“ทิพจักราธิวงศ์” ประวัติราชวงศ์เจ้าเชื้อเจ็ดตนที่คนล้านนาควรรู้

ทำความรู้จักพระราชวงศ์ทิพยจักรธิวงศ์

พระราชวงศ์ทิพจักราธิวงศ์ หรือ ราชวงศ์เจ้าเชื้อเจ็ดตน หรือ ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน อันเป็นต้นตระกูล ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน และ ณ ลำปาง ในปัจจุบัน

และในวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” อยากให้ผู้อ่านทุกท่านได้รู้จักพระราชวงศ์ทิพยจักรธิวงศ์ซึ่งนั่นเอง โดยเราจะพูดถึงประวัติและต้นกำเนิดของเจ้าเชื้อเจ็ดตนดังต่อไปนี้

พระเจ้ากาวิละพระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์อินทรสุรศักดิ์

ราชวงศ์นี้ถูกสถาปนาขึ้นในปลายสมัยอยุธยา ซึ่งมีต้นตระกูลคือ “หนานทิพย์ช้าง” โดยมีเชื้อราชวงศ์คนสุดท้ายคือ “เจ้าแก้วนวรัฐ” ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่คนสุดท้ายนั่นเอง โดยเราจะพูดถึงประวัติและต้นกำเนิดของ “เจ้าเชื้อเจ็ดตน” หรือ “พระราชวงศ์ทิพจักราธิวงศ์”

“พระราชวงศ์ทิพจักราธิวงศ์” ได้รับการสถาปนาขึ้นในปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แห่งพระนครกรุงศรีอยุธยา โดย “หนานทิพช้าง” ควาญช้างและพรานป่าผู้มีความสามารถ ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองนครลำปาง มีพระนามว่า “พระเจ้าทิพจักรสุลวฤๅไชยสงคราม” (พระญาสุลวฤๅไชยสงคราม)

การปกครองช่วงต้นของราชวงศ์ทิพจักราธิวงศ์

นครลำปางถือเป็นนครรัฐอิสระ ใน ปี พ.ศ.2275 เมื่อพระเจ้าทิพจักรสุลวฤๅไชยสงครามเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว พระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ได้ขึ้นครองนครต่อมา ซึ่งในห้วงดังกล่าวนครลำปางมีฐานะเป็นประเทศราชของพม่า โดยพระเจ้ากรุงอังวะ ได้โปรดฯ สถาปนาพระอิสริยยศให้เป็น เจ้าฟ้าสิงหราชธานีหลวงชายแก้ว, เจ้าฟ้าหลวงนครลำปาง

“เจ้ากาวิละ” เจ้าผู้ครองนครลำปาง พระโอรสพระองค์ใหญ่ของ เจ้าฟ้าสิงหราชธานีหลวงชายแก้ว ได้ร่วมกับพระอนุชาทั้ง 6 พระองค์ และ “พระยาจ่าบ้าน” ขุนนางนครเชียงใหม่ กอบกู้ล้านนาภายใต้การสนับสนุนทัพหลวงของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ในปี (พ.ศ. 2317) ซึ่งในครั้งนั้นได้โปรดฯ ให้ “เจ้าพระยาจักรี(ร.1)”และ “เจ้าพระยาสุรสีห์ (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท)” ยกกองทัพไปช่วยปราบพม่า เมื่อยึดนครเชียงใหม่และนครลำปางได้แล้ว จึงโปรดฯ ให้ “พระยาจ่าบ้าน” ครองนครเชียงใหม่ และ “เจ้ากาวิละ” ครองนครลำปาง ในการรบครั้งนั้น “เจ้าพระยาสุรสีห์ (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท)” ได้พบรักกับ “เจ้าฟ้านางหลวงศรีอโนชา” พระขนิษฐาของเจ้ากาวิละ และได้ทูลขอจาก เจ้าฟ้าสิงหราชธานีหลวงชายแก้ว ซึ่งต่อมา เจ้าหญิงศรีอโนชา ได้สร้างวีรกรรมสำคัญยิ่งในการปกป้องพระนครจากพระยาสรรค์ ซึ่งก่อการกบฎต่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งขณะนั้น “เจ้าพระยาจักรี” และ “เจ้าพระยาสุรสีห์” พระสวามีติดการสงครามที่เขมร หลังจากปกป้องพระนครเสร็จ ได้ทูลเชิญเสด็จ “เจ้าพระยาจักรี” นิวัติพระนครและปราบดาภิเษกขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์พระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


