คำสบถจากงานศพ! ที่มาของคำสบถด่า…ในภาษาเหนือ

ภาษาภาคเหนือถูกยกย่องจากผู้คนจากหลากหลายภูมิภาคว่าสำเนียงเหนือมีความงดงาม และรู้สึกได้ถึงความสุภาพ และใจเย็นของ “คนเมือง” ทว่ากุหลาบงามหนามย่อมคม! คำสบถด่าในคนเมืองเหนือนั้นมีมากมายไม่ต่างจากภูมิภาคอื่น

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จึงขอยกตัวคำสบถที่มาจากเครื่องใช้จากงานศพ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่างานศพในแง่มุมมองของชาวบ้านล้านนาในอดีตถือเป็นสิ่งที่เป็นอัปมงคล เนื่องจากเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับความตาย และการสูญเสียย่อมไม่ใช่เรื่องน่ายินดีอยู่แล้ว อีกทั้งสภาพแวดล้อมในอดีตที่เป็นป่าเขาและเป็นงานที่จัดอยู่ในยามวิกาล จึงส่งผลให้เกิดความสยดสยองพองเกล้ามากขึ้นไปอีกด้วย

ตัวอย่างคำสบถเชิงเปรียบเปรยที่มาจากงานศพ

1.“ดักอย่างป่าเรี่ยว” (ออกเสียงว่า “ดักอย่างป่าเฮี่ยว”) คือ เป็นการเปรียบเปรยว่าเงียบเหมือนป่าที่ฝังศพหรือป่าช้า

2.“หน้าผากบ่ไหลละกา?” เป็นคำถามเชิงจิกกัดว่าตายแล้วหรือ เพราะว่าคนตายหน้าผากจะนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนไหว

3.“ร้อนปันจี่ผี” (ออกเสียงว่า “ฮ้อนปั๋นจี่ผี”) คือ เป็นการสบถเชิงบ่นว่าอากาศร้อนมากเหมือนไฟที่เผาศพ (ไม่ใช่คำด่า)

4.“เยียะหน้าอย่างผีตายพากโชกหัว” (ออกเสียงว่า “เยียะหน้าอย่างผีต๋ายป้ากโจ้กหัว”) คือ ทำหน้าตาขมึงขึงขังไม่รับแขกเหมือนคนที่ตายอย่างทรมาน

งานศพในจังหวัดแพร่

ตัวอย่างคำสบถที่มาจากเครื่องใช้ในพิธีกรรมงานศพ

1.“ผีตำเฮาะ” หรือ “ตำเฮาะผี” หมายถึงไม้ทำเราะที่แทงศพ “พรายตำเฮาะ” คือ ไม้ทำเราะที่ใช้กับผีตายพราย “ห่าตำเฮาะ” คือ ไม้ทำเราะที่ใช้กับผีตายด้วยห่า ตัวอย่างประโยคที่นิยมพูดในจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน ว่า “ผีตำเฮาะ ช่างเสาะหากัน” คือ คนที่ไม่ดี คนที่ไม่สมประกอบ พูดในเชิงประชดประชันที่คู่นี้เหมาะสมกันมาเจอกัน คาดว่ามีที่มาจาก “ไม้ทำเราะ” ออกเสียง “ไม้ตำเฮาะ”

2.“โบม”, “พรายโบม”, “ผีโบม” ฯลฯ ซึ่งคำว่า “โบม” หมายถึง “ที่ใส่ศพ” หรือโลงศพ และด้วยความที่เป็นที่ใส่ศพนี้เองจึงถือเป็นสิ่งอัปมงคลอย่างมาก ผู้คนก็นำเอามาเป็นคำสบถกัน ตัวอย่างคำที่นิยมพูดกันเช่นคำว่า “บ่าโบม” แปลว่า “ไอ้หอก”, “ไอ้ห่า” และยังมีการนำมาผสมกับคำอื่นได้อีกหลายคำหลายได้แก่ “พรายโบม”, “ทามโบม”, “พรายแหมะพรายโบม”, “ผีโบม”, “โบมผี”, “กะโบม”, “ผีกะโบม” และ “โบมศพ” เป็นต้น คำสบถพวกนี้นิยมใช้ในเขตจังหวัดน่าน จังหวัดแพร่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดลำปาง และจังหวัดอุตรดิตถ์บางส่วน

