ความเชื่อในการสร้าง “เฮือน” ของคนล้านนา

มีคำในภาษาเหนือที่ใช้เรียกคนของหมู่บ้านที่เกิดจากการกวาดต้อนเชลยมาว่า “ข้าปลายหอกงาช้าง” อันหมายถึงคนที่ถูกกองทัพกวาดต้อนมาตั้งถิ่นฐานใหม่ ในสมัยพระเจ้ากาวิละแห่งนครลำปางขับไล่พม่าออกไป เข้ายึดครองเชียงใหม่และก่อตั้งหมู่บ้านในเขตรอบนอกเมืองขึ้นเพื่อให้ชาวไทเขิน ไทลื้อ ไทใหญ่ และชนเผ่าต่าง ๆ ได้เข้ามาเป็นไพร่พลเมือง ในการตั้งบ้านเรือนของชาวล้านนา เรื่องสำคัญประการหนึ่งนอกจากการอิงแอบวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมแล้ว ชาวล้านนาจะมีความรู้ในการหาแหล่งน้ำเพื่อใช้กิน ดังนั้นเราจะพบว่าเกือบทุกบ้านของชาวล้านนาจะมีการขุดบ่อน้ำเพื่อใช้ในการบริโภค

การสร้างบ้านเรือนของคนล้านนานอกจากจะสัมพันธ์กับธรรมชาติ การเกษตรและวิถีชีวิตผู้คนแล้ว ยังเกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อในการสร้างบ้านซึ่งมีอยู่ทุกท้องถิ่น แต่ละแห่งมีพิธีการ ความคิด ความเชื่อถือมีทั้งเหมือนกันและแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อต่อพระ เจ้า ผีสาง เทวดา แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แผ่นดิน สายน้ำ ทางลม ฯลฯ ซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของชาวบ้านอย่างแนบแน่น เมื่อจะกระทำสิ่งใดที่เห็นว่าสำคัญกับความสุขความเจริญ ก็ต้องหาอุบายมาปัดเป่าหรือป้องกัน

การปลูกบ้านเรือนของคนสมัยโบราณ จะคำนึงถึงความร่มเย็นเป็นสุข ความเป็นสิริมงคลและมีโชคลาภแก่เจ้าของบ้าน ครอบครัวตลอดจนข้าทาสบริวารอย่างยืนยาวต่อไป จึงต้องมีคติความเชื่อเหล่านั้นเจือปนเป็นพิธีอยู่ด้วยจนกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมา คติความเชื่อในการสร้างบ้านของชาวล้านนาที่สืบทอดปฏิบัติมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ เมื่อเริ่มต้นจะสร้างเรือนจะต้องหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกบ้านให้ตรงตามตำราดูลักษณะที่ดิน โดยดูถึงความสูงต่ำของรดับดินบริเวณปลูกสร้าง รูปทรงที่ดิน ตลอดจนเนื้อที่ทั้งหมดรวมทั้งสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ

สำหรับชาวล้านนาก่อนจะปลูกเรือน จะต้องดูฤกษ์เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเชื่อกันว่า หากปลูกเรือนใน “มื้อจั๋น วันดี” คือฤกษ์ที่เหมาะสมแล้วผู้อาศัยย่อมมีความสุขความเจริญ นอกจากนั้นยังครอบคลุมถึงการเข้าป่าไปหาไม้มาทำเสาเรือน อีกด้วย ตามคติโบราณการเข้าป่าตัดไม้ทำเสาจะกำหนดช่วงเวลาที่เป็นมงคลเอาไว้ว่าควรจะตัดไม้ในเดือนใด เมื่อตัดแล้ว หากไม้ล้มไปในทิศใดก็จะมีข้อความทำนายว่าควรจะนำมาทำเป็นเสาเรือนหรือไม่ และหากไม้ไปพาดกับต้นไม้อื่น จะไม่นำไม้นั้นมาสร้างเรือน

พิธีเสี่ยงทายในการตั้งบ้านใหม่ เพื่อหาบริเวณปลูกเรือนที่เป็นมงคล โดยวิธีเสี่ยงทายใช้ใบฝาแป้ง 8 ใบ ห่อของ 8 อย่าง จัดพานข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน นำไปยังสถานที่สร้างบ้าน แล้วเสี่ยงทายจับห่อสิ่งของ 1 ห่อ เมื่อทำพิธีในบริเวณนั้นได้ห่อที่ไม่ดีก็จะย้ายไปเสี่ยงทาย ในที่อื่น สิ่งของเสี่ยงทายนั้นเป็นของที่มีสัญลักษณ์ทั้งสิ้น และมีความหมายถึงการดำเนินชีวิตภายหลังจากเข้าไปอยู่ในเรือนที่ปลูกสร้างเสร็จแล้ว

นอกจากนี้ยังมีคติความเชื่อในเรื่องพิธีขุดหลุมเสาเรือน ว่าจะต้องทำพิธีขอที่ดินกับพญานาคก่อนเพราะมีความเชื่อกันว่า พญานาคเป็นสัตว์มีอิทธิฤทธิ์เป็นเจ้าแผ่นดิน จะอำนวยความสุขหรือภัยพิบัติให้มนุษย์ได้ ฉะนั้นก่อนที่จะทำการอันเป็นมงคลเกี่ยวกับการสร้างบ้าน ปลูกเรือน จะต้องบูชาเซ่นสรวงผู้เป็นเจ้าเสียก่อน ในพิธีปกเฮือน จะทำกันตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่จะลงมือปลูกบ้าน โดยสล่าหรืออาจารย์จะเป็นผู้ทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่เพื่อให้การสร้างบ้านลุล่วงไปด้วยดี นอกจากนั้นยังมีพิธีทำขวัญเสามงคลและพิธีฝังเสามงคล โดยจะให้คนที่มีชื่อ “แก้ว คำ เงิน ทอง มั่น แก่น” มาเป็นผู้ช่วยในการหามเสาและยกเสาลงหลุม เพื่อจะได้เป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้าน ก่อนที่จะหาใบเต๊า ใบหนุน ใบตัน มารองทุกหลุม เพื่อเป็นคติในการจะช่วยค้ำจุนให้บ้านเรือนหลังนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป

คติทางเหนือถือว่า ถ้าสร้างบ้านที่สมบูรณ์แล้ว ในบริเวณบ้านจะต้องประกอบไปด้วย บ่อน้ำ ยุ้งข้าว (หลองข้าว) ครกกระเดื่องและครัวไฟ การแบ่งส่วนใช้สอยในบ้านไม่ว่าจะเป็นเรือนประเภทใด จะต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญ อาทิ เติ๋น ซึ่งเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ ฮ้านน้ำ
จะอยู่มุมใกล้บันไดหรือใกล้ครัว ระเบียงทางเดิน ส่วนใหญ่มักจะเปิดโล่งตามแนวยาวขวางกับจั่วเรือนซึ่งทางเหนือจะถือเอาด้านที่มีจั่วเรือนเป็นด้านสำคัญจะเห็นได้ว่าคติความเชื่อในการสร้างเรือนของชาวล้านนานั้น นอกจากจะบ่งบอกถึงความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวแล้ว ยังผสมผสานกับสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติรวมถึงสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในแต่ละท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนอีกด้วย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น