พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 16-22 ม.ค. 62

กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 16-18 ม.ค. 62 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง แต่ยังคงมีอากาศเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 ม.ค. 62 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศา ส่วนภาคใต้จะมีฝนลดลง

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 16-18 ม.ค. 62 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 18-22 ม.ค. 62 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลง กับมีอากาศเย็นโดยทั่วไป สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยจะมีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกได้ต่อเนื่อง

คำเตือน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย

คําแนะนําสําหรับการเกษตร

ภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 16-18 ม.ค. 62 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาว กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 6-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 ม.ค. 62 อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศา อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • จากสภาวะอากาศที่จมตัวในระยะนี้ เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบไม้ และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพราะควันไฟจะบดบังทัศนวิสัย และเป็นการเพิ่มมลพิษในอากาศ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หากมีความจำเป็นควรสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นขณะอยู่กลางแจ้ง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ
    – ช่วงวันที่ 19-22 ม.ค. อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
    – สภาพอากาศเย็นและชื้น เป็นสภาวะแวดล้อมที่เชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะบริเวณที่มีการปลูกพืชใกล้ชิดติดกันมากหรือปลูกพืