(มีคลิป) เห็บในหู !!! อันตรายใกล้ตัว ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่ก็เกิดขึ้นได้ พร้อมแนะนำจัดการกับเห็บอย่างไร ให้อยู่หมัด

จากเฟซบุ๊กแฟนเพจ คลินิกหมอจารึก หู คอ จมูก ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอ เห็บเข้าไปอยู่ในหูของคน เห็บก็คือ ศัตรูตัวร้ายกาจของน้องหมาสัตว์เลี้ยงของคนนั่นเอง แต่หากเราเลี้ยงน้องหมาไม่ถูกวิธี เจ้าเห็บ นี้ก็ยังสามารถกลายมาเป็นศัตรู ทำอันตรายให้กับคนได้อีกด้วย

จากในคลิป คือ เห็บตัวเมีย ตัวอ้วนๆ ที่อาศัยอยู่ในหูเกาะกินเลือดจนตัวอ้วนอุดปิดรูหู ซึ่งเห็บชนิดนี้ จะเกาะแน่นฝังเขี้ยวเข้าไปในเนื้อ ทำให้มีอาการปวดมาก ซึ่งในคลิปช่วงหลัก จะแสดงให้เห็นว่าเมื่อดึงออกมาแล้ว จะมีชิ้นเนื้อในหูของคนติดออกมาด้วย

ผศ.นพ.จารึก หาญประเสริฐพงษ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยคณบดี คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีนี้โอกาสที่จะเป็นมีไม่มาก ไม่ต้องกังวล คนไข้ที่เข้ามารับการรักษามีทุกเดือน แต่ไม่ใช่จำนวนมาก โดยคนไข้จะเข้ามาด้วยอาการปวดในหู แล้วจะรู้สึกเหมือนมีอะไรดิ้นอยู่ในช่องหู แต่ก็ยังได้ยินสียงเป็นปกติอยู่ วิธีการที่ทำได้ คือ การกำจัดด้วยการหยดน้ำมันให้ตัวเห็บตาย แล้วรีบไปหาหมอเฉพาะทางหู คอ จมูก เพื่อกำจัด นำเห็บนั้นออกมาอย่างเร่งด่วน ซึ่งโอกาสที่คนไข้จะเป็นกรณีนี้ มีไม่บ่อยแต่ก็เกิดขึ้นได้

ปัจจุบันมีผู้นิยมเลี้ยงสุนัขกันอย่างมาก เรื่องนี้ หากเลี้ยงอย่างถูกต้องและกำจัดเห็บหมัดอย่างถูกวิธี ก็ไม่ต้องกังวล ผศ.สพญ.ดร.ศรุดา ติวะนันทกร ภาควิชาชีวศาสตร์ทางสัตว แพทย์และสัตวแพทย์สาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ปลายปีที่แล้ว มีข่าวรายงานการพบเห็บสุนัขในรูหูของผู้ใหญ่และเด็กอยู่หลายครั้ง คงทำให้หลายคนขยาด และอาจถึงขั้นรังเกียจน้องหมากันเลยก็ได้

จริงๆแล้วไม่เฉพาะสุนัขหรือแมว สัตว์เลี้ยงเกือบทุกชนิดก็ติดเห็บได้เช่นกัน ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเลือดอุ่นและสัตว์เลือดเย็นเช่น เต่า งู เป็นต้น หมอขอใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาส ที่จะทำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงใส่ใจ และให้ความสำคัญกับการจัดการกับเห็บอย่างจริงจังกันสักที การเลี้ยงดูน้องหมาในปัจจุบัน จะเลี้ยงแบบตามมีตามเกิดคงไม่ได้แล้ว

