เปิดประตูสู่การท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เวียงแหง

กระแสแห่งการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมกำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ในจังหวัดเชียงใหม่ของเรามีแหล่งท่องเที่ยวประเภทนี้เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งสามารถเข้าไปสัมผัสภาพของวิถีชีวิตกลุ่มชน วัฒนธรรมอันหลากหลาย
รวมถึงธรรมชาติป่าเขาอันแสนงามแต่ที่บริเวณรอยต่อระหว่างอำเภอเชียงดาวกับชายแดนของประเทศพม่าเขตอำเภอเวียงแหง กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่นักเดินทางเคยเข้าไปเยือนเมืองเวียงแหงแล้วกลับออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมืองเวียงแหงแห่งนี้เป็นเมืองที่เงียบสงบวิถีชีวิตของผู้คนดำเนินไปอย่างเรียบง่ายภายใต้โอบกอดของขุนเขาและธรรมชาติ


จากการที่เมืองเวียงแหงเป็นเมืองที่ติดชายแดนประเทศพม่าจึงทำให้มีชนกลุ่มน้อยหลายเผ่าพันธุ์เข้ามาอาศัยอยู่ บางส่วนก็ได้อพยพเข้ามาจากต่างถิ่น ในจำนวนนี้มีกลุ่มชาวเขาที่อาศัยไปมาระหว่างแนวเขาประเทศไทยกับพม่า ซึ่งแต่ละชนเผ่าก็มีประเพณีวัฒนธรรมที่
เป็นเอกลักษณ์ของตนเองความโดดเด่นของอำเภอเวียงแหง นอกจากมีธรรมชาติที่สวยงามแวดล้อมแล้ว วัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่า โดยเฉพาะชาวไทใหญ่ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มชนที่มีจำนวนมากที่สุดนั้นกลายเป็นจุดขายที่สำคัญของเวียงแหงและสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนปีละจำนวนมาก นอกจากนั้นอำเภอเวียงแหงยังเป็นประตูเข้าออกที่สามารถเดินทางผ่านไปยังประเทศพม่าทางจุดผ่อนปรนช่องหลักแต่ง ซึ่งถ้าหากได้รับการพัฒนาให้ดีมีการจัดการที่เป็นระบบเชื่อแน่ว่านี่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
ประวัติศาสตร์ของการสร้างเมืองเวียงแหงนั้นมีตำนานเล่าขานมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลว่า เมื่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้จาริกเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิจนมาถึงเชิงดอยลูกหนึ่งชื่อว่า “ดอยห้วยผักกูด” และได้พักแรมอยู่ที่นั่น 1 คืน พอรุ่งเช้าได้มีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง
ได้นำข้าวปลาอาหารพร้อมแตงโมมาถวายสาวกของพระพุทธเจ้า ในระหว่างที่กำลังเสวยแตงโมอยู่นั้นพระทนต์ (ฟัน) ก็กระเทาะออกมา (คำว่า “กระเทาะ” หรือ “แตก” นั้นภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “แหง”) สาวกของพระพุทธเจ้าจึงได้เอาฟันที่กระเทาะวางไว้ที่นั่น แล้วจึงทรงตั้งชื่อเมืองแห่งนี้ว่า “เมืองแหง” หลังจากที่ได้ฉันแตงโมเสร็จก็โยนเปลือกแตงโมลงที่ห้วยผักกูดและกลายเป็นลำห้วยชื่อว่า “แม่แตง” ในปัจจุบัน

