งูสวัด หรือที่ภาษาเหนือเรียกว่า “มะเฮ็ง” ร้ายแรงถึงตายได้จริงหรือ

มีใครรู้จักโรคงูสวัดกันบ้างคะ งูสวัดในภาษาเหนือเรียกว่า “มะเฮ็ง” ถ้าได้ยินคนเฒ่าคนแก่คุยกันอย่าพึ่งตกใจไปค่ะ เพราะงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ หรือไวรัส VZV (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส คนที่จะเป็นงูสวัดได้ต้องเป็นคนที่ผ่านการเป็นอีสุกอีใสมาก่อนเพราะเชื้อไวรัสจะหลบซ่อนอยู่ตามประสาทใต้ผิวหนังหลังจากเป็นอีสุกอีใส และแฝงตัวอย่างสงบเป็นเวลานานหลายปี รอจนร่างกายของเราอ่อนแอมันจึงจะบุกจู่โจม งูสวัดจะมีอาการเหมือนไข้หวัดคือปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือเจ็บแสบร้อนบริเวณผิวหนัง หลังจากนั้นจะเริ่มมีผื่นลักษณะแดง คัน เป็นทางยาวตามแนวประสาทของร่างกายซึ่งมีลักษณะคล้ายงู จึงเรียกว่า “โรคงูสวัด” แต่บางคนก็เป็นนิดเดียว จะพบบริเวณลำตัวมากที่สุด กลุ่มเสี่ยงโรคงูสวัดโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาทางด้านระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ใช้การรักษาด้วยยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ หรือผู้ที่อยู่ในช่วงการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีวิทยาหรือเคมีบำบัด เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าคนปกติ แต่คนปกติสามารถเป็ดงูสวัดหากร่างกายอ่อนแอมาก ๆ

งูสวัดถือว่าเป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัส โดยระยะที่สามารถติดต่อได้คือระยะที่เป็นตุ่มน้ำใส หรือตกสะเก็ดนั่นเอง ส่วนคนที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนหากสัมผัสกับคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคงูสวัส คนที่สัมผัสจะเป็นโรคอีสุกอีใสก่อนนั่นเอง

งูสวัดสามารถรักษาได้โดยแพทย์จะใช้ยาต้านไวรัสเพื่อเร่งกระบวนการการหายของโรคและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน นอกจากนี้แพทย์อาจใช้ยาลดอาการปวด เช่น ยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาทาบางชนิด และยาต้านไวรัสชนิดทานเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดที่รุนแรงของงูสวัด

เคยได้ยินกันหรือไม่คะหากงูสวัดพันรอบตัวคนสามารถตายได้ แท้จริงแล้วโรคงูสวัดไม่ใช่โรคร้ายแรงที่จะทำให้คนป่วยตายได้ เพราะผื่นของโรคงูสวัดนั้นจะไม่สามารถพันรอบตัวคนได้ เนื่องจากเส้นประสาทของมนุษย์จะสิ้นสุดบริเวณกึ่งกลางลำตัว ดังนั้นคนธรรมดาที่มีภูมิต้านทานปกติงูสวัดจะไม่ลุกลามเกินแนวกึ่งกลางลำตัวไปอีกซีกหนึ่งของร่างกายได้แน่นอนค่ะ

สุดท้ายนี้เรามีคำแนะนำสำหรับการป้องกันโรคงูสวัดดังนี้ค่ะ

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ
  2. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
  3. ออกกำลังกายเป็นประจำ
  4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผื่นในผู้ป่วยที่เป็นงูสวัด โดยเฉพาะคนไข้ที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใส
  5. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด และสำหรับคนที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสจะไม่มีทางเป็นงูสวัดแน่นอนค่ะ อย่าลืมรักษาร่างกายตนเองให้แข็งแรงนะคะ

ร่วมแสดงความคิดเห็น