ตามรอยสมเด็จย่าสู่ “พระตำหนักดอยตุง”

จังหวัดเชียงรายดินแดนที่ได้ชื่อว่าเหนือสุดในสยาม มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และวัฒนธรรมมากมายไม่แพ้เมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ กรุงเทพฯ จะว่าไปเชียงรายในยามนี้ก็ดูไม่ต่างอะไรกับเชียงใหม่มากนัก รถราบนท้องถนนที่มีมากทำให้การจราจรติดขัดพอสมควร การหลีกหนีบรรยากาศรถติดขึ้นไปเที่ยวชมสถานที่อันเป็นธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อชาวเชียงรายในฐานะของที่ประทับของสมเด็จบนพระตำหนักดอยตุง จึงเป็นที่ปรารถนาของนักท่องเที่ยว

พระตำหนักดอยตุงนับได้ว่าเป็นบ้านหลังแรกของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีหรือสมเด็จย่า พระองค์ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ราชเลขานุการในพระองค์ฯว่า จะไม่เสด็จ ฯ ไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์หลังจากพระชน
มายุ 90 พรรษา และเมื่อกราบบังคมทูลถามว่า “อยากจะทรงปลูกป่าไหม” จึงมีรับสั่งว่า “เรื่องปลูกป่านี่ฉันชอบและอยากทำมานานแล้ว” สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ฯ จึงได้เลือกเฟ้นหาพื้นที่ที่มีความสูงระหว่าง 900 – 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นระดับที่มีสภาพอากาศที่เหมาะสมสำหรับพระองค์ท่าน และได้ค้นพบพื้นที่ที่เหมาะสมที่ดอยตุงบนเทือกเขานางนอน ใกล้กับหน่วยอนุรักษ์ต้นน้ำที่ 31 ของกรมป่าไม้ ตำบลแม่ไร่ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย สามารถมองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนและที่ราบคล้ายทิวทัศน์ภูเขาและทะเลสาบ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้กราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาท พอเอ่ยถึงดอยตุง ก็รับสั่งทันทีว่า “ฉันจำได้ แถวนี้ป่าโล้นมาตั้ง 20 กว่าปีแล้ว” พระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ (พระอิสริยศักดิ์ในเวลานั้น) ไปทอดพระเนตรเห็นพื้นที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2530 ทรงพอพระราชหฤทัยและมีพระราชดำริที่จะทรงสร้าง “บ้านที่ดอยตุง” และการเสด็จมาประทับแรมต้องมีงานให้ทรงด้วย จึงไม่น่าประหลาดใจเมื่อมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง” และนี่คือต้นกำเนิดแห่งโครงการพัฒนาดอยตุง

สาเหตุสำคัญของการที่ป่าบนดอยตุงถูกทำลาย เกิดจากคนที่เข้าไปตัดไม้เผาป่า ทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น ในการฟื้นฟูสภาพธรรมชาติจำเป็นจะต้องป้องกันมิให้ชาวบ้านทำเช่นเดิมอีก โดยการจัดการให้เขาเหล่านั้นมีรายได้เพียงพอและสม่ำเสมอในการยังชีพ

โครงการพัฒนาดอยตุงจึงสร้างงานสอนอาชีพให้ชาวบ้านได้เรียนรู้วิทยาการและเทคนิคใหม่ ๆ จากการทำงานในกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้สามารถพึ่งตนเองและสร้างจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทุกวันนี้การปลูกป่าตามพระราชปณิธานของสมเด็จย่าได้สำเร็จในระดับหนึ่ง ผืนป่ากำลังฟื้นคืนสู่ความเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์ขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนและผืนป่าได้ปรับตัวเข้าหากันและอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี

ในวันที่เดินทางขึ้นไปยังพระตำหนักดอยตุงเป็นวันหนึ่งในฤดูหนาว แม้ว่าแสงแดดยามเช้าที่สาดส่องมากระทบจะพอทำให้ร่างกายได้รับไออุ่นอยู่บ้างแต่ความเย็นของอากาศบนยอดดอยตุงทำให้เราต้องอาศัยความอบอุ่นจากเครื่องกันหนาว นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาที่พระตำหนักดอยตุงตั้งแต่เช้า ซึ่งเห็นได้จากจำนวนของรถจอดเรียงรายจนทำให้คนที่มาถึงทีหลังต้องหาที่จอดรถกันไกลพอสมควร

การเดินทางเข้าไปชมพระตำหนักดอยตุง นักท่องเที่ยวจะต้องซื้อบัตรเข้าชมซึ่งจะซื้อแบบที่เข้าชมพระตำหนักอย่างเดียวหรือเข้าชมพระตำหนักและสวนแม่ฟ้าหลวงได้ด้วย พระตำหนักดอยตุง นับได้ว่าเป็นบ้านหลังแรกของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และสมเด็จพระเจ้าพี่น้างเธอฯ ได้พระราชทานแนวพระราชดำริโดยเน้นความเรียบง่ายและการใช้ประโยชน์ได้ดี

พระตำหนักดอยตุงเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อพระองค์ท่านทรงเจริญพระชนมายุได้ 88 พรรษา โดยมีพิธีลงเสาเอก ซึ่งทางเหนือเรียกว่า “พิธีปกเสาเฮือน” เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2530 รูปแบบของพระตำหนักดอยตุง เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมล้านนากับ
บ้านพื้นเมืองของสวิตเซอร์แลนด์และบ้านไม้ซุง ตัวอาคารมีสองชั้นและชั้นลอยยาว 112 เมตรหันหน้าออกทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะเป็นบ้านสามหลังเชื่อมติดกันด้วยห้องโถง บ้านสามหลังนี้เป็นส่วนที่ประทับของสมเด็จย่า ปีกขวาสุดเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่น้องเธอฯและส่วนกลางเป็นของท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่น้องเธอฯ

ห้องโถงที่เชื่อมระหว่างที่ประทับของสมเด็จย่ากับท่านผู้หญิงทัศนาวลัยนั้น เนื่องจากสมเด็จย่าทรงสนพระทัยเรื่องดาราศาสตร์ จึงทรงให้ตกแต่งเพดานด้านบนเป็นพิเศษด้วยการแกะสลักเป็นรูปหมู่ดาวกลุ่มต่าง ๆ ประดับดวงไฟล้อมรอบระบบสุริยจักรวาล ปรากฏเป็นภาพจำลองของท้องฟ้ายามค่ำคืน ที่ด้านข้างของห้องโถงนี้ฝาผนังประดับด้วยผ้าไหมทอขนาดใหญ่เป็นรูปดอกไม้ ซึ่งกลุ่มทอผ้าแม่บ้านสันกำแพงได้ทอถวาย บริเวณผนังบันไดของห้องโถงไปสู่ด้านล่าง ด้านหนึ่งแกะสลักเป็นพยัญชนะไทยตั้งแต่ ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูง โดยมีรูปประกอบแต่ละตัวอักษร ถัดจากห้องโถงเป็นห้องครัวและห้องเตรียมอาหาร สำหรับทรงประกอบพระกระยาหารบางอย่างด้วยพระองค์เอง จากห้องเตรียมอาหารเป็นห้องทรงงานและห้องสรงซึ่งอยู่ติดกับห้องบรรทม

ห้องบรรทมนั้นมีแท่นบรรทมเดี่ยว เครื่องประดับเป็นไม้ที่มีน้ำหนักเบาและขอบมนเพื่อกันมิให้ได้รับอันตราย ส่วนบริเวณพื้นที่ระเบียงรอบนอกพระตำหนัก ตามขอบระเบียงแกะสลักเป็นรูปสัญลักษณ์ 12 นักษัตร และทรงทราบกันดีว่าสมเด็จย่าทรงโปรดการปลูกต้นไม้ที่ขอบราวระเบียงจึงมีกระถางดอกไม้เมืองหนาวประดับหลากหลายพันธุ์ บริเวนด้านหน้าพระตำหนักเป็นลานสนามหญ้าปลูกตกแต่งด้วยต้นไม้นานาชนิด เป็นสวนดอกไม้ประดับที่ผสมผสานงดงามกับลักษณะทางสถาปัตยกรรมทางเหนือที่เรียกว่า “กาแล” และเชิงชายแกะสลักลายเมฆไหลรอบพระตำหนักที่ผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัว

หากท่านมีโอกาสเดินทางมายังอำเภอแม่จันน่าจะลองแวะขึ้นไปชมความสวยงามของพระตำหนักดอยตุงและสวนแม่ฟ้าหลวง มาเข้าชมพระตำหนักดอยตุงนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมมีเจ้าหน้าที่นำชมในพระตำหนักทุก 1 ชั่วโมง โดยนักท่องเที่ยวจะไม่ได้รับอนุญาตให้
บันทึกภาพภายในพระตำหนักและห้ามนำอุปกรณ์ถ่ายภาพ เช่นขาตั้งกล้องและร่มกันแดดเข้าไปในพระตำหนักโดยเด็ดขาด และเมื่อเวลาที่เข้าชมอยู่ในพระตำหนักฯห้ามแตะต้องเครื่องใช้ที่จัดไว้อยู่ในพระตำหนัก

หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือเขต 2 เชียงราย โทรศัพท์ 0 – 5374 – 4674-5, 717433 หรือที่ โครงการพัฒนาดอยตุง โทรศัพท์ 0 – 5376 – 7001, 767015-7

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น