ความกลัวกับโรคกลัวต่างกันอย่างไร ?

เคยได้ยินไหมกับคำพูดที่ว่า “แค่นี้…อย่าทำเป็นกลัวไปเลยน่า” หรือ “กระแดะไปหรือเปล่า…แค่นี้ทำกลัว” บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่า ทำไมคนๆหนึ่งถึงได้กลัวสิ่งหนึ่งหรือเหตุการณ์บางอย่างได้มากขนาดนี้ จนทำให้คนรอบข้างมองว่าแปลกประหลาดหรือเสแสร้ง

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะเล่าให้คุณฟังว่าความกลัวกับโรคกลัวนั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร

ความกลัวคืออะไร ?
“ความกลัว” เป็นสัญชาตญาณที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตรอดอยู่ได้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในมนุษย์แทบทุกคน เพราะเมื่อเกิดความกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวความสูง กลัวสัตว์ร้าย หรือกลัวคนแปลกหน้า มนุษย์จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัวนั้น ซึ่งเท่ากับลดโอกาสที่จะเกิดอันตรายกับตัวเองลง

แต่ถ้าหากมนุษย์เกิดความกลัวจนทำให้เป็นทุกข์มาก ทำให้เสียงานเสียการ และทำให้เกิดพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ในกรณีนี้ถือว่าเป็น “โรคกลัว (Phobia)” ซึ่งจัดเป็นความผิดปกติทางจิตเวชอย่างหนึ่ง

โรคกลัวคืออะไร ?
“โรคกลัว (Phobia)” เป็นโรคทางจิตเวช ที่จัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะมีความกลัวที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ไม่สมเหตุสมผล เมื่อได้เผชิญกับสิ่งหรือสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกกลัว จะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ยอมเผชิญกับสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัว

โรคกลัวเกิดจากอะไร ?
เกิดจากประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อสิ่งนั้น โดยอาจจะเห็นคนใกล้ชิดกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก่อน หรือทราบอันตรายจากการบอกเล่าจากบุคคลใกล้ชิด รวมถึงผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติทางบุคลิกภาพและการปรับตัว เช่น เป็นเด็กขี้อาย หรือแยกตัว

อาการของโรคกลัว
ใจสั่น หายใจลำบาก วิงเวียนศีรษะ เหงื่อออก มือสั่น และเป็นลม โดยอาการดังกล่าวต้องเกิดขึ้นซ้ำๆ กันเป็นเวลานานอย่างน้อย 6 เดือน โดยความกลัวจะเกิดกับวัตถุ กิจกรรม หรือสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ และก่อให้เกิดความตึงเครียด หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

โรคกลัว (Phobia) มี 3 กลุ่ม คือ

1.กลัวที่ชุมชน หรือกลัวที่โล่ง (Agoraphobia)
บางคนที่เป็นโรคกลัวชนิดนี้จะกลัวการติดอยู่ในสถานที่สาธารณะ หรือสถานที่อย่างเช่น สะพาน หรือคิวต่อแถวที่ธนาคาร ความกลัวที่แท้จริงของโรคกลัวประเภทนี้คือการที่กลัวว่าจะไม่สามารถที่จะหลบหนีออกไปจากสถานที่นั้นๆ ได้ “ผู้หญิง” มีโอกาสเป็น Agoraphobia มากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษา ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อาจจะออกจากบ้านไม่ได้อีกเลย โดย 9 ใน 10 คน ที่ได้รับการรักษาจะมีอาการดีขึ้น

2.กลัวการเข้าสังคม (Social phobia)
เนื่องจากว่าโรคกลัวการเข้าสังคมมักจะนำไปสู่การหลีกเลี่ยงการติดต่อทางสังคม จึงทำให้โรคกลัวประเภทนี้มีผลกระทบด้านลบที่รุนแรงต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่นและชีวิตในการทำงานของผู้ป่วยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องความสัมพันธ์ เรื่องครอบครัว หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตในสังคม เป็นการกลัวสถานการณ์บางอย่างโดยเฉพาะ เช่น กลัวการรับประทานอาหารหรือพูดในที่ชุมชน กลัวเมื่อต้องพูดคุยทักทายกับผู้อาวุโสกว่า หรือ ผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า ฯลฯ

3.กลัววัตถุ กิจกรรม หรือสถานการณ์อื่นๆ อย่างเฉพาะเจาะจง (Specific phobia/Simple phobia) เป็นความกลัวที่สามารถพบได้บ่อยๆ เช่น โรคกลัวสัตว์ (Zoophobia) โรคกลัวเลือด (Hemophobia) โรคกลัวเสียงดัง (Acousticophobia) และ โรคกลัวความมืด (Achluophobia)

คนที่เป็นโรคนี้จะไม่สามารถขึ้นลิฟท์หรือเข้าอุโมงค์ได้โดยปราศจากความวิตกกังวลอย่างหนัก เพราะผู้ป่วยกลัวความอึดอัดและการติดอยู่ในที่ที่ทำให้ออกไปไหนไม่ได้ผู้ที่เป็นโรคนี้จะหลีกเลี่ยงพื้นที่คับแคบ และมักจะมี “พฤติกรรมมองหาความปลอดภัย” เช่น เปิดหน้าต่าง หรือนั่งใกล้ทางออก พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้สถานการณ์นั้นพอทนได้ แต่ก็ไม่ได้บรรเทาความกลัว

การรักษา
เป้าหมายของการรักษา โรคกลัว คือ การช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนความคิด คลายความวิตกกังวล และเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา เพื่อลดความกลัวต่างๆ ด้วยตนเอง อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งวิธีการรักษาโรคกลัว ที่ได้ผลดี คือ การทำพฤติกรรมบำบัดโดยใช้เทคนิค exposure therapy โดยการให้เผชิญกับความกลัวทีละน้อย จนกระทั่งสามารถเผชิญกับความกลัวได้โดยไม่มีอาการอีกต่อไป ร่วมกับการใช้ยาคลายวิตกกังวลช่วยในช่วงแรกของการรักษา

ข้อมูล : bumrungrad.com, honestdocs.co, pantip.com/topic

ร่วมแสดงความคิดเห็น