ผู้ชายก็เป็นได้! ใครว่ามะเร็งเต้านมเป็นได้เฉพาะผู้หญิง

เมื่อพูดถึง “มะเร็งเต้านม” แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงแต่ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแค่ในผู้หญิง ถึงแม้ว่าโรคมะเร็งเต้านมจะถูกพบบ่อยในเพศหญิง และเราทุกคนมักจะเข้าใจว่า มะเร็งเต้านมนั้นเป็นโรคที่มีผลเฉพาะกับผู้หญิง ในทางกลับกันมะเร็งเต้านมในผู้ชายกลับมีการพูดถึงน้อยมาก แต่ทุกคนรู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วผู้ชายก็สามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นเดียวกัน แถมอันตรายมากเสียด้วย

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาเผยถึงโรคมะเร็งเต้านมที่เกิดขึ้นในเพศชาย ว่าสาเหตุเกิดขึ้นจากอะไร และจะมีวิธีป้องกันได้อย่างไรบ้าง มาให้ทุกคนได้ทราบกันด้วยค่ะ

มะเร็งเต้านมในผู้ชายเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ถึงแม้ว่าผู้ชายจะไม่มีเต้านมที่ชัดเจนเหมือนกับผู้หญิง แต่ผู้ชายก็มีเนื้อเยื่อของเต้านมอยู่ จึงทำให้ผู้ชายมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมชนิดเดียวกันกับผู้หญิงได้ เพียงแต่มีความเป็นไปได้ต่ำกว่า ซึ่งอัตราส่วนที่พบได้คือ 1/1000 คน ในช่วงอายุ 60 – 70 ปี หรือพบได้ในชายสูงวัยมากกว่าชายวัยหนุ่มนั่นเอง แม้ว่าสถิติของผู้ชายที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมจะมีจำนวนน้อย แต่แพทย์ส่วนใหญ่ต่างระบุว่า ผู้ชายไม่ค่อยรู้ตัวและปล่อยให้มะเร็งลุกลามจนเกินขั้นรักษา เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่นิยมเข้ารับการตรวจเต้านมตอนอายุ 40 ปีขึ้นไป ในทางกลับกันผู้ชายส่วนใหญ่ไม่เคยตรวจเต้านมเลยตลอดทั้งชีวิต เพราะมักจะคิดว่าโรคนี้ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง ทำให้ผู้ชายไม่ค่อยสงสัยในความผิดปกติของเต้านมตัวเอง เมื่อพบก็มักจะอยู่ในระดับที่รุนแรงแล้ว

ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมในผู้ชาย

  1. อายุ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นกับผู้ชายในช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
  2. มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม
  3. มีระดับฮอร์โมน “เอสโตรเจน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนของผู้หญิงมากกว่าปกติ
  4. มีระดับฮอร์โมนของเพศชายต่ำลง
  5. มีลักษณะร่างกายที่มีช่วงไหล่แคบกว่าช่วงเอว
  6. มีลักษณะของเต้านมใหญ่กว่ามาตรฐานของผู้ชายทั่วไป
  7. เป็นโรคเกี่ยวกับลูกอัณฑะ

อาการเบื้องต้น
เหมือนกับมะเร็งเต้านมในผู้หญิง คือ พบก้อนแข็งๆ หรือนูนๆ บริเวณหน้าอก อาจมีอาการบวมปวด หรือกดแล้วรู้สึกเจ็บ ซึ่งอาการเหล่านี้จะพบเห็นได้ง่ายกว่าเต้านมของผู้หญิง เพราะเต้านมของผู้ชายมีลักษณะแบนราบกว่า ไขมันน้อยกว่า เมื่อพบก้อนแข็งๆ ก็จะเห็นได้ชัดกว่า แต่เมื่อผู้ชายไม่มีเนื้อหน้าอก ไม่มีชั้นไขมัน ทำให้เมื่อเป็นมะเร็งเต้านมก็จะลุกลามเข้าผนังหน้าอกได้เร็วกว่า บางครั้งมะเร็งเต้านมสามารถแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใต้แขน หรือรอบๆ กระดูกคอ และก่อให้เกิดก้อนบวมได้ รวมถึงก้อนบวมบริเวณเต้านมเองก็อาจขยายใหญ่ขึ้น จึง “อันตราย” กว่ามะเร็งเต้านมที่พบในผู้หญิงนั่นเอง เพราะฉะนั้นควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ อยู่เสมอ

อาการปวดบวม กดแล้วรู้สึกเจ็บ

สังเกตความผิดปกติของเต้านมได้อย่างไร?

  1. มีก้อนที่เต้านม หรือเต้านมบวมผิดปกติ และไม่รู้สึกเจ็บ
  2. ผิวหนังเป็นรอยบุ๋มลงไป หรือเหี่ยวย่น
  3. หัวนมหดตัว หรือหันเข้าด้านใน
  4. หัวนมหรือผิวหนังบริเวณเต้านม มีขนาดผิดปกติ หรือมีรอยแดง
  5. มีของเหลวไหลออกจากหัวนม

วิธีป้องกันมะเร็งเต้านมในผู้ชาย

  1. คอยสังเกตความผิดปกติของเต้านมอยู่เสมอ
  2. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายเป็นประจำ
  3. รักษาน้ำหนักให้เหมาะสม ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอยู่เสมอ
  4. งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ที่เป็นสาเหตุในการกระตุ้นเชื้อมะเร็งในร่างกาย
รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

สรุป
ถึงแม้การป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมในผู้ชายจะพบได้ยากกว่าผู้หญิง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายจะป่วยเป็นโรคนี้ไม่ได้ ทางที่ดีแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือควรสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลง หรือความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้รู้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตัวเราเอง และป้องกันได้ทันก่อนที่จะส่งผลลุกลามเกินเยียวยาได้

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น