“มะเมี๊ยะ” ตำนานรักอันขมขื่นของชาวล้านนา

มีใครหลายคนมากมายในปัจจุบันติดปากเรียกสาวชาวเมียนมาว่า มะเมี๊ยะ แต่เคยรู้กันหรือไม่ว่า มะเมี๊ยะ นั้นมีตัวตนจริง คือ ชื่อของหญิงสาวสามัญชน ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งเรื่องราวรักที่ขื่นขม ทรมานใจ กับ เจ้าฟ้าแห่งล้านนาผู้สูงศักดิ์ เป็นเรื่องเล่าที่อ้างอิงมาจากความจริงทุกสถานการณ์และมีตัวตนทุกคน เป็นรักที่น่าเศร้ายิ่งนัก ระหว่างมะเมี๊ยะกับเจ้าฟ้าล้านนา วันนี้จะพาคุณผู้อ่านมารู้จักกับรักแสนเศร้าครั้งนี้กันนะค่ะ

เรื่องราวตำนานครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2445 – 2505 ในขณะที่  เจ้าน้อย ศุขเกษม ราชโอรสองค์โตในเจ้าแก้วนวรัฐกับแม่เจ้าจามรีมหาเทวี แห่งนครเชียงใหม่ เมื่อครั้งอายุได้ 15 ปี ได้ถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียน เซนต์แพทริค ในเมืองมะละแหม่ง ประเทศเมียนมา เมื่อครั้งเจ้านายน้อยมีอายุได้ 19 ปี ก็ได้ออกเดินเที่ยวในตลาดและสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เจ้านายน้อย ได้เจอกับ มะเมี๊ยะ หญิงสาวชาวเมียนมา ซึ่งเป็นแม่ค้าขายบุหรี่ สาวน้อยวัยเพียง 15 ปี และเมื่อได้เจอกันทั้งคู่ก็เหมือนรักแรกพบตกหลุมรักซึ่งกันและกัน และคบกันมาจนได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา โดยทั้งสองได้สาบานต่อกัน ณ ลานหน้าพระธาตุใจ้ตะหลั่นว่า จะรักกันตลอดไปและจะไม่ทอดทิ้งกันและกัน หากผู้ใดทรยศต่อความรักที่มีให้กัน ก็ขอให้ผู้นั้นอายุสั้น

เมื่อเจ้านายน้อยอายุได้ 20 ปี เป็นเวลาที่ต้องกลับนครเชียงใหม่ จึงแอบพามะเมี๊ยะกลับมาด้วย และเมื่อทั้งคู่กลับมา นครเชียงใหม่ เจ้านายน้อย จึงได้รู้ว่าตนได้ถูกหมั้นหมายกับหญิงอื่นไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อรู้เช่นนั้นเจ้านายน้อยจึงได้เล่าเรื่องมะเมี๊ยะ ให้กับพระบิดา และพระมารดาฟัง แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะช่วงนั้นประเทศเมียนมา ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ที่กำลังมีคดีความกับสยามอยู่ มะเมี๊ยะจึงได้ถูกส่งตัวกลับประเทศเมียนมาทันที  เมื่อถึงวันที่มะเมียะต้องเดินทางกลับ ดูบรรยากาศเหมือนกับว่าเป็นการจากลากันชั่วนิรันดร์ เจ้านายน้อย พูดภาษาเมียนมากับมะเมี๊ยะได้เพียงไม่กี่คำ มะเมี๊ยะก็ร่ำไห้โศรกเศร้าด้วยความอัดอั้นตันใจในอ้อมแขนที่ยากจะแยกกันได้ เจ้านายน้อย ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะกลับไปหามะเมี๊ยะให้ได้ นางจึงคุกเข่าลงกับพื้นก้มหน้าและเช็ดเท้าให้นายน้อยผู้ซึ่งเป็นสามี ด้วยความอาลัยก่อนที่นางจะลุกขึ้นหันหลังกลับประเทศไป

