โลกที่ไม่มีความรุนแรงของน้องสมาย ภาพวาดหนึ่งในสามภาพของเยาวชนจากโครงการพัฒนาฯ แม่ระมาด จังหวัดตาก

น้องพลกฤต (สมาย) นักเรียนชั้นม. 5 โรงเรียนบ้านแม่จะเราวิทยาคม  หนึ่งในเจ้าของผลงานภาพวาด “โลกที่ไม่มีความรุนแรง” ภาพวาดหนึ่งในสามภาพของเยาวชนจากโครงการพัฒนาฯ แม่ระมาด จังหวัดตาก* ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการผลงานภาพวาดร่วมกับเยาวชนทั่วประเทศจากโครงการพัฒนาฯ ของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย  ในกิจกรรมโครงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก  เปิดใจถึงแนวคิดที่มาของภาพชื่อ “โลกที่ไม่มีความรุนแรง” ว่าโลกของเรามีทั้งขาวและดำ มีทั้งคนดีและคนไม่ดี   แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ มนุษย์ทุกคนต้องมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีสิทธิ์ในการกระทำความรุนแรงต่อคนอื่น

ยังมีภาพวาดจำนวนมากที่ร่วมจัดแสดงในนิทรรศการ “เราทุกคนต้องช่วยกันยุติความรุนแรงต่อเด็ก”  กิจกรรมโครงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก หนึ่งในจำนวนนั้น คือ ภาพวาดผลงานชื่อ “อุดมสมบูรณ์” แนวคิด เมื่อไม่มีความรุนแรงโลกของเราจะเปลี่ยนแปลงเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์    และภาพวาดผลงานชื่อ “ห่างไกล” แนวคิด ความสุขของเด็กๆ และของทุกคนจะเกิดขึ้น หากโลกใบนี้ห่างไกลจากการกระทำรุนแรงต่อกัน

ในปี พ.ศ. 2558 มีรายงานอย่างเป็นทางการโดยกระทรวงสาธารณสุขว่า เด็กไทยถูกกระทำรุนแรงและเข้ารับความช่วยเหลือศูนย์พึ่งได้เฉลี่ยวันละกว่า 30 คน ในจำนวนนี้เป็นความรุนแรงต่อเด็กด้วยการทำร้ายร่างกาย 2,470 คน ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นต่อเด็ก 6,740 คน และความรุนแรงต่อเด็กในรูปแบบอื่นๆ อีก 1,502 คน การกระทำรุนแรงต่อเด็กนับเป็นปัญหาหลักด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน  มูลนิธิศุภนิมิตฯ จึงได้รณรงค์และระดมความร่วมมือจากองค์กรร่วมพันธกิจทุกหน่วยงานทั่วโลก ร่วมกันสร้างความอยู่ดีมีสุขให้เกิดกับชีวิตของเด็กทุกคน รวมถึงการทำโครงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก (End Violence Against Children: EVAC) เพื่อยุติความรุนแรงทางด้านร่างกายและจิตใจต่อเด็กภายในครอบครัว

โครงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก (EVAC- East Asia Project) เป็นโครงการที่ช่วยสร้างความตระหนักแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องให้หันมาใส่ใจ และช่วยกันป้องกันความรุนแรงต่อเด็ก สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อส่งเสริมการสร้างระบบการปกป้องคุ้มครองเด็กในชุมชน  เด็กและเยาวชนในครอบครัวที่มีความเปราะบาง (อายุ 12-24 ปี) จะได้รับการดูแลและป้องกันจากทารุณกรรม การถูกทอดทิ้ง การถูกแสวงประโยชน์ และการกระทำในรูปแบบอื่นๆ ที่เป็นความรุนแรงรวมถึงการค้าเด็กทั้งในครอบครัว และชุมชนเป้าหมาย   นายเฉลิมรัตน์ ชัยประเสริฐ (พี่ชา) ผู้ประสานงานโครงการยุติความรุนแรงต่อเด็กประเทศไทย อธิบายว่า โครงการฯ ดำเนินงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ในพื้นที่สามจังหวัด ได้แก่ อำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย และอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว

น้อง“สมาย”  ประธานเยาวชนศุภนิมิตฯ จังหวัดตาก พิธีกรเยาวชนในกิจกรรมโครงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก ณ หอประชุมโรงเรียนบ้านแม่จะเราวิทยาคม  และยังรั้งตำแหน่งรองประธานสภานักเรียนโรงเรียนฯ บอกว่าเขารู้สึกดีใจที่ได้ร่วมกิจกรรมฯ อยากให้ความรุนแรงหมดไปจากโลกใบนี้

“หนูรู้สึกดีใจค่ะที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้เพราะกิจกรรมมีประโยชน์ต่อโรงเรียน ชุมชน และประเทศ อยากให้มาอบรมอีกค่ะ”  รุ่งนภา ลือศักดิ์คงมั่ง

ไม่แตกต่างจากนักเรียนชั้น ม.1/1 และชั้น ม.2/1 จำนวน 42 คนที่ได้ร่วมกิจกรรมฯ และให้เสียงสะท้อนว่า กิจกรรมให้ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก การยุติความรุนแรงต่อเด็ก เด็กนักเรียนจะนำความรู้ที่ได้รับในวันนี้ไปบอกต่อ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน  เป็นกิจกรรมที่ดีช่วยเสริมสร้างทักษะและยังได้ทราบว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่ให้ความช่วยตนเองได้

#เราทุกคนต้องช่วยกันยุติความรุนแรงต่อเด็ก# ศุภนิมิตเพื่อเด็กอยู่ดีมีสุข

ร่วมแสดงความคิดเห็น