3.“แค้วผี” หรือ “แค้วผีโบมผี” เป็นคำสบถที่มากจาก “ท้องแค้ว” หมายถึง ที่ใส่ศพจักสานด้วยไม้ไผ่ทำเป็นฐาน ด้านบนสานเป็นฝารูปโค้งเพื่อปิดบังศพ ด้านบนประดับด้วยดอกไม้ปักบนกาบกล้วย แบบที่นิยมใช้ในเขตจังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน (บางส่วน) โดยเฉพาะบริเวณอำเภอสอง จังหวัดแพร่ คนในบริเวณนี้จึงนำมาเป็นค่าสบถกันนั่นเอง

4.“โลง” คำว่าโลงนี้ไม่ปรากฏนำมาใช้เป็นคำสบถโดยตรง แต่นิยมกล่าวเป็นคำซ้อนว่า “ทำเราะทำโลง” (ออกเสียงว่า “ตำเฮาะตำโลง” บ้างก็ว่า “ตำเฮาะตำบม”) คำนี้ใช้ในการสบถกับตนเองเวลาผิดพลาดอะไรที่ทำให้ไม่พอใจ นิยมใช้ในจังหวัดแพร่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอเมือง

5.“ฝ้ายจูง” (ออกเสียงว่า “ฝ้ายจู๋ง”) ฝ้ายจูงนี้ คือ เส้นฝ้ายที่ใช้จูงปราสาทศพหรือโลงศพไปป่าช้าซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งของที่มีความอัปมงคลด้วย คำนี้นิยมสบถในเขตจังหวัดลำปาง และจังหวัดแพร่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ซึ่งคำนี้นิยมกล่าวในกลุ่มสตรีที่ทอผ้า หรือผู้ชายที่ถักแห หรือทำกิจกรรมที่ใช้เส้นในการสาน เมื่อเส้นพวกนี้ยุ่งพันกันจนแกะยากก็จะสบถออกมาว่า “ฝ้ายจู๋ง!”

6.“ถง” คำว่าถงนี้ หมายถึง ถุงย่ามที่ใส่ห่อข้าวให้คนตายเอาไปเป็นเสบียงใช้ในภพหน้าและให้เอาไปแบ่งให้ผีที่ป่าช้า ซึ่งแต่ละท้องที่เรียกต่างกัน เช่น “ถงหมะจับ”(อำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน) “ถงห่อข้าว”, “ถุงห่อข้าวด่วน” (จังหวัดเชียงใหม่) “ถงห่อข้าวร้อยห่อ” (อำเภอเมือง จังหวัดแพร่) “ถงแพ้ว” (อำเภอปัว และอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน) และด้วยความที่ “ถง” นี้เองเป็นเครื่องใช้ในงานศพก็จะใข้คำว่าถง เป็นคำสบถรวมกับคำอื่น เช่น เด็กสะพายย่ามไปมาจนผู้ใหญ่รำคาญก็จะทัก “พายถงแพ้วไปไหน” หรือทิ้งถุงย่ามวางไว้ไม่ถูกที่ก็จะโดนด่าว่า “ถงแพ้วไหนมายองอยู่หั้น” (ถงแป้วไหนมายองอยู่หั้น) คำสบถนี้นิยมใช้ในจังหวัดน่าน

ขบวนแห่ศพในจังหวัดแพร่

คำสบถที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้นล้วนมีที่มาจากงานศพทั้งสิ้น และคำเหล่านี้มีใช้บ้าง และไม่ใช้บ้างปะปนกันไปในจังหวัดทางภาคเหนือ มีเพียงคำว่า “ทำเราะ” เท่านั้นที่ใช้หลายจังหวัดมากกว่าคำอื่น อาจด้วยเป็นคำศัพท์โบราณจึงรับรู้ และใช้คำนี้อย่างกว้างขวาง ส่วนคำว่า “โบม” และ “ถ้งแพ้ว” นั้นพบได้น้อยซึ่งจะพูดในกลุ่มที่มีเชื้อสายไทลื้อ อย่างไรก็ตามคำสบถด่าไม่ว่าจะเจตนา หรือไม่ล้วนสร้างความบาดหมาง และอาจจะส่งผลต่อหน้าที่การงานก็เป็นได้ ทางที่ดีควรจะสื่อสารด้วยความเคารพ และประนีประนอมต่อกันจะดีที่สุด

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : คุณภูเดช แสนสา
รูปภาพจาก : ชมรมคนฮักผาสาท

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น