ประวัติ “เจดีย์กิ่ว” เจดีย์ขาวตระหง่านกลางเชียงใหม่

เจดีย์ในคติของคนทั่วไปนั้นควรอยู่ในวัดหรือในบริเวณที่ไม่ได้เป็นที่สัญจรไปมามากนัก วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” นำเสนอตำนานที่เล่าขานต่อกันมาของ “เจดีย์กิ่ว” หรือที่เรียกกันในภาษากลางว่า “เจดีย์ขาว”

ซึ่งสาเหตุที่เรียกว่า “เจดีย์กิ่ว” นั้นมาจากชั้นตอนกลางของเจดีย์ มีลักษณะคอดเข้าเป็นกิ่ว (กิ่ว แปลว่า คอดมาก เล็กตอนกลาง) ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวตั้งอยู่กลางถนนที่บริเวณสถานกงศุลอเมริกาใกล้เทศบาลนครเชียงใหม่ ก็จะเห็นเจดีย์ขาวตั้งเด่นอยู่กลางถนนกลายเป็นวงเวียนให้รถผ่าน อีกด้านหนึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำปิงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของเชียงใหม่

เจดีย์กิ่วในปัจจุบัน

ความเป็นมาของเจดีย์สุดแปลกนี้ไม่มีที่มาแน่ชัด มีเพียงตำนานที่ได้เล่ากันต่อมาว่า เมื่อทัพพม่ายกมาเชียงใหม่ในอดีต แม่ทัพฝ่ายข้าศึกได้มาท้าประลองการแข่งขันดำน้ำในแม่น้ำปิง หากฝ่ายไหนดำน้ำได้นานเป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายไหนแพ้ต้องตกเป็นเมืองขึ้น ให้หาตัวแทนในการแข่งขันมาภายใน 3 วัน เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงประกาศรับสมัครหาคนเป็นตัวแทนมาแข่งขันกับฝ่ายข้าศึก ในขณะที่เวลาผ่านไป 2 วันแล้ว ก็ยังไม่มีใครกล้ามาสมัครแข่งขัน เนื่องด้วยเชียงใหม่มีภูมิประเทศที่เป็นที่สูง ไม่ได้มีความใกล้ชิดกับทางแม่น้ำมากนักจึงไม่มีคนเชียงใหม่ชำนาญเรื่องทางน้ำ เจ้าเมืองจึงให้คนไปป่าวประกาศในพื้นที่รอบนอกเมืองบ้าง

รูปภาพเจดีย์กิ่วในอดีต

ในห้างนานอกเมือง มีชายคนหนึ่งที่ผู้คนต่างเรียกกันว่า “ปู่เปียง” ท่านอายุมากแล้ว เป็นคนชราที่อยู่ตัวคนเดียว ไม่มีลูกหลาน และเมื่อรู้ข่าวว่าเมืองชียงใหม่ถูกข้าศึกจากพม่าบุกและได้ท้าให้คนเมืองเชียงใหม่แข่งดำน้ำตัวแทนของทางข้าศึก ปูเปียงจึงตอบแทนคุณของบ้านเมืองโดยการขอรับอาสาเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วยตนเอง

รูปภาพเจดีย์กิ่วริมแม่น้ำปิง

และเมื่อถึงเวลากำหนดนัดหมายที่ท่าแม่น้ำปิง ตัวแทนทั้งสองฝ่ายต่างก็ดำลงไปในน้ำพร้อมกัน เวลาผ่านไปได้นานในระยะหนึ่ง ปรากฏว่าตัวแทนฝ่ายข้าศึกโผล่ขึ้นมาหายใจก่อน จึงถือว่าแพ้ในการแข่งขัน ในที่สุดทางฝ่ายข้าศึกก็ได้ยกกองทัพกลับไป ผู้คนทั่วไปก็เกิดความสงสัยว่าปู่เปียงดำน้ำเป็นเวลานานผิดปกติแต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะขึ้นมา ท่านเจ้าเมืองจึงให้คนลงไปดู ปรากฎว่า ปู่เปียง ใช้ผ้าต่อง(ผ้าขะม้า) มัดมือตนเองติดกับเสาหลักใต้น้ำจนถึงแก่ความตาย ด้วยความปลื้มปิติเจ้าเมืองเชียงใหม่จึงได้สร้างเจดีย์กิ่วขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความดีของปู่เปียงที่สละชีวิตตนปกป้องบ้านเมืองเอาไว้นั่นเอง

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : Sirithip Maneechod
ภาพจาก : library.cmu.ac.th, steemitimages.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น