รับมือฝุ่น PM2.5 ด้วยวิธีการแก้ปัญหาของต่างประเทศ

หากพูดถึงเรื่องที่กำลังเป็นกระแสของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่อง ค่าฝุ่นละออง PM2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดเล็กเพียงประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผมมนุษย์ ซึ่งแน่นอนเลยว่าขนจมูกไม่สามารถดักจับฝุ่นละอองพวกนี้ไว้ได้ ทำให้ฝุ่นละออง PM2.5 เข้าสู่ร่างกายของคุณได้อย่างง่ายดาย

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาทุกท่านไปรู้จักกับปัญหาฝุ่นในแต่ละประเทศกัน

ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆตามมา เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น โดยผลการวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) พบว่าร้อยละ 50-60 เกิดจากควันดำ ร้อยละ 35 เกิดจากการเผาในภาคการเกษตร และร้อยละ5 เกิดจากภาคอุตสาหกรรม แต่ทว่าปัญหาจากฝุ่นละออง PM2.5 ไม่ได้เกิดแค่ในประเทศไทย แต่ยังเกิดกับเมืองใหญ่ๆของโลกหลายประเทศ วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาไปดูกันว่า ในต่างประเทศมีวิธีการแก้ปัญหาจากค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานยังไงบ้าง

ประเทศอังกฤษ

รัฐบาลของประเทศอังกฤษ ได้ตั้งเป้าหมายการเป็นแกนนำ ในการควบคุมค่าฝุ่นละออง PM2.5 โดยมีการตั้งเป้าหมายไว้ว่า เมืองต่างๆในอังกฤษต้องมีค่า PM2.5 ต่ำกว่าที่ WHO ( องค์การอนามัยโลก ) กำหนด ภายในปี 2030 โดยสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในอังกฤษ เกิดจากการเผาไม้และถ่านหินที่ใช้ในครัวเรือน และการระเหยของก๊าซแอมโมเนียจากการใช้ปุ๋ยที่มากขึ้นจากภาคการเกษตร ซึ่งหากก๊าซชนิดนี้ทำปฏิกิริยากับสารเคมีชนิดอื่นในอากาศ จะเกิดอนุภาคมลพิษ ทางรัฐบาลอังกฤษจึงแก้ไขปัญหานี้โดยการห้ามขายเชื้อเพลิงในครัวเรือนที่ก่อให้เกิดมลพิษ ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป และยังมีการหารือกันว่าอาจจะค่อยๆ เลิกขายเชื้อเพลิงถ่านหินที่ใช้ในครัวเรือน อีกทั้งจำกัดการขายไม้เปียกสำหรับการใช้เป็นเชื้อเพลิงอีกด้วย ในภาคการเกษตร รัฐบาลจะมีมาตรการจำกัดการปล่อยก๊าซแอมโมเนียให้น้อยลง โดยช่วยเหลือในการลงทุนเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซแอมโมเนียลงได้

กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

ตั้งแต่ต้นปี 2017 เป็นต้นมา รัฐบาลเกาหลีมีใต้มีมาตรการฉุกเฉินในการลดปัญหามลพิษโดยการ บริการรถสาธารณะฟรีช่วงเวลาเร่งด่วนในกรุงโซล เพื่อให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคค โดยสาเหตุหลักของปัญหามลพิษในกรุงโซลเกิดจาก การใช้ถ่านหินและน้ำมันดีเซล อีกทั้งผลจากหมอกควันที่มาจากประเทศจีน มีการแก้ปัญหาโดยจำกัดการใช้รถยนต์รถเก่า และปิดลานจอดรถในหน่วยงานรัฐ 360 แห่งเพื่อจำกัดการใช้รถยนต์ของลูกจ้างรัฐ นอกจากนี้กระทรวงสิ่งแวดล้อมของเกาหลีใต้ ยังมีการใช้โดรนในการบินตรวจสอบการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมในแถบกรุงโซล ซึ่งเชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบผู้ลักลอบปล่อยควันเสีย ได้ดีกว่าการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน

กรุงมาดริด ประเทศสเปน

สเปนใช้มาตรการจำกัดรถยนต์ที่จะวิ่งเข้าไปในเขตควบคุมคุณภาพอากาศ ย่านใจกลางกรุงมาดริด โดยที่ผู้ใช้รถจะต้องนำรถไปตรวจวัดการปล่อยไปเสีย ทั้งนี้รถยนต์รุ่นเก่าจะถูกสั่งห้ามในการขับเข้าไปยังเขตควบคุมคุณภาพอากาศใจกลางกรุงมาดริด ในขณะที่ “รถยนต์ไฮบริด” ( รถที่ใช้ระหว่างน้ำมันและไฟฟ้า ) สามารถที่จะสัญจรได้อย่างเสรี ซึ่งมีการเริ่มใช้มาตรการนี้เมื่อปลายปี 2018

กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสมีมาตรการในการสั่งห้ามรถยนต์ที่ผลิตก่อนปี 1997 เข้าไปยังใจกลางกรุงปารีสในช่วง วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-20.00 น. และยังสั่งห้ามรถยนต์ดีเซล ที่ได้ขึ้นทะเบียนก่อนปี 2001 เข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้ยังมีการสั่งห้ามรถรุ่นเก่าและรถดีเซลขับเข้าไปยังใจกลางเมืองหลวง เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้การเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และวางแผนให้ใจกลางเมืองเป็นพื้นที่ถนนคนเดิน

กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน

สวีเดนมีการใช้มาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับบุคคลที่จะขับรถเข้าไปยังเขตพื้นที่ ที่มีการจราจรหนาแน่นย่านใจกลางเมืองหลวง และมีการจักพื้นที่สำหรับการจอดรถย่านชานเมือง เพื่อให้ประชาชนหันมาให้บริการรถสาธารณะเข้าในเมืองแทน ทั้งนี้ยังมีการวางแผน เพิ่มการลงทุนในระบบรถโดยสารประจำทาง รถรางและรถไฟใต้ดิน

ประเทศจีน

รัฐบาลของประเทศจีนได้ยกให้ปัญหาค่าฝุ่นละอองทางอากาศ เป็นนโยบายระดับชาติ โดยมีการวางแผนใช้พลังงานสะอาดแทนการใช้ถ่านหิน ประกาศให้มีการเก็บภาษีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจำนวน 12 หยวนต่อหน่วย ในการปล่อยมลพิษทางอากาศ ซึ่งผลจากการใช้มาตรการนี้ส่งผลให้ค่าPM ลดลงถึง 3.5 ต่อปี โดยที่กรุงปักกิ่ง ลดลงถึงร้อยละ 20.5

ประเทศไทย

ทางฝั่งของประเทศไทยได้มีการแก้ไขปัญหาค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานในเขตกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองใหญ่โดยกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งมีการแจง 9 มาตรการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นได้แก่
1.เพิ่มความถี่ในการล้างทำความสะอาดถนน และมีการพ่นน้ำในอากาศ ตั้งแต่เวลา 18.00-06.00 น. จนกว่าค่าฝุ่นละอองจะลดลงมาอยู่ในระดับมาตรฐาน
2. มีการแจกหน้ากากอนามัยตามพื้นที่ต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ป่วย,คนชรา,เด็ก รวมถึงบุคคลที่ทำงานไกล้ชิดกับแหล่งกำเนิด
3. มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับการตรวจจับควันดำ ทั้งรถยนต์ขนาดเล็ก รถยนต์ขนาดใหญ่ และรถสาธารณะ
4. ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจากการก่อสร้างทางรถไฟฟ้า โดยเร่งคืนพื้นที่ผิวจราจรในจุดที่ทำเสร็จแล้ว
5. ตั้งคณะทำงานในการตรวจสอบการก่อสร้างอาคารสูงและสาธารณูปโภค ให้ผู้ประกอบการนำเนินการให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
6. อำนวยความสะดวกด้านการจราจร ไม่ให้มีการจราจรติดขับ และเข้มงวดกับการจอดรถริมถนนสายหลัก
7. เข้มงวดไม่ให้มีการเผาในที่โล่งแจ้ง
8. รณรงค์ไม่ให้ติดเครื่องยนต์ขณะจอดในสถานที่ราชการและพื้นที่ที่มีมลพิษสูง
9. ทำฝนเทียมโดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในระหว่าง 15-19 มกราคม 2562

สรุป

จะเห็นได้ว่าปัญหา “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5” เกิดจากการปล่อยควันเสียจากรถยนต์ และอุตสาหกรรม ซึ่งเมืองหลวงในหลายๆประเทศก็ได้มีมาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ ในย่านใจกลางเมืองรวมถึงการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถสาธารณะกันมากขึ้น อีกทั้งมีมาตรการตรวจสอบ ควบคุมการปล่อยควันเสียในอุตสาหกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ

หวังว่าความรู้ในวันนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณได้ อย่าลืมช่วยกันลดฝุ่นละอองในอากาศและใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง เพื่อป้องกันฝุ่นละออง PM2.5

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.khaosod.co.th, www.springnews.co.th, news.mthai.com, www.bbc.com

ร่วมแสดงความคิดเห็น