นักบุญล้านนา ครูบาศรีวิชัย ผู้สร้างหนทางสู่พระบรมธาตุดอยสุเทพ

พระธาตุดอยสุเทพนั้นเป็นที่รู้จักดีสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ หรือรวมถึงชาวจังหวัดเชียงใหม่เองด้วย แต่รู้หรือไม่ว่าผู้นำในการสร้างทางสู่พระธาตุดอยสุเทพที่เรียกได้ว่าเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง 5 เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ

และวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมากล่าวถึงประวัติและกุศลความดีที่ท่านได้ทำ และปรากฎเป็นผลงานที่จับต้องได้ เช่น การซ่อมแซมทางขึ้นดอยสุเทพและการบูรณะวัดต่างๆ ในภาคเหนือ

ครูบาศรีวิชัย เป็นพระอาจารย์ที่เป็นที่รู้จักอย่างมากของชาวล้านนาว่าเป็น “ตนบุญ” หรือ “นักบุญ” อันมีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ เดิมชื่อ เฟือน หรือ อินท์เฟือน บ้างก็ว่า อ้ายฟ้าร้อง เนื่องจากในขณะที่ท่านถือกำเนิดนั้น ปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์ หรือ เมืองของพระอินทร์ 

ชาวบ้านกำลังช่วยกันทำทางขึ้นไปยังดอยสุเทพ

ในวัยเยาว์นายอินท์เฟือนได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านกันดาร มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง ในช่วงนั้นบ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมีอายุได้ 17 ปี ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ “ครูบาขัตติยะ” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครูบาแข้งแคระ” เดินธุดงค์จากบ้านป่าซางผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ท่านอยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษาเด็กชายอินท์เฟือน จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ เมื่อนายอินทร์เฟือนอายุได้ 18 ปี ก็บวชเป็นสามเณรที่อารามแห่งนี้ โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ 3 ปีต่อมา ก่อนที่จะมาศึกษากับครูบาขัตติยะต่อ เมื่อ พ.ศ.2442 ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน และได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า “สีวิเชยฺย” มีนามบัญญัติว่า “พระศรีวิชัย” เมื่ออายุได้ 21 การได้ศึกษากับพระอาจารย์ผู้เปี่ยมด้วยภูมิรู้และวัตรปฏิบัติ ทำให้ท่านเกิดความเข้าใจแก่นแท้ของพุทธศาสนา มุ่งมั่นปฏิบัติในด้านกัมมัฏฐาน โดยละเลิกความสนใจทางด้านไสยศาสตร์ ด้วยเล็งเห็นว่ามิใช่หนทางแห่งความหลุดพ้น ครูบาศรีวิชัย เคร่งครัดในศีล ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ ตั้งแต่เมื่ออายุได้ 26 ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทย บางครั้งก็ไม่ฉันข้าวเป็นเวลาถึง 5 เดือน

ภาพถ่ายครูบาศรีวิชัยและชาวบ้านที่ร่วมกันสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ

หลังจาก “ครูบาศรีวิชัย” รับการศึกษาจากครูบาอุปละ วัดดอยแต เป็นเวลา 1 พรรษาก็กลับมาอยู่ที่อารามบ้านปางจนถึง พ.ศ.2444 อายุได้ 24 ปี พรรษาที่ 4 ครูบาขัตติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไป ครูบาศรีวิชัย จึงรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ 5 ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปยังสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม คือ “วัดศรีดอนไชยทรายมูลบุญเรือง” ภายหลังเปลี่ยนเป็น วัดจอมสะหรีทรายมูลบุญเรือง อยู่ในบริเวณเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะสงบและสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี แต่ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง ตามชื่อของหมู่บ้าน

นอกจากนั้นท่านยังได้ปลูกสร้างปฏิสังขรณ์วัดวาอารามและถาวรวัตถุทางศาสนาอีกหลายๆวัดในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น วัดพระธาตุหริภุญชัยลำพูน, วัดเชียงยืน, วัดพระพุทธบาทตากผ้า, วัดจามเทวี, วัดพระสิงห์, วัดสวนดอก, วัดศรีโสดา,วัดพระแก้วดอนเต้าลำปาง เป็นต้น

