังคับกองร้อย หัวพัน หรือนายพัน ผู้บังคับกองพัน หัวหมื่น หรือนายพล ผู้บังคับการกองพล เจ้าแสน หรือแม่ทัพ ตำแหน่งชั้นเจ้าแสนนั้นบางทีเรียก “ขุนพลแก้ว” แต่เรียกตามคุณสมบัติ ยศบริวารต่างๆ ที่สรรพนามมานี้ “ตาเมือง” หรือ “พญามหาอุปราช” หน้าที่โดยเฉพาะ 2 อย่าง คือ จัดการปกครองบ้านเมือง และพิพากษาคดีต่างๆ ที่เรียกว่า “วัวพันหลัก” เห็นจะตรงกับ “อุทลุม” น่าจะเทียบได้กับ “อธิบดีศาลอุทธรณ์”

บรรดาเจ้าชนชั้นสูงของล้านนาขณะถ่ายภาพกับข้าราชการสยาม

จะเห็นได้ว่า การวางยศไว้นั้น ไม่ใช่เพียงแค่ได้รับประโยชน์ หรือสิทธิ์ที่มากกว่าชนชั้นล่าง แต่การมียศนั้นเป็นการกำหนดหน้าที่ในการบริหารบ้านเมืองให้เป็นประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าการกำหนดหน้าที่ไว้อย่างหลวมๆ นั่นเอง ซึ่งหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้นได้ถูกบันทึกไว้ช่วงสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ในปีพ.ศ.2485

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลและภาพจาก : www.huglanna.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น