วันเวลาผ่านไป มะเมี๊ยะ ได้แต่เฝ้ารอคอยเจ้านายน้อยผู้ซึ่งเป็นสามี ซึ่งเชื่อมั่นในคำสัญญา แต่เวลาผ่านไปนานเข้าๆก็ไร้วี่แววใดๆ ไม่มีแม้สัญญาณเพียงเล็กน้อยให้ มะเมี๊ยะได้ชื่นใจ นางจึงตัดสินใจครองตนเป็นแม่ชี เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ว่านางยังคงซื่อสัตย์ ต่อความรักที่มีต่อเจ้านายน้อยจากนครเชียงใหม่ผู้ซึ่งเป็นสามี ผ่านไประยะเวลาหนึ่ง เจ้านายน้อย ได้แต่งงานกับ เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ หญิงสูงศักดิ์ เมื่อทราบข่าวแม่ชีมะเมี๊ยะจึงเดินทางมายังเมืองเชียงใหม่ และขอเข้าพบเจ้านายน้อย เป็นครั้งสุดท้าย แต่เจ้านายน้อยไม่สามารถหักห้ามความสงสารที่มีต่อแม่ชีมะเมี๊ยะได้ จึงเลือกที่จะไม่ลงไปหาแม่ชีมะเมี๊ยะตามคำขอ เพียงแต่มอบหมายให้พี่เลี้ยงคนสนิทนำถุงเงินไปให้ 1 กำปั่น ไปมอบให้กับแม่ชีมะเมี๊ยะเพื่อเป็นเงินในการทำบุญ พร้อมกับมอบแหวนทับทิมประจำกายอีกวงหนึ่งเพื่อเป็นตัวแทนของเจ้านายน้อยให้แก่แม่ชีมะเมี๊ยะเก็บไว้  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความสะเทือนใจให้กับทั้งคู่อย่างหาที่สุดไม่ได้ เจ้านายน้อยที่ต้องทำตามกฎบ้านกฎเมือง ไม่สามารถอยู่คู่ครองเรือนกับหญิงสาวชาวเมียนมาได้ เพราะอาจจะทำให้บ้านเมืองต้องมีปัญหาหากสยามรู้เข้า เจ้านายน้อยคิดเพียงต้องทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อคนหมู่มาก มิใช่เพียงความสุขส่วนตนแม้ว่าจะเจ็บปวดเพียงใดก็ต้องอดทน ผ่านไปไม่นานเจ้านายน้อยกินเหล้าอย่างหนัก บ่นถึงแต่เรื่องที่ไปอยู่พม่าที่ได้อยู่ฉันสามีภรรยากับมะเมี๊ยะ เจ้านายน้อยไม่เคยลืมเลย จนวันๆกินแต่เหล้าไม่กินข้าวกินอาหารและตรอมใจสิ้นชีพิตักษัยในไม่กี่ปีต่อมานับจากวันที่ตัดขาดกับแม่ชีมะเมี๊ยะด้วยโรคเส้นประสาทพิการเรื้อรัง ส่วนทางด้านแม่ชีมะเมี๊ยะ ได้ครองบวชเป็นแม่ชี จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2505 รวมอายุได้ 75 ปี

ปล. “ประตูหายยา” ที่เจ้าน้อยศุขเกษมไปส่งมะเมี๊ยะ และชาวเมืองเชียงใหม่จำนวนมากไปเฝ้ารอดูว่าเธอสวยเพียงใดนั้นเป็นเรื่องผิดวิสัย ตามความเชื่อของคนเชียงใหม่ ประตูหายยาเป็น “ประตูผี” สำหรับส่งศพออกนอกเมือง ยิ่งเป็นการเดินทางไปเมืองมะละแหม่ง ควรเลือกใช้ “ประตูท่าแพ” เพื่อลงเรือแม่ปะตามแม่น้ำปิงไปเมืองระแหง แล้วเปลี่ยนไปใช้ทางบก ใช้ช้างเดินทางไปด่านแม่สอดสู่เมืองมะละแหม่ง เนื่องจากเป็นเส้นทางที่สะดวกทที่สุดในตอนนั้น (นักวิชาการท้องถิ่นบางคนสันนิษฐานว่าการเดินทางของมะเมี๊ยะ ใช้เส้นทางจากสันป่าตองสู่บ้านกาด ถึงเมืองวินต่อไปที่แม่นาจรจนถึงขุนยวมแล้วลงเรือบ้านต่อแพเพื่อออกแม่น้ำสาละวิน)

อ้างอิงข้อมูลจาก:  :  – th.wikipedia.org และ www.pantip.com

จัดทำโดย:นักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ (วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน)

ร่วมแสดงความคิดเห็น