รูปหล่อครูบาศรีวิชัย

และผลงานที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยนั่นคือการสร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ ที่ได้รับการร่วมแรงร่วมใจของชาวล้านนา ในสมัยก่อนการจะเดินทางขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพต้องเดินเท้าขึ้นไปด้วยความลำบาก ใช้เวลาไม่ต่ำ 4 – 5 ชั่วโมง และการที่จะสร้างถนนขึ้นไปเป็นเรื่องที่ยากเกินความคาดหมาย เพราะต้องใช้ทั้งแรงงาน และแรงเงินอย่างมหาศาล เมื่อรํฐบาลทราบเรื่องจึงส่งช่างขึ้นมาทำการสำรวจเส้นทาง และเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 และเสร็จสิ้นในวันที่ 30 เมษายน 2478 รวมแล้วใช้เวลา 5 เดือน กับ 22 วัน

ด้วยความประสบความสำเร็จ และความมีชื่อเสียงในด้านการเป็นนักพัฒนา นั่นก็ทำให้คณะสงฆ์ผู้ใหญ่ในล้านนาไม่พอใจ จึงถูกกล่าวหาเอาผิดครูบาศรีวิชัยถึง 3 ครั้ง รวมถึงเคยถูกจับกุมอีกด้วย ทั้งนี้ล้วนมาจากความกระด้างกระเดื่อง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าคณะแขวง ไม่สนใจพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ฉบับใหม่ เนื่องด้วยครูบาเจ้าศรีวิชัยมุ่งเน้นการปฏิบัติธรรม และจารีตแบบแผนแบบดั้งเดิม มากกว่าระเบียบแบบแผนใหม่ และความสัมพันธ์แบบหัวหมวดวัด ได้สร้างความผูกพันระหว่างพระในชุมชนด้วยกันที่ให้ความเชื่อถือในอาจารย์หรือพระอุปัชฌาย์ที่ถูกแต่งตั้งจากส่วนกลาง จึงเป็นการเริ่มต้นของการสืบสานจารีตแห่งความเป็นล้านนาขึ้น

ภาพครูบาศรีวิชัยในอดีต

ในวันที่ 22 มีนาคม 2481 ขณะที่อายุได้ 60 ปีเศษ ครูบาศรีวิชัยได้ถึงแก่กาลมรณภาพที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพที่วัดจามเทวี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2489 ตามแบบประเพณีล้านนาไทยโดยมีประชาชนมาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก และประชาชนเหล่านั้นได้เข้าแย่งชิงอัฏฐิธาตุของครูบาศรีวิชัย เพื่อเอาไปสักการบูชา อัฏฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมได้ได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ส่วน แบ่งไปบรรจุตามวัดต่างๆ ทั่วภาคเหนือ ดังนี้
1.วัดจามเทวี จ.ลำพูน
2.วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่
3.วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง
4.วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา
5.วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
6.วัดน้ำฮู จ.แม่ฮ่องสอน
7.วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จ.ลำพูน

กล่าวได้ว่าครูบาศรีวิชัยนั้นเป็นแบบอย่างของพระพัฒนาที่สร้างคุณูปการต่อชาวล้านนาเป็นอย่างมาก แม้ครูบาศรีวิชัย ได้มรณภาพมานานกว่า 80 ปีแล้ว ทว่าชื่อเสียง และคุณงามความดีที่ท่านได้มอบให้แก่คนรุ่นหลังจะยังคงอยู่ควบคู่กับเมืองและชาวล้านนาตลอดไป

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : จักรพงษ์ คำบุญเรือง
เว็บไซต์ : th.wikipedia.org, www.dharma-gateway.com
ภาพจาก : www.silpa-mag.com, palungjit.org, www.phuttha.com, www.sarakadee.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น