ฮู้จักก่อ? “ป้อค้างัวต่าง” กองคาราวานพ่อค้าในอดีต

ในยุคปัจจุบันนั้น การส่งสินค้าเป็นไปอย่างง่ายดายเพียงเรากดสั่งสินค้าออนไลน์เพียงปลายนิ้ว สินค้าก็จะเดินทางโดย “ยนตรกรรม” (ยานพาหนะสมัยใหม่) เช่น รถยนต์ รถไฟ มอเตอร์ไซค์ รวมไปถึงเครื่องบิน ทำให้การค้าขายนั้นเป็นไปได้โดยง่ายดาย ซึ่งทำให้บทบาทของ “พ่อค้าวัวต่าง” ซึ่งเคยเป็นคนสำคัญในการส่งสินค้าลดน้อยหายไปในที่สุด

“เชียงใหม่นิวส์” อยากให้คุณได้รำลึกถึงบรรยากาศ และภาพเก่าๆ ในวันวาน ซึ่งในปัจจุบันนั้นได้จางหายไปในสังคมที่มีการโดยสารแบบใหม่ที่สะดวกรวดเร็วทันควัน หรือหากใครไม่เคยพบเจอกองคาราวานวัวต่าง เราได้ยกมาให้คุณได้อ่านแล้วดังต่อไปนี้

พ่อค้าวัวต่างในขณะกำลังเตรียมสินค้า

“พ่อค้าวัวต่าง” ก็คือชาวนาชาวไร่นี่เอง ซึ่งพวกเขาจะเดินทางเพื่อทำการค้าขายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยจะนำสินค้าที่ผลิตได้ในท้องถิ่นของตนออกเดินทางไปตามเมืองต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับพ่อค้าเมืองอื่นๆ ที่มีผลผลิตที่ต่างกันออกไปเพื่อความหลากหลายทางสินค้าดังเช่นคำที่ว่า “แลกผักแลกปลา” แต่สินค้าที่สำคัญที่สุดนั่นคือ “เกลือ” ซึ่งเป็นสิ่งที่หายาก และมีราคาที่สูงเพราะในบริเวณภาคเหนือมีบ่อเกลือสินเธาว์อยู่เพียงที่จังหวัดน่านเท่านั้น

การเกิดขึ้นของ “พ่อค้าวัวต่าง” นั้นเป็นผลมาจากสภาพทางภูมิศาสตร์ของภูเขาสูงของล้านนา ชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ราบระหว่างหุบเขาจึงก่อตัวเป็นแว่นแคว้นแยกออกจากกัน การเดินทางติดต่อระหว่างแว่นแคว้นจึงเป็นเรื่องยาก การจะแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างพื้นที่ใดๆ จึงต้องอาศัยพ่อค้าวัวต่าง หรือพ่อค้าม้าต่างเป็นคนกลางในการแลกเปลี่ยน

กองคาราวานพ่อค้าวัวต่าง

ในขบวนวัวต่าง จะมี “พ่อเลี้ยง” หนึ่งคนเป็นหัวหน้าขบวนวัวต่าง ซึ่งจะคุมวัวประมาณ 20 ตัว เดินทางไปตามเมืองต่างๆ และอาจจะมีพ่อค้าอื่นๆ มาสมทบตามรายทางด้วย นอกเหนือจากพ่อค้าวัวต่างในพื้นที่ล้านนาแล้วยังมี พ่อค้าวัวต่างชาวไทใหญ่ ชาวฮ่อ ที่ทำการค้าวัวต่าง ม้าต่างด้วยเช่นกัน โดยมากจะเดินทางมาจากแถบพม่า จีน ในขบวนวัวต่างจะมีวัวที่บรรทุก “พางลาง” ที่ทำจากโลหะ (ลักษณะรูปร่างคล้ายระฆัง แบนแคบมีหูร้อย)

การใช้ “พางลาง” คงพัฒนามาจากการใช้กระดิ่งแขวนคอวัวควาย แต่เสียงกระดิ่งจะแหลมเล็กเหมือนกัน จนไม่สามารถแยกสัญญาณได้ว่า เสียงที่ดังนั้นเป็นฝูง วัว, ควาย ของตนหรือไม่ ซึ่งการทำให้เสียงดังและเสียงใหญ่จำเป็นต้องทำโพรงเหล็ก กว้าง มีลูกตีใหญ่ ทว่า “พางลาง” มีขนาดใหญ่เกินไปนั้นทำให้ไม่เหมาะที่จะใช้ผูกคอสัตว์จึงได้นำมาวางบนหลังสัตว์แทนชาวบ้าน และชาวเขามักนิยมใช้ “พางลาง” ต่างบนหลังวัว, ม้า, ลา และ ล่อ ในขณะต่างสิ่งของประเภท ข้าว, ผัก, ผลไม้ และ เนื้อสัตว์ เพื่อนำไปกินเองหรือไปขาย

กองคารานวานพ่อค้าวัวต่างขณะเดินทางบนถนน

หนทางที่สัตว์เดินในระยะทางไกลเป็นกองคาราวาน อาจมีป่าไม้ ภูเขาสลับซับซ้อนทำให้หลงทางแตกกระบวนได้ง่าย เสียงสัญญาณของ “พางลาง” จะทำหน้าที่บอกทิศทาง ให้คนเดินคุมกระบวนตามหลังมาติดตาม และบอกสัญญาณต่อขบวนวัวต่างกลุ่มอื่นๆ ที่สวนทางมาเพื่อป้องกันการเหตุอุบัติเหตุได้ถูกต้อง

เมื่อเข้าสู่ยุคที่มีการพัฒนาการคมนาคม ได้มีการตัดถนนเชื่อมระหว่างท้องถิ่นหนึ่งไปสู่ท้องถิ่นอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งการเข้ามาของยานพาหนะสมัยใหม่ เช่น รถยนต์ รถไฟ ทำให้การค้าขายระหว่างท้องถิ่นเป็นไปได้โดยง่ายดาย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้คนกลางอย่าง “พ่อค้าวัวต่าง” บทบาทของพ่อค้าวัวต่างจึงลดน้อยลง และเลือนหายไปจากสังคมล้านนาในที่สุด

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลและภาพจาก : เพจ เรื่องเล่าชาวล้านนา

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น