หลังจากชื่อของเวียงแหงเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองที่อยู่ติดชายแดนประเทศอันวัฒนธรรมของชนเผ่าที่น่าสนใจมากที่สุด จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้พยายามเปิดเมือง
แห่งนี้ออกสู่สายตาคนภายนอกรวมถึงทิศทางในการส่งเสริมให้มีสถานที่ท่องเที่ยวของเชียงใหม่นั้นดูจะสอดคล้องกับการเปิดแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของอำเภอเวียงแหงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะวัฒนธรรมของกลุ่มชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในอำเภอเวียงแหงจึงก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรมอันทรงคุณค่าเหล่านี้จึงเป็นหน้าตาของเวียงแหงที่จะเผยแพร่ออกไปสู่สายตาของนักท่องเที่ยวอันเป็นการพัฒนาเมืองและเปิดประตูเวียงแหงสู่โลกภายนอกมากยิ่งขึ้น

เมื่อใครที่เดินทางมาเยือนเวียงแหง นอกจากจะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่าแล้ว เมืองเวียงแหงยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกที่หนึ่ง ซึ่งใครที่มาเยือนเวียงแหงแล้วไม่ได้มานมัสการพระบรมธาตุแสนไหก็ยังนับว่ามาไม่ถึงเวียงแหง
พระบรมธาตุแสนไหเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่เมืองเวียงแหงมาช้านาน ตำนานการสร้างพระบรมธาตุแสนไหนั้นเล่าสืบต่อกันมาว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงเสวยแตงโมที่ชาวกะเหรี่ยง (ยาง) นำมาถวายแล้ว พระทนต์ (ฟัน) ก็ได้กะเทาะออกมา พระองค์จึงได้มอบฟันที่กระเทาะนั้นให้อุบาสกอุบาสิกาชาวกะเหรี่ยงเพื่อเป็นทาน แล้วจึงนำพระทนต์นั้นไปบรรจุก่อเป็นสถูปไว้บนยอดเขาแห่งนั้น ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุแสนไหในสมัยของพระยาเจตบุตร เจ้าเมืองเมืองแหง ได้เกิดอิทธฤทธิ์ปาฏิหารย์แก่องค์พระธาตุขึ้นเมื่อมีแสงรัศมีแผ่สว่างไปทั่วบริเวณนั้น ชาวกะเหรี่ยงจึงได้นำความไปกราบทูลให้พระยาเจตบุตรทราบ พระองค์ก็ทรงเป็นปิติล้นพ้น จึงได้พาเหล่าเสนาทหารไปนมัสการกราบไหว้สักการะบูชาพร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานขอชมอภินิหารอีกครั้ง พอตกกลางคืนพระบรมธาตุก็เกิดปาฏิหารย์เช่นเดิมโดยมีแสงรัศมีรุ่งโรจน์สว่าวไสว เมื่อพระยาเจตบุตรเห็นเช่นนั้นก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงประกาศให้ประชาชนชาวเมืองร่วมใจกันก่อสร้างพระบรมธาตุขึ้น จากตำนานดัง
กล่าวยังกล่าวว่า ภายใต้ภูเขาที่ประดิษฐานพระบรมธาตุนั้นมีถ้ำซึ่งภายในมีทรัพย์สมบัติอันมีค่ามหาศาลนับประมาณมูลค่าได้ถึงแสนไห ดังนั้นพระบรมธาตุแห่งนี้จึงชื่อว่า “พระบรมธาตุแสนไห” พระบรมธาตุแห่งนี้ผ่านการบูรณะมาแล้วหลายยุคหลายสมัย โดยครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นปีแห่งกาญจนาภิเษกเนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงครองราชสมบัติเป็นปีที่ 50 ประชาชนชาวเวียงแหงร่วมกับข้าราชการและพระสงฆ์จึงได้ทำการบูรณะองค์พระบรมธาตุขึ้นครั้งใหญ่ โดยการหุ้มทองจังโกทั้งองค์การที่เมืองเวียงแหงเป็นเมืองที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติป่าเขาและมีชนกลุ่มต่าง ๆ อาศัยอยู่นั้น จึงได้รับการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายและกลมกลืน ที่สำคัญอำเภอเวียงแหงยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมายซ้อนเร้นอยู่เพื่อรอคอยให้นักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนได้ค้นหา

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น