“หนานทิพช้าง” หรือ “พระเจ้าทิพจักรสุลวฤๅไชยสงคราม”

ในคราเดียวกันนั้นได้โปรดฯ สถาปนา “เจ้าพระยาสุรสีห์” พระอนุชาขึ้นเป็น สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดฯให้ เจ้ากาวิละ ขึ้นครองนครเชียงใหม่ (ซึ่งขณะนั้นได้กลายเป็นเมืองร้าง เนื่องจากพม่าได้เข้ามารุกรานจน “พระยาจ่าบ้าน” ต้องพาประชาชนอพยพหนี) โปรดฯ ให้ เจ้าคำโสม พระอนุชาพระองค์ที่ 2 ขึ้นครองนครลำปาง และโปรดฯ ให้ เจ้าคำฝั้น พระอนุชาพระองค์ที่ 3 ขึ้นครองนครลำพูน ตลอดต้นรัชสมัยที่ครองนคร “เจ้ากาวิละ” ได้ร่วมกับพระอนุชาทั้ง 6 พระองค์ กระทำการสงครามเพื่อขยายขอบเขตขัณฑสีมาออกไปอย่างขจรขจาย ได้กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินจากหัวเมืองต่างๆ เพื่อนำกลับมาสร้างบ้านแปงเมือง รวมทั้งได้ทรงรื้อฟื้นโบราณราชประเพณีทุกอย่างให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนสมัย ราชวงศ์เม็งราย ครองอาณาจักรล้านนา ด้วยพระปรีชาสามารถ และความจงรักภักดีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดฯ เฉลิมพระอิสริยยศขึ้นเป็น “พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละฯ, พระเจ้านครเชียงใหม่” เป็นใหญ่ในล้านนา 57 หัวเมือง

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์กับราชวงศ์อื่นๆ

“พระราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์” ถือเป็นพระราชวงศ์ล้านนาที่เชื่อมความสัมพันธ์กับพระราชวงศ์ล้านนาอันเก่าแก่เดิม อันได้แก่ “พระราชวงศ์เม็งราย” อันมี “พระเจ้าเม็งรายมหาราช” เป็นองค์ปฐมวงศ์ และ “พระราชวงศ์เชียงแสน” อันมี “พ่อขุนงำเมือง” เป็นองค์ปฐมวงศ์ ด้วยระบบความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติ

นอกจากนั้น เจ้านายใน พระราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ ยังได้อภิเษกสมรสกับพระบรมวงศานุวงศ์ใน พระบรมราชวงศ์จักรี หลายพระองค์ พระองค์ที่มีบทบาทสำคัญได้แก่ พระอัครชายาเธอ เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา ในสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสองพระราชวงศ์ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พระราชอาณาจักรล้านนาเดิมได้เข้ารวมกับสยามประเทศอย่างสมบูรณ์

“เจ้าฟ้านางหลวงศรีอโนชา”

กล่าวโดยสรุปแล้ว “พระราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ หรือ ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน” นั้นมีความสำคัญต่ออาณาจักรล้านนาเนื่องจากก่อนหน้ามีราชวงศ์ในล้านนาที่เคยยิ่งใหญ่มาก่อนคือ ราชวงศ์มังราย นำโดยพญามังรายก่อนที่ล้านนาจะถูกพม่าปกครอง แล้วพระเจ้ากาวิละซึ่งเป็นเชื้อสายเจ้าเจ็ดตนได้มากอบกู้เมืองต่างๆในล้านนาไว้ได้ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกษัตริย์กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ จนทำให้ล้านนากับกรุงรัตนโกสินทร์มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : เพจ ตำนานพระอัครชายาเธอ เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา
ภาพจาก : www.holidaythai.com, mgronline.com และเพจ ตำนานพระอัครชายาเธอ เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น