ปราสาทพนมรุ้ง อดีตความรุ่งเรืองแห่งอาณาจักรขอม

บริเวณดินแดนที่ราบลุ่มอีสาน เป็นพื้นที่ราบกว้างที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม เมื่อเวลาเดินทางไปยังภาคอีสานในฤดูทำนาเราจะสังเกตุเห็นริมสองข้างทางจะเป็นทุ่งนากว้างสีเขียวขจีกินอาณาบริเวณครอบคลุมหลายจังหวัด ว่ากันว่าพื้นที่ลุ่มเหล่านี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำแห่งดินแดนอีสาน

นอกเหนือจากที่ดินแดนอีสานจะมีพื้นที่ราบเหมาะแก่การทำเกษตรกรรมแล้ว ศิลปะวัฒนธรรมและโบราณสถานของคนสมัยเก่าที่ก่อกำเนิดขึ้นในดินแดนอีสานยังเป็นเอกลักษณ์และมีประวัติศาสตร์ที่สำคัญมายาวนาน โดยเฉพาะปราสาทหินต่าง ๆ ที่เรามักจะพบเห็น
มากมายในยามที่มาเยือนดินแดนแห่งนี้ ปราสาทหินพนมรุ้งก็เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญมีประวัติการก่อสร้างที่น่าสนใจแห่งหนึ่งในดินแดนอีสานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรขอมที่เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูมาก่อน

ในการเดินทางมาเยือนปราสาทหินพนมรุ้งครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งที่สองที่มีโอกาสมาประทับความทรงจำและย้อนรำลึกถึงอดีตครั้งแรกที่มาเยือนเมื่อราว 5 ปีก่อน ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด มีอายุการ
ก่อสร้างและใช้เป็นเทวสถานต่อเนื่องกันมาหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 เรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 17 กระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นพุทธศาสนาลัทธิมหายาน

ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นโบราณสถานในศิลปะเขมรที่มีความสวยงามยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในประเทสไทย ปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้งซึ่งเคยเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ยอดเขาแห่งนี้สูงประมาณ 200 เมตร คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นคำในภาษาเขมรแปลว่า “ภูเขาใหญ่” ปราสาทพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสซึ่งเป็นที่ประทับของพระศิวะ กลุ่มปราสาทพนมรุ้งจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธานบนยอดอันเปรียบเสมือนวิมานที่ประทับของพระศิวะ องค์ประกอบและแผนผังของปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นแนวเส้นตรงและเน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลางนั่นคือ ปราสาทประธาน ทางด้านขวาของบันไดทางขึ้นสู่ศาสนสถานมีอาคารที่เรียกว่า “พลับพลาเปลื้องเครื่อง” ซึ่งเป็นที่พักจัดเตรียมพระองค์ของกษัตริย์ก่อนเสด็จเข้าสักการะเทพเจ้า บริเวณทางเดินที่จะเข้าไปยังตัวปราสาทประธานจะมีเสาคล้ายดอกบัวตูมเรียกว่า “เสานางเรียง” จำนวนข้างละ 34 ต้นทอดตัวไปยังสะพานนาคราชซึ่งมีผังรูปกากบาทยกพื้นสูง

ทางเดินนี้เปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์ บริเวณสะพานนาคราชที่จุดกึ่งกลางมีภาพจำหลักรูปดอกบัว 8 กลีบซึ่งหมายถึงเทพประจำทิศทั้ง 8 ในศาสนาฮินดูหรืออาจเป็นยันต์สำหรับการบวงสรวง ที่ราวสะพานนาคราชจะทำเป็นตัวพญานาค 5 เศียรหันหน้าไปในทิศต่าง ๆ สุดสะพานนาคราชจะเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาทซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะรวม 5 ชั้น เมื่อขึ้นมาถึงบนลานกว้างจะมีทางนำไปสู่สะพานนาคราช อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานขั้นในของปราสาท ที่หน้าบันของระเบียงคดทิศตะวันออกด้านนอกมีภาพจำหลักรูปฤาษีซึ่งน่าจะหมายถึง พระศิวะในปางที่เป็นผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บและอาจจะหมายรวมถึง นเรนทราทิตย์ ผู้ก่อสร้างปราสาทประธานพนมรุ้งด้วย

เมื่อเดินผ่านทางเข้าก็จะถึงปรางค์ประธานซึ่งก่อด้วยหินทรายสีชมพูมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตรัสย่อมุมมณฑป ที่ฐานด้านล่างของกรอบเสาจะสลักด้วยลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภาพฤาษี เทพประจำทิศและภาพตามความเชื่อทางศาสนาต่าง ๆ ปราสาทประธานนี้เชื่อว่าสร้างโดยนเรนทราทิตย์ซึ่งเป็นผู้นำปกครองชุมชนที่มีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง ภายในเรือนธาตุตรงกึ่งกลาง เรียกว่า “ห้องครรภคฤหะ” เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุด เชื่อว่าในที่นี้คือศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์พระศิวะ เป็นที่น่าเสียดายว่าประติมากรรมชิ้นนี้ได้สูญหายไปเหลืออยู่เพียงท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวลึงค์เท่านั้น ที่บริเวณหน้าบันและทับหลังของปราสาทประธานมีภาพจำหลักแสดงเรื่องราวในศาสนาฮินดู เช่น พระศิวนาฏราช (ทรงฟ้อนรำ) เรียกว่า “นารายณ์บรรทมสินธุ์” ซึ่งถือเป็นโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าที่สุดของปราสาทหินพนมรุ้ง ครั้งหนึ่งเคยถูกขโมยไปก่อนที่กรมศิลปากร
และกระทรวงการต่างประเทศของไทยจะขอคืนมาจากพิพิธภัณฑ์ในนครชิคาโก

ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง โดยวิธิอนัสติโลซิส คือรื้อของเดิมลงมาโดยทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรงแล้วนำชิ้นส่วนที่รื้อรวมทั้งที่พังลงมากลับไปก่อใหม่ในที่เดิมด้วยวิธีการสมัยใหม่ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียน ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นโบราณสถานของชาติในปี พ.ศ.2478 และได้ทำการบูรณะตั้งแต่ปีพ.ศ.2514 จนแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ.2531

ประสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ที่บ้านตาเป็ก อำเภอ เฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ 77 กม. ปราสาทแห่งนี้ยังเป็นปราสาทหินทรายที่มีอายุเก่าแก่ราว 900 ปี ปัจจุบันปราสาทหินพนมรุ้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อมากที่สุดของจังหวัดบุรีรัมย์ ทุก ๆ ปีทางจังหวัดบุรีรัมย์ได้จัดประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ซึ่งชาวบ้านรอบ ๆ จะพากันขึ้นไปสักการะนมัสการปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลองและไหว้พระทำบุญที่วัดบนเขาพนมรุ้งทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เนื่องจากปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นโบราณสถานที่ยิ่งใหญ่สวยงามและเป็นประเพณีมาแต่เดิมอยู่ก่อนแล้ว ทางจังหวัดจึงได้ส่งเสริมให้มีการจัดงานในวันเสาร์ – อาทิตย์แรกของเดือนเมษายนของทุกปี เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมเก่าแก่ มีการจัดขบวนแห่ราชประเพณีโบราณ งานโฮปบายดินเนอร์ การแสดงแสง สี เสียงย้อนรอยอดีตพนมรุ้งและการแสดงระเบิดภูเขาไฟจำลอง

นักท่องเที่ยวที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 1 จังหวัดนครราชสีมา โทรศัพท์ 0-4421-3666, 0-4421-3030

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น