เห็บในสัตว์เลี้ยงมีหลายชนิด หลายสายพันธุ์ ความสำคัญหรือการก่อโรคของเห็บคือ เห็บจะขึ้นตัวสุนัขหรือตัวคนเพื่อดูดเลือด ถ้าติดเห็บจำนวนมาก สุนัขอาจเกิดภาวะโลหิตจางได้ นอกจากนั้น สุนัขบางตัวอาจมีอาการแพ้น้ำลาย คัน เกา เกิดผิวหนังอักเสบตามมา และที่สำคัญที่สุดคงจะเป็นบทบาทของเห็บ ในการเป็นพาหะนำโรคพยาธิเม็ดเลือดของสุนัขหลายชนิด นระหว่างที่เห็บกำลังดูดเลือด และยังอาจนำเชื้อริกเก็ตเซียบางชนิดสู่คนได้

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับเห็บกัน ครั้งนี้หมอขอจำกัดขอบเขตเล่าเฉพาะเห็บสุนัขกันก่อน เห็บสุนัขเป็นหนึ่งในปรสิตภายนอก หรือตัวเบียนที่สำคัญตัวหนึ่งในสุนัข ดูดกินเลือดสุนัขเป็นอาหาร แต่ถ้าไม่มีสุนัข ก็สามารถกินเลือดสัตว์ชนิดอื่น(รวมถึงคน)เพื่อการมีชีวิตอยู่และสืบพันธุ์ได้ ในชีวิตของเห็บมีอยู่ 4 ระยะได้แก่ ไข่ ตัวอ่อน ตัวกลางวัย และตัวเต็มวัยตัวผู้และเมีย ตามลำดับ เราจะพบเห็บทั้งระยะตัวเต็มวัย ตัวอ่อน และตัวกลางวัยได้บนตัวสุนัขและในสิ่งแวดล้อม ส่วนไข่จะพบเฉพาะในสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เพราะฉะนั้นข่าวที่ว่าเห็บวางไข่ในรูหู น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

การจัดการเห็บในสัตว์เลี้ยงไม่ใช่เรื่องยาก หากเข้าใจวงจรชีวิตของมัน ทำไมเค้าถึงพูดว่า “ให้ยาฆ่าเห็บเฉพาะบนตัวน้องหมา ถึงไม่เพียงพอ” เรามาดูวงจรชีวิตของเห็บกันคะ ว่ามีพฤติกรรมอะไรและอยู่ที่ไหนกันบ้าง เริ่มจาก

1) เห็บตัวเต็มวัย เพศผู้และเมียบนตัวสุนัข ทั้งสองเพศดูดเลือดได้ แต่ไอ้ตัวใหญ่เหมือนเม็ดองุ่นที่เราเห็น นั่นคือตัวเมีย เห็บจะฝังปากลงไปในผิวหนังของสุนัข เห็บตัวผู้ดูดเลือดได้ครั้งละเล็กน้อย แต่ดูดหลายครั้ง ส่วนเห็บเพศเมียจะค่อยๆดูดเลือดนาน 5-7 วัน อาจมีคำ ถามว่าเกาะบนตัวนานขนาดนี้ ทำไมภุมิคุ้มกันร่างกายไม่สามารถกำจัดได้ ต้องขอบอกว่าเห็บมันเจ๋งกว่าที่เราคิด เพราะในน้ำลายมันมีสารเคมีออกฤทธิ์ต่างๆ ที่ทำให้หลีกหนีจากภูมิคุ้ม กันของร่างกายสุนัขได้ เช่น สารต้านการแข็งตัวของเลือด สารขยายหลอดเลือด สารลดอาการเจ็บ สารลดการอักเสบ สารลดการคัน เป็นต้น

หลังจากที่แม่เห็บดูดเลือดจนอิ่ม ก็จะทิ้งตัวลงสู่พื้นเพื่อวางไข่ มักเป็นบริเวณที่สุนัขนอนพักผ่อน ซึ่งแม่เห็บจะค่อยๆคลานไปหาที่ที่เหมาะสมที่ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนได้ เช่น ตามซอกผนัง กำแพง มุมห้อง ใต้เบาะรองนั่งหรือโซฟา ใต้ที่นอน มุมเตียง เป็นต้น (ตามทฤษฎี ความชื้น 80% อุณหภูมิ 25-27 องศาเซลเซียส มืด เงียบ ไม่ค่อยมีการสั่นสะเทือน)

