จะไปย่ะ! มัน “ขึด” ความเชื่อ ที่เป็นข้อห้ามของชาวล้านนา

สังคมล้านนามีความเชื่อเกี่ยวกับกระทำทั้งจากกระทำด้วยตนเองหรือมีผู้กระทำให้เรา จนได้รับความเดือดร้อน เจ็บไข้ได้ป่วย ความเชื่อเหล่านี้ถูกสั่งสมมาตั้งแต่อดีตเนื่องจากในอดีตสังคมล้านนายังเป็นสังคมที่ต้องพึ่งพาตนเอง ไม่ได้เป็นสังคมแบบทุนนิยมดังปัจจุบัน ทำให้ความเชื่อในอดีตเป็นสิ่งที่ทำให้คนในสังคมล้านนาต้องปฏิบัติตามซึ่งเป็นกฎและกติกาที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อไม่ให้สังคมรวมไปถึงตัวเราเองประสบกับความพังพินาศความเชื่อที่เป็นข้อห้ามการกระทำนี้คนล้านนาเรียกว่า “ขึ้ด” หากคนล้านนาได้ยินคำว่า “ขึด” พวกเขาจะหยุดกระทำทันที

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ได้รวมรวมความเชื่อที่ชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นอัปมงคล หรือที่เรียกเป็นภาษาพื้นเมืองว่า “ขึด” ซึ่งจะมีอะไรบ้าง ทางเชียงใหม่นิวส์ได้ยกมาให้ได้อ่านกัน

ในที่นี้จะขอเล่าเรื่องขึดในวิถีชีวิตคนล้านนาพอสังเขป เพื่อให้เข้าใจว่าวิถีชีวิตคนล้านนามีการสร้างสรรค์ กฎ กติกา ข้อห้ามโดยใช้ความเชื่อปรามผู้คนมิให้กระทำในสิ่งที่ผิดหรือเสี่ยงต่ออันตรายในชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น

ผู้หญิงตั้งครรภ์

คำว่า “ขึด” เป็นสิ่งที่ผู้คนล้านนาได้สังเกตต่อๆ กันมาว่า การกระทำในสิ่งที่เป็นอาถรรพ์ เสนียด จัญไร อัปมงคล การกระทำนั้นๆ ย่อมทำความเสียหายเริ่มตั้งแต่การกระทำที่ตนเอง เช่น แม่มานนั่งหัวขั้นไดมันขึด หมายความว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์หากนั่งหัวบันไดด้านบนซึ่งเป็นที่สูงถือว่าขึด (เพราะอาจเป็นอันตรายหากลุกขึ้นแล้วอาจพลัดตกบันได)

ผู้ใดม้างกระแสถือว่า “ขึด” หมายความว่า ผู้ใดก็ตามถ้าขุดสายน้ำใหม่เปลี่ยนย้ายสายน้ำลำเหมืองที่ใช้กันมานานนมมักฉิบหาย (เพราะผู้ที่ได้เคยใช้สายน้ำเดิมต้องลำบากไม่มีสายน้ำลำเหมืองใช้อีกต่อไป)

ตรีโอด คือ ปกก๊างจ้อ (ช่อ) ปกก๊างตุง แขวนโคมไฟในบ้านหอเรีอน เอาตุงสืบปล๋ายไม้ ตี้ (ที่) กล่าวมานี้ขึดนักมักฉิบหาย (จากลัทธิพิธีกรรมวัดสันป่าเลียง น.18-19) แปลเอาความว่า “หากใครทำค้างช่อ (ธงสามเหลี่ยม) ทำค้างตุง แขวนโคมไฟไว้ในหอ/บ้านเรือน หรือเอาตุงแขวนไว้ที่ปลายกิ่งไม้” ที่กล่าวมานี้ถือว่าขึดหรืออาถรรพ์ หรือเสนียดจัญไร (เพราะอาจทำให้กีดขวางหรืออาจทำให้เกิดไฟไหม้บ้าน) ดังนั้นคำว่า “ขึด” จึงเป็นสิ่งที่ผู้คนเกรงกลัวไม่กล้ากระทำในสิ่งที่เรียกว่า “ขึด”

เรือนของคนล้านนา

อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมาหลายๆ อย่างจากผู้ที่ไม่ใส่ใจหรือไม่นับถือในข้อห้ามมักมีอันเป็นไปต่างๆนานาตามที่ขึดกล่าวไว้จากการศึกษา และเก็บข้อมูลของผู้เขียนพบว่า

-การเปลี่ยนสายน้ำหรือขุดลำเหมืองใหม่แทนลำเหมืองเก่า ผู้ที่ขุดกลายเป็นบ้า และหายสาบสูญทุกวันนี้ ผู้ที่รู้ข่าวกล่าวกันว่ามัน “ขึด”

-การแขวนตุงแดงน้าร้านขายอาหารแห่งหนึ่ง ขายได้ไม่ถึงหนึ่งปีร้านต้องเซ้ง และผู้ที่เซ้งต่อก็ล้มเป็นรายๆไปนับแล้วสี่รายติดต่อกัน ทั้งๆที่เป็นร้านที่ทำเลเหมาะที่สุดมีผู้คนอยู่รายล้อมมากที่สุด ปรากฏการณ์ดังกล่าวผู้ที่รู้กล่าวกันว่ามัน “ขึด”

สิ่งที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของขึด อาจเป็นความบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้ผู้คนกล่าวกันว่าขึด ด้วยเหตุที่ว่าขึดนี้ยังมีสิ่งที่ต้องศึกษาอีกมาก จึงนำเสนอมาเพื่อให้ท่านนักปราชญ์หรือท่านที่เชี่ยวชาญได้ขยายความรู้หรือเผยแพร่สิ่งที่ท่านได้ศึกษาเพื่อให้สังคมได้รับทราบกันอย่างกว้างขวางต่อไป

ลำเหมือง

แต่ที่แน่ๆ คือคำว่า “ขึด” เป็นข้อปรามผู้คนล้านนามิให้กระทำในสิ่งที่เลวร้าย อันจะมีผลเสียต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคมที่ตนเองมีส่วนร่วมอยู่

โดยสรุปแล้ว “ขึด” เป็นความเชื่อเกี่ยวกับข้อห้ามของการกระทำของคนล้านนา หากมีผู้ใดบอกว่า “ขึด” คนล้านนาจะรีบหยุดการกระทำนั้นทันทีเพราะมันเป็นสิ่งไม่ดีจะ ชิบหายหรือเป็นอาถรรพ์สิ่งชั่วร้าย ดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นเช่น เรื่องผู้หญิ่งตั้งครรภ์ไม่ควรนั่งบนหัวบันไดเพราะเวลาลุกแล้วอาจจะพลาดตกบันไดทำให้ลูก และตัวเองเป็นอันตรายได้ เป็นต้น ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ขึด” ที่คนล้านนาเชื่อว่ามันไม่ดีเพราะฉะนั้นถ้าเขาบอกว่ามัน “ขึด” ก็อย่าทำเลยเพราะมันไม่ดี

บันไดบ้านไม้

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : NIKHOM PHROMMATHEP
ภาพจาก : lovellatrendy.com, www.thaieditorial.com, www.gotoknow.org

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น