ที่มาชื่อพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) มาจากไหน ?

“ปาบึก” พายุโซนร้อนที่จ่อจะพัดเข้าภาคใต้ของไทย ที่ทางการไทยกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกันอย่างขมักเขม่น หลายท่านคงอยากทราบที่มาของชื่อว่าทำไมถึงชื่อนี้ ซึ่งการตั้งชื่อนั้นก็มีการกำหนดหมุนเวียนกันตั้งชื่อโดยมีข้อตกลงกัน ซึ่งคราวนี้ก็คราวของ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยชื่อ “ปาบึก” ก็คือ ชื่อปลาน้ำจืดขนาดใหญ่(ปลาบึก)ที่อาศัยอยู่มากในแม่น้ำโขงนั่นเอง

ซึ่งพายุเกิดจากจากการก่อตัวของกระแสลม จนมีความรุนแรงเป็นพายุระดับต่างๆ มีการตั้งชื่อและแบ่งชนิดออกเป็นระดับต่าง ๆ และมีความรุนแรงแตกต่างกันไป สามารถทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน และที่อยู่อาศัย การเตรียมความพร้อมเพื่อการรับมือก็เป็นสิ่งสำคัญ การอพยพออกจากที่เกิดเหตุ เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ชีวิต

เดิมทีสหรัฐฯ เป็นผู้ตั้งชื่อพายุของทั่วโลกมาโดยตลอด เพราะเป็นประเทศเดียว ที่มีความเพียบพร้อมทางเทคโนโลยีทางดาวเทียมตรวจสภาพอากาศ ดูความเคลื่อนไหวของพายุ การตั้งชื่อพายุสมัยก่อนนั้น จะใช้ชื่อผู้หญิงในการตั้ง เพราะฟังแล้วจะดูรุนแรงน้อยลง ในกรณีที่ผู้ตั้งชื่อเป็นนักเดินเรือ ก็จะตั้งชื่อพายุเพื่อคลายความคิดถึง ถึงคนที่เป็นที่รัก แต่ภายหลังก็มีนักสิทธิสตรีในสหรัฐฯ ออกมาประท้วงว่าการตั้งชื่อพายุ ทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงโหดร้าย ภายหลังจึงมีการตั้งชื่อผู้ชายด้วย

รายชื่อพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก (180° ถึง 100° ตะวันออก)

รายชื่อพายุที่ก่อตัวทางมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้ โดยมีประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ร่วมกันเสนอบัญชีรายชื่อเอาไว้ทั้งหมด 5 ชุดด้วยกัน ประเทศที่เสนอชื่อมี 14 ประเทศ (และดินแดน) ได้แก่ กัมพูชา จีนเกาหลีเหนือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลาว มาเก๊า มาเลเซีย ไมโครนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

รายชื่อพายุมี 140 ชื่อ นำมาแบ่งเป็น 5 ชุดหลัก ชุดละ 28 ชื่อ โดยไล่เรียงชื่อไปตามลำดับประเทศ (และดินแดน) ที่เสนอมาตามอักษรโรมัน ข้อตกลงคือ

1.เมื่อมีพายุที่มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางของพายุมากกว่า 34 นอต หรือ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กลายเป็นพายุโซนร้อน) พายุนั้นจะถูกตั้งชื่อ

2.ชื่อของพายุจะเริ่มใช้ชื่อบนสุดของคอลัมน์หรือชุดที่ 1 ก่อน เช่น เมื่อมีพายุเกิดขึ้นมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางตามที่กำหนดในข้อ 1 เป็นลูกแรก พายุลูกนั้นจะมีชื่อว่า “ด็อมเร็ย”

3.เมื่อมีพายุลูกต่อไปเกิดขึ้นอีก และมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางตามที่กำหนดในข้อ 1 พายุลูกนั้นจะใช้ชื่อที่อยู่ถัดลงมาในชุดที่ 1 เช่น พายุลูกที่ 2 จะมีชื่อว่า “ไห่ขุย”

4.เมื่อใช้จนหมดชุดแรกให้ใช้ชื่อแรกของคอลัมน์ที่อยู่ถัดไป เช่น พายุที่เกิดหลังพายุ “จ่ามี” จะใช้ชื่อ “กองเร็ย” ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ

5.เมื่อใช้จนหมดชุดที่ 5 ให้กลับมาใช้ชื่อแรกของชุดที่ 1 เช่น พายุที่เกิดหลังพายุ “เซาลา” จะใช้ชื่อ “ด็อมเร็ย”

6.หากพายุลูกใดมีความรุนแรงและสร้างความหายนะมากเป็นพิเศษก็ให้ปลดชื่อพายุลูกนั้นไป แล้วตั้งชื่อใหม่เข้าไปในรายการชื่อแทน

ร่วมแสดงความคิดเห็น