หูอื้อ ทำหูหนวกได้

“หูอื้อ” บางคนคิดว่าเป็นไม่นานก็สามารถหายไปเองได้ จึงมักถูกปล่อยปละละเลยเพราะเห็นว่าไม่ค่อยสำคัญ แต่รู้ไหมว่ามันมี “โรคหูอื้อ” (หูอื้อไม่หาย) หากปล่อยเอาไว้นานอาจทำให้หูหนวกได้

หูอื้อคืออะไร
หูอื้อ คือ อาการที่เราได้ยินเสียงรบกวนภายในหู ทั้งเสียงแมลง เสียงลม เสียงวิ้ง สิ่งเหล่านี้จะทำให้การได้ยินของเราลดลง มีหลายคนที่เข้าใจว่าอาการหูอื้อเป็นเรื่องปกติ อย่างเช่นพอเราขึ้นดอย หูอื้อเกิดจากการเปลี่ยนของความดันอากาศ ทิ้งไว้สักพักจะหายไปเอง

โรคหูอื้อคืออะไร
โรคหูอื้อ มันจะไม่หายไปตามกาลเวลา จะคงอยู่กับเราไปตลอดเวลาทั้งตอนนอน เดิน นั่ง ออกกำลังกาย ทุกสิ่งที่เราทำจะมีหูอื้อรวมอยู่ไปด้วย

ความแตกต่างระหว่างหูอื้อและโรคหูอื้อ
หูอื้อเป็นอาการที่ใช้เวลาแป๊บๆ ก็หายไป แต่โรคหูอื้อมันไม่ใช่แค่แป๊บๆ หาย มันจะได้ยินได้ตลอดเวลา บางคนใช้ชีวิตอยู่กับโรคหูอื้อได้ง่ายๆ แต่กับบางคนที่ไม่ชินกับหูที่มีเสียงอยู่ข้างใน จะรู้สึกรำคาญเพราะเหมือนถูกรบกวนตลอดเวลา

ลักษณะเสียงที่เกิดจากหูอื้อ

  1. เสียงตามจังหวะหัวใจ อาการหูอื้อรูปแบบนี้จะได้ยินเสียงตุบๆ หรือฟู่ๆ ดังไปตามจังหวะชีพจร โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเนื้องอกในช่องหู (Glomus tumor) และความผิดปกติของหลอดเลือด เสียงหูอื้อแบบนี้ถือว่าเป็นอันตรายมาก
  2. เสียงความถี่ต่ำ เสียงที่ได้ยินในหูคือ เสียงอื้อๆ ซึ่งเป็นเสียงที่มีความถี่ต่ำมาจากการที่เกิดภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน
  3. เสียงความถี่สูง รูปแบบเสียงที่ได้ยินนั้นจะเป็นเสียงคล้ายๆ กับมีแมลงอยู่ในหู โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะเราอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงดังมากจนเกินไป เช่น บริเวณที่ทำการก่อสร้าง
  4. เสียงก้อง อาการเหมือนจะได้ยินเสียงก้องอยู่ในหูอยู่ตลอดเวลา สาเหตุเป็นเพราะมีน้ำขังอยู่ในหู เสียงแบบนี้สามารถรักษาได้ง่ายๆ
  5. เสียงลม รูปแบบของอาการจะคล้ายกันกับเสียงรูปแบบอื่น ซึ่งอาการนี้มีสาเหตุเป็นเพราะท่อความดันในหูมีความผิดปกติ อาจใช้เวลาในการรักษามาก

หูอื้อทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้
ภาวะแทรกซ้อนที่มากับหูอื้อ คือ ความวิตกกังวล ร่างกายอ่อนเพลีย เกิดความเครียดเพราะเสียงที่ได้ยิน บางทีก็มีปัญหาในเรื่องของความจำด้วย

เราสามารถรักษาอาการหูอื้อได้จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่พึ่งเป็นหูอื้อ ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

  1. พยายามเลี่ยงอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง
  2. ลดความเครียด เพราะบางทีอาการหูอื้อก็เกิดขึ้นมาได้จากความเครียด
  3. ควรหากิจกรรมใหม่ๆ ทำเพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจ

วิธีป้องกันโรคหูอื้อ

  1. หลีกเลี่ยงการฟังเสียงดังๆ เป็นเวลานาน
  2. ป้องกันตนเองไม่ให้เป็นหวัด เพราะจมูกเราเชื่อมโยงกับประสาทหู
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาใดๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  4. หลีกเลี่ยงเกลือ เพราะเกลือจะทำให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกายอ่อนแรง
  5. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  6. หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

สรุป
“หูอื้อ” มักมีอาการไม่รุนแรง แต่สร้างความรำคาญมาก บางรายที่เป็นโรคหูอื้อถึงกับนอนไม่หลับ ทำให้กระทบกับสุขภาพส่วนอื่น แต่ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุด้วย ถ้าเกิดจากเนื้องอกประสาท (Glomus tumor) หรือโรคมะเร็ง ก็จะส่งผลเป็นโรคที่รุนแรงได้ แต่สาเหตุนี้พบได้น้อยกว่าสาเหตุอื่นๆ และคนที่เป็นโรคหูอื้อเมื่อแก่ชรามา อาจเสี่ยงเป็นโรคหูหนวก ยังไงหูก็ถือเป็นอวัยวะส่วนแรกๆ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เราเป็นตัวอ่อน การใช้หูเป็นเวลาที่ยาวนานย่อมเกิดความเสื่อมขึ้นได้ และความเสื่อมที่หูแสดงออกมาคือการเกิดเสียงดังรบกวนในหู เราสามารถป้องกันให้หูเสื่อมช้าลงด้วยวิธีหลีกเลี่ยงไปสถานที่ที่เปิดเสียงดังๆ ถ้าหากกังวลว่าเราจะเป็นโรคหูอื้อไหม แนะนำให้เข้าพบแพทย์ก่อนที่มันจะสายดีกว่า

ร่วมแสดงความคิดเห็น