2) ไข่เห็บ โดยปกติตัวเมียจะออกไข่เกาะกันเป็นกลุ่ม เฉลี่ย 1500-4000 ฟอง หลังจากวางไข่แล้ว แม่เห็บก็จะฝ่อตายไป ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อน

3) ตัวอ่อนเห็บ ขนาดเล็กมาก มี 6 ขา มันจะไต่ขึ้นบนตัวสุนัขเพื่อดูดเลือด จนอิ่มก็จะทิ้งตัวลงสู่พื้นอีกครั้ง เพื่อไปลอกคราบเป็นเห็บระยะตัวกลางวัย

4) เห็บตัวกลางวัย มี 8 ขา โครงสร้างคล้ายตัวเต็มวัย แต่ขนาดเล็กกว่าและยังไม่แยกเพศ สามารถสังเกตได้ โดยเฉพาะเวลาเคลื่อนที่ เห็บตัวกลางวัยจะไต่ขึ้นตัวสุนัขอีกครั้งเพื่อดูดเลือดจนอิ่มแล้ว ก็จะทิ้งตัวลงในสิ่งแวดล้อม เพื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยผู้และเมียต่อไป เห็บตัวอ่อนและตัวกลางวัยนี้ ทนกว่าที่เราคิด เพราะมันสามารถมีชีวิตรอดในสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องกินอาหารได้นานมาก จึงไม่แปลกที่วันดีคืนดี สุนัขที่เราเลี้ยงก็กลับมีเห็บขึ้นมาบนตัวอีก วงจรชีวิตของเห็บโดยทั่วไป จะใช้เวลารวมประมาณ 2-3 เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับความชื้นและอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม โดยพบว่าเห็บจะแพร่พันธุ์ได้เร็วมากในหน้าฝน

หลักการจัดการกับเห็บให้ได้ผล คือ เราต้องกำจัดเห็บทั้งที่อยู่บนตัวสุนัข และเห็บที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เหมือนจะง่าย แต่ยากเอาการ เพราะไม่มีสูตรตายตัวและขึ้นกับหลายปัจจัย

  1. การจัดการเห็บบนตัวสุนัข หากเป็นสุนัขที่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด ควรหมั่นตรวจ ลูบคลำผิวหนัง เปิดย้อนเส้นขน ตรวจดูง่ามนิ้ว ใบหูทั้งภายในและภายนอกว่ามีเห็บหรือไม่ หากพบก็ควรรักษาโดยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดเห็บที่มีคุณภาพ ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายอยู่มากมาย หลายตัวยา หลายรูปแบบ เช่น ยากิน หยดหลัง สเปย์ ปลอกคอ ยาผสมน้ำแช่ตัวสัตว์ แป้ง หรือแชมพู ประสิทธิภาพแตกต่างกันไป ที่น่าเป็นห่วงคือ ทุกวันนี้หาซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ง่ายเกินไป เจ้าของจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจ ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและได้ อ.ย. เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ต้องศึกษาเอกสารประกอบผลิตภัณฑ์ให้เข้าใจ ปริมาณยา วิธีการให้ และปฏิบัติตามคำแนะนำ เช่น ผลิตภัณฑ์บางชนิดได้ระบุไว้ว่าห้ามอาบน้ำก่อนหรือหลังการให้ยา ผลิตภัณฑ์ยากินบางชนิด ต้องมั่นใจว่าสุนัขกลืนยาลงไปเรียบร้อยแล้ว ไม่คายหรืออาเจียนยาทิ้งออกมา เป็นต้น และต้องศึกษาข้อห้ามหรือควรระวังอย่างเคร่งครัด เพราะผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่คือสารเคมี อาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับทั้งน้องหมาและคนได้
    อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นที่หมอต้องย้ำคือ การให้ยาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ขึ้นกับผลิตภัณฑ์ว่าตัวยาจะอยู่ในร่างกายนานแค่ไหน ยาบางชนิดอยู่ในร่างกายนานประมาณหนึ่งเดือน หมายความว่าถ้าจะกำจัดเห็บให้สิ้นซาก จำเป็นต้องให้ยาซ้ำในวันที่ 31 และต่อเนื่องไป หากเห็บที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมไต่ขึ้นตัวและดูดเลือดใหม่ ก็จะได้รับยาและตายไปจนไม่สามารถลงมาวางไข่ได้ ก็เป็นการลดจำนวนลูกหลานของเห็บในสิ่งแวดล้อมลง จากข้อมูลวงจรชีวิตเห็บที่หมอได้เล่าไปแล้ว ถ้าน้องหมาไม่มีโอกาสออกไปสัมผัสกับหมาอื่นที่มีเห็บ หรือไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเห็บ การเลือกใช้ยาที่ออกฤทธิ์ได้นาน หรือการให้ยาต่อเนื่องประมาณ 3 เดือน จะช่วยกำจัดเห็บได้เกือบหมด เนื่องจากไม่มีสูตรตายตัว หากไม่มั่นใจ หมอแนะนำให้ปรึกษานายสัตวแพทย์ เพื่อขอรับคำแนะนำที่ตรงกับบริบท พฤติกรรม และวิธีเลี้ยงดูสุนัขของแต่ละบ้าน
  2. หากเลี้ยงสุนัขหลายตัว หรือสุนัขเรามีโอกาสออกนอกบ้าน คลุกคลีกับสุนัขเพื่อนบ้าน เราจำเป็นต้องกำจัดเห็บให้กับสุนัขทุกตัว เพื่อลดโอกาสการติดเห็บกลับเข้ามาใหม่ ทั้งจากสุนัขอื่นที่ยังมีเห็บและจากสิ่งแวดล้อม การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านให้เห็นความสำคัญของเห็บ เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่เช่นนั้น ก็จำเป็นต้องจำกัดบริเวณของสุนัขของเรา

4. เนื่องจากปัจจุบัน มีกิจกรรมสำหรับสัตว์เลี้ยงและเจ้าของมากมาย ควรหลีกเลี่ยงการพาสุนัขเข้าไปในสิ่งแวดล้อมที่อาจมีเห็บ โดยเฉพาะในฤดูฝน ถ้าเลี่ยงไม่ได้ หลังเสร็จกิจกรรม กลับมาบ้าน ก็ทำความสะอาด ตรวจหาว่าเห็บขึ้นตัวหรือไม่

จะเห็นว่าการจัดการกับปัญหาเห็บ ไม่ยากเกินไปใช่ไหมคะ หากเราเข้าใจพฤติกรรมของทั้งสัตว์เลี้ยงและเห็บ บางบ้านที่เลี้ยงสุนัขแบบใกล้ชิด ให้เข้ามาในที่พักอาศัย หรือถึงขั้นให้ขึ้นมานอนด้วยกัน หมอคงห้ามไม่ได้ แต่นั่นคุณเจ้าของยิ่งต้องดูแล ตรวจเช็ค ทำความสะอาดและหมั่นกำจัดเห็บที่ตัวสุนัขให้ดี เพื่อให้มั่นใจว่าสุนัขของเราไม่มีเห็บที่จะตกหล่นบนที่นอนและอาจขึ้นตัวหรือเข้าหูเราได้ ผศ.สพ.ญ.ดร. ศรุดา กล่าว

หากผู้เลี้ยงสุนัข ได้อ่านบทความเรื่องนี้แล้ว คงจะคลายความกังวัล กับเรื่องเห็บหมัดของน้องหมาของท่านได้ ทางทีมงานเชียงใหม่นิวส์ออนไลน์ ก็หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านด้วยค่ะ

Cr. คลิปจาก คลินิกหมอจารึก หู คอ จมูก
ข้อขอบพระคุณข้อมูลจาก ผศ.นพ.จารึก หาญประเสริฐพงษ์
และผศ.สพ.ญ.ดร. ศรุดา ติวะนันทกร ภาควิชาชีวศาสตร์ทางสัตวแพทย์และสัตวแพทย์สาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น