น้ำทิพย์ น้ำอภิเษก บนดอยขะม้อ นครลำพูน เมืองพันปี

บันทึกประวัติศาสตร์บูรพกษัตราธิราชเจ้าในแผ่นดินไทย ทุกยุคสมัยระบุขั้นตอนสำคัญประ กอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่หนึ่งประการคือ การทรงรับน้ำอภิเษก แสดงความยิ่งใหญ่ในแว่นแคว้นทั้ง 8 กล่าวตามหลักการราชาภิเษกจะมีรดน้ำ แล้วเถลิงราชาอาสน์เป็นอันเสร็จพิธี ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลสมัย เนื่องจากเป็นเพียงหนึ่งในขั้นตอนของพระราชพิธี การบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2328 ได้ใช้เป็นแบบอย่างใน รัชกาลต่อๆมา ในบางรายการ ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมในแต่ละพระองค์

ทั้งนี้การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2493 ได้ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พุทธเจดีย์สถานสำคัญๆตามภูมิภาค 18 แห่ง โดยส่งน้ำมาเข้าพิธีสรงพระมุรธาภิเษก ดังนี้ สระบุรี ตั้งที่พระพุทธบาท พิษณุโลก ตั้งที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุโขทัย ตั้งที่วัดมหาธาตุ อ.สวรรคโลก นครปฐม ตั้งที่พระปฐมเจดีย์ นครศรีธรรมราช ตั้งที่วัดพระมหาธาตุ นครพนม ตั้งที่พระธาตุพนม ร้อยเอ็ด ตั้งที่บึงพระลานชัย เพชรบุรี ตั้งที่วัดมหาธาตุ ฉะเชิงเทรา ตั้งที่วัดโสธร นครราชสีมา ตั้งที่วัดพระนารายณ์มหาราช อุบลราชธานี ตั้งที่วัดศรีทอง จันทบุรี ตั้งที่วัดพลับ ปัตตานี ตั้งที่วัดตานีนรสโมสร ภูเก็ต ตั้งที่วัดพระทอง น่าน ตั้งที่พระธาตุแช่แห้ง และที่ลำพูน ตั้งที่พระธาตุหริภุญชัยฯ โดยน้ำอภิเษกจากนครลำพูนนั้น มีเพียงแห่งเดียวที่บ่อน้ำทิพย์ ดอยขะม้อ ตั้งอยู่อยู่บนยอดเขาขะม้อ ต.มะเขือแจ้ เมืองลำพูน

ปกติก่อนถึงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 เหนือ(วันวิสาขบูชา) จะมีประเพณีตักน้ำทิพย์จาก ดอยขะม้อ เพื่อนำไปสรงน้ำพระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัยเป็นประจำทุกปี ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองลำพูน นอกจากจะใช้ในการสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย ในเทศกาลแปดเป็งแล้ว ยังใช้ใน พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ปี 2453

ต่อมาในปี 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ใช้น้ำทิพย์จาก ดอยขะม้อในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย ในรัชกาลที่ 9 ทรงสรงน้ำมุรธาภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปี 2493ด้วย ชาวเหนือ ชาวลำพูนจะไปกระทำพิธีบูชาน้ำบ่อนี้อยู่เสมอ บ่อน้ำทิพย์อยู่สูงจากเชิงเขาประมาณ 300 ทางลาดยาวจากเชิงเขาถึงยอดเขาประมาณ 6 กม. อยู่ห่างจากที่ว่าการ อ.เมืองลำพูน ประมาณ 15 กม.

ในอดีตเดินทางไปมาลำบาก ปัจจุบันมีการพัฒนาพื้นที่รายรอบ กลายเป็นสถานที่สำคัญติดทำเนียบมาเยือนเมืองบุญหลวง ต้องไปนมัสการ สถานที่แห่งนี้ให้ได้ ในครั้งหนึ่งของชีวิต การตักน้ำในบ่อต้องใช้ผู้ชาย ห้ามสตรีลงไปตัก และห้ามเหยียบย่ำปากบ่อ ปกติน้ำจะมีสีขุ่น เมื่อกระทำพิธีพลีกรรมแล้วน้ำจะใส

ตำนานพื้นบ้านเล่าสืบกันมาว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่ยอดภูเขาแห่งนี้ เพื่อโปรดสัตว์ ทรงกระหายน้ำ จึงให้พระสาวกที่ติดตามมาด้วย ให้ไปหาน้ำมาเสวย พระสาวกหาให้ไม่ได้ พระพุทธองค์จึงทรงตั้งพระอธิษฐาน แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือกดลงไปตรงที่ประทับอยู่ เมื่อยกหัวแม่มือขึ้น ก็มีน้ำพวยพุ่งขึ้นมาให้เสวย

พระพุทธองค์ทรงทำนายว่า สถานที่นี้ต่อไปจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และจะได้ใช้น้ำนี้ไปทำพิธีต่างๆ จึงได้ชื่อว่าบ่อน้ำทิพย์ มีน้ำอยู่ตลอดปีไม่มีแห้ง นอกจากนั้นตำนานพระเจ้าเลียบโลกและตำนานท้องถิ่น มีสาระไม่ต่างกันนัก บ่อน้ำทิพย์ จากดอยขะม้อ นครลำพูน เมืองพันปี ใช้ในพระราชพิธีต่างๆตามโบราณราชประเพณีตลอดมา ด้วยถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ จากมหานครโบราณ 7 แห่งในไทย

ร่วมแสดงความคิดเห็น