“ตำนานพระเจ้าพรหม” วีรบุรุษของโยนกล้านนา

พระเจ้าพรหม เป็นชื่อที่เรียกขานของ “วีรบุรุษในตำนาน” ของอาณาจักรโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น (หรือโยนกล้านนา) ก่อนที่จะรวมอยู่ในอาณาจักรล้านนา เป็นที่อยู่ของอำเภอเชียงแสนในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีหลักฐานว่ามีตัวตนจริง แต่ประวัติศาสตร์ฉบับ “ล้าหลัง-คลั่งชาติ” เชื่อว่าพระองค์มีตัวตนอยู่จริง และได้ให้ความสำคัญว่าเป็น “มหาราช” องค์แรกในประวัติศาสตร์ไทย

และในวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ขอนำเสนอประวัติความเป็นมาและวีรกรรมของกษัตริย์ที่ได้ชื่ิอว่า “มหาราช” องค์แรกแห่งล้านนารวมถึงประวัติศาสตร์ไทยด้วย

ในเอกสารของ วัน วลิต, ตาชาต และลาลูแบร์ ที่ได้บันทึกไว้ทำให้รู้ว่าชาวพระนครศรีอยุธยาจำนวนหนึ่ง พวกเขาก็มีความเชื่อว่าพระเจ้าพรหมเป็น “ปฐมบรมกษัตริย์” ของพวกเขามานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

รูปปั้นจำลองของพระเจ้าพรหม

ในตำนานสิงหนติกุมาร กล่าวว่า ภายหลังจากพระองค์พังคราชเสียเมืองให้พระยาขอม และถูกขับไปเป็นแก่บ้านเวียงสี่ทวง จึงต้องส่งส่วยให้พระยาขอมเป็นทองคำปีละ 4 ทวงหมากพินน้อย และมีโอรสองค์แรกชื่อ ทุกขิตะกุมาร

ต่อมาได้มีสามเณรชาวเวียงสี่ทวง เดินเข้ามาบิณฑบาตรในคุ้มหลวงของพระยาขอม เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น เมื่อพระยาขอมเห็น จึงถามว่ามาจากไหน เมื่อได้ทราบว่าเป็นชาวสี่ทวงจึงสั่งให้ไล่สามเณรออกไป สามเณรจึงรู้สึกโกรธและเดินออกจากเมืองทันทีเพื่อขึ้นไปยังพระธาตุดอยกู่แก้ว แล้วเจาะบาตรใส่หัวถวายข้าวให้พระธาตุ จากนั้นอธิษฐานขอให้ตัวเองได้เกิดเป็นลูกของพระองค์พังคราช และได้ปราบพวกขอมให้พ่ายแพ้ไป เสร็จแล้วจึงลงไปที่ตีนดอยกู่แก้วนั่งใต้ต้นไม้อดอาหาร 7 วันจนมรณภาพ และจึงไปเกิดเป็นลูกคนที่ 2 ของพระองค์พังราช ชื่อ พรหมกุมาร

เมื่อพรหมกุมารอายุได้ 13 ปี เทวดาได้มาเข้าฝันว่า พรุ่งนี้ให้ไปที่แม่น้ำโขง จะมีช้างเผือก 3 ตัวล่องตามน้ำมา จับได้ตัวแรกจะปราบได้ทวีปทั้ง 4 จับได้ตัวที่สองจะปราบได้ชมพูทวีป จับได้ตัวที่สามจะปราบพวกขอมดำได้ พรหมกุมารพร้อมกับบริวาร 50 คนจึงไปแม่น้ำโขง เห็นมีงูสองตัวล่องมาตามน้ำแล้วผ่านไป เมื่อเห็นงูตัวที่สาม พรหมกุมารจึงสั่งให้จับงูตัวนั้น งูก็พลันกลับร่างเป็นช้าง แต่ไม่ยอมขึ้นฝั่ง พระองค์พังคราชจึงเอาทองคำพันหนึ่งตีเป็นพาน (หรือ ปาน คือเครื่องดนตรีล้านนาชนิดหนึ่ง) แล้วให้ทุกขิตะกุมารผู้เป็นพี่นำมาส่งให้พรหมกุมารตี เมื่อช้างได้ยินเสียงพานคำจึงเดินตามเสียงพานคำ จึงได้ให้ชื่อช้างตัวนั้นว่า ช้างพานคำ และทำการขุดคูเมืองรวมถึงปรับปรุงกำแพงและประตูเมือง แล้วเปลี่ยนชื่อเวียงสี่ทวงเป็น เวียงพานคำ และทำการซ่องสุมผู้คน พร้อมทั้งทูลบิดาว่าให้เลิกการส่งส่วยแก่ขอม

