“ภูมิแพ้” คืออะไร ทำไมหลายคนเป็นแล้วไม่หาย

โรคยอดนิยมอย่าง “ภูมิแพ้” ที่พบในสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมเมืองใหญ่ ที่เต็มไปด้วยมลภาวะที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ฝุ่ ควัน สารพิษ ขยะ น้ำเน่าเสีย สิ่งเหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงให้ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายต้องทำงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง และเพิ่มโอกาสในการป่วยด้วย “โรคภูมิแพ้” มากยิ่งขึ้น

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาทุกท่านไปรู้จักกับโรคภูมิแพ้ ที่หากปล่อยไว้นานๆ อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้

ภูมิแพ้คืออะไร ?

“โรคภูมิแพ้” เป็นโรคเรื้อรัง สามารถรักษาให้หายได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดไหน ในบางชนิดก็ไม่มีทางรักษาหาย โดยผู้ป่วยมีอาการแพ้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูก น้ำตาไหล คันรอบดวงตา ระคายเคืองทั่วใบหน้า มีผดผื่นคันแดงตามผิวหนัง ผิวหนังลอกอักเสบ หรืออาจแพ้รุนแรงถึงขั้นท้องร่วง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหลังจากที่ได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย

ภูมิแพ้เกิดจากอะไร ?

โรคภูมิแพ้ เกิดจากการที่ร่างกายผลิตภูมิคุ้มกันเพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอมที่รับเข้ามา ด้วยการขับสารตัวกลางออกมาต้านสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น และสารตัวกลางนั้นก็ก่อให้เกิดการอักเสบและอาการแพ้แก่ร่างกายด้วย การเกิดโรคภูมิแพ้เป็นเหตุมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานมากเกินไป ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อบางสิ่งที่อาจไม่เป็นอันตรายต่อคนทั่วไป แต่เป็นอันตรายต่อตัวบุคคลที่แพ้เท่านั้น

สาเหตุของการเกิดภูมิแพ้

• กรรมพันธุ์
สิ่งแวดล้อม สารก่อภูมิแพ้มักจะเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนมักจะเป็นภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อมมากกว่า
• ทารกที่ไม่ได้กินนมแม่หรือกินนมผงเร็วเกินไป
• อยู่ในที่มีความชื้นสูง เช่น ในห้องน้ำ
• ปัญหาทางจิตใจ ลดความเครียด ทำจิตใจให้สบาย เพราะความเครียดและสุขภาพจิตใจที่ไม่ปกติจะส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นสาเหตุให้เกิดอาการแพ้ได้
• อาหาร
• การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เป็นเวลานานๆ

สารก่อภูมิแพ้คืออะไร ?

“สารก่อภูมิแพ้” คือ สารที่ร่างกายรับเข้ามาและกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ในลักษณะต่าง ๆ โดยร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ด้วยการแสดงอาการแพ้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยสารภูมิต้านทานซึ่งเป็นโปรตีนที่อยู่ในเลือด มีหน้าที่คอยป้องกัน รวมทั้งขจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ทำปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้บางชนิดที่ผู้ป่วยแพ้

ประเภทของสารก่อภูมิแพ้

1.ทางระบบหายใจ มักจะแพร่กระจายอยู่ในอากาศ เข้าสู่ร่างกายคนเราโดยการหายใจและทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ต่างๆกัน ได้แก่ ไรฝุ่น แบคทีเรีย ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ ควัน ฝุ่นดิน หมอก ไอน้ำมัน กลิ่นน้ำหอม เป็นต้น
2. โดยการสัมผัส มักอยู่ในพืชที่มีพิษ โลหะ หรือสีย้อม เมื่อสัมผัสกับผิวหนังจะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นบวมแดงหรือคัน
3. ทางการดูดซึมเข้ากระแสเลือด เช่น ยาฉีด แมลงสัตว์กัดต่อย
4. โดยการกิน ได้แก่ นมสด โปรตีน อาหารทะเล ถั่วละสง เบียร์ เครื่องเทศ เครื่องปรุง ไข่ เป็นต้น

โรคภูมิแพ้ที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นกันมาก

• โรคภูมิแพ้ที่เกิดกับทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหอบหืด
• โรคภูมิแพ้ที่ทำให้โพรงจมูกอักเสบหรือ โรคแพ้อากาศ ไซนัส
• โรคลมพิษ
• โรคภูมิแพ้ที่เกิดกับทางผิวหนัง ได้แก่ โรคแพ้เหงื่อตัวเอง
• โรคภูมิแพ้ทางตา
• โรคภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ภูมิแพ้อาหาร อาการแพ้ไข่
• โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรงที่มีอาการเกิดกับหลายระบบ
• โรคภูมิแพ้ขนสัตว์
• แพ้แอลกอฮอล์ ผื่นเหล้า

อาการของโรคภูมิแพ้

อาการโดยรวมที่เกิดจากปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน มักจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่นาทีหลังจากที่ร่างกายได้รับสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ โดยอาการทั่ว ๆ ไปที่อาจจะเกิดขึ้น ได้แก่ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก เยื่อบุตาขาวแดง คันตา น้ำตาไหล หอบ ไอ มีผื่นคันสีแดง รวมถึงยังทำให้ผู้ป่วยโรคหืดมีอาการเพิ่มมากขึ้น
อาการแพ้ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง แต่บางครั้งปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่รุนแรงแบบเฉียบพลัน (anaphylaxis) ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะช็อก และมีอันตรายถึงชีวิต ผู้ป่วยควรการรักษาทางการแพทย์ในทันที

ภาวะแทรกซ้อนของโรคภูมิแพ้

ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาจต้องเผชิญกับอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ หรือมีความเสี่ยงในการป่วยด้วยโรคอื่นเพิ่มมากขึ้น เช่น โรคภูมิแพ้ขั้นรุนแรง โรคหอบหืด ไซนัสอักเสบ ผิวหนังอักเสบ กลาก การติดเชื้อในหูชั้นกลาง การติดเชื้อในปอด เป็นต้น

การรักษาโรคภูมิแพ้

หลักการในการรักษาโรคภูมิแพ้นั้นโดยทั่วไปคือ
1.ควบคุมสิ่งแวดล้อมและสารก่อภูมิแพ้
2. รักษาด้วยการให้ยา

โรคภูมิแพ้เป็นโรคไม่ติดต่อ สิ่งสำคัญของคนที่เป็นโรคภูมิแพ้คือ ต้องดูแลตัวเองให้ดี เลี่ยงสิ่งที่แพ้ และใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยควรรีบเข้าพบแพทย์ก่อนวันนัด หากมีอาการรุนแรงขึ้น หรือยาที่ใช้ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ซึ่งก็ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาว่ามีเหตุแทรกซ้อนอะไรหรือไม่เพื่อปรับการรักษา

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

บทความที่เกี่ยวข้อง
ควัน
o รับมือฝุ่น PM2.5 ด้วยวิธีการแก้ปัญหาของต่างประเทศ
ฝุ่น
o ฝุ่นละออง PM2.5 ฆ่าคนเชียงใหม่ไม่รู้ตัว

ร่วมแสดงความคิดเห็น