การใช้ช้างเป็นพาหนะในการเดินทางในอดีต

เมื่อพระยาขอมทราบจึงยกทัพมาสู้กันที่ทุ่งสันทราย พรหมกุมารขี่ช้างพานคำต่อสู้ ในที่สุดก็ได้รับชัยชนะ ไล่ตามตีกองทัพพระยาขอมจนแตก ชิงเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นกลับคืนมาได้ และถวายเมืองคืนพระองค์พังคราช เมื่อเสร็จศึกแล้ว พรหมกุมารได้เดินทางกลับเวียงพานคำ เมื่อลงจากหลังช้างพานคำ ช้างพานคำได้หนีออกจากเมืองและกลับร่างเป็นงูเช่นเดิม แล้วเลื้อยหายเขาไปในดอยแห่งหนึ่ง ภายหลังเรียกชื่อดอยนั้นว่า ดอยช้างงู ต่อมาชาวอาข่าเรียกเพี้ยนเป็น “ดอยสะโง้” (ปัจจุบันอยู่ที่ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย)

ภาพแสดงบริเวณที่เคยเป็นอาณาจักรโยนกเชียงแสน

พระองค์พังคราชจะตั้งให้พรหมกุมารเป็นอุปราช แต่พรหมกุมารปฏิเสธ และยกให้ทุกขิตะกุมารผู้เป็นพี่เป็นแทน พระองค์พังคราชได้จัดการสู่ขอนางแก้วสุภา ลูกพญาเรือนแก้ว เจ้าเมืองเวียงไชยนารายณ์เมืองมูล ให้กับพระองค์พรหมราช พระองค์พรหมราชได้กลัวว่าจะมีข้าศึกมาอีก จึงไปสร้างเมืองใหม่ คือ เวียงไชยปราการ ครองราชย์ในเวียงไชยปราการได้ 77 ปี ก็สิ้นพระชนม์ไปในปี พ.ศ.1732 จากนั้นพระองค์ไชยสิริ พระโอรสได้ครองเวียงไชยปราการต่อมา แต่ถูกเมืองสุธรรมวดีเข้ามาคุกคาม พระองค์ไชยสิริจึงพาชาวเมืองอพยพลงไปทางใต้ตั้งเมืองที่เมืองกำแพงเพชรในที่สุด

สถาปัตย์กรรมโยนกล้านนาที่หลงเหลือในวัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย

อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์หลายท่านได้ให้ความเห็นว่าพระเจ้าพรหมมหาราชไม่น่าจะมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่เป็นการแต่งขึ้นเพื่อ “สร้าง” วีรบุรุษของแคว้นโยนก และได้นำพระพรหม ซึ่งเป็นเทพที่ชวยกอบกู้โลกของศาสนาฮินดูมาเป็นตัวแทนวีรบุรุษของตนเอง เพื่อความเป็นมหาราชเหนือกษัตริย์ของอาณาจักรอื่น ๆ นั่นเอง

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : th.wikipedia.org, www.huglanna.com
ภาพจาก : sites.google.com, www.runwaythailand.com, w.pantip.com, www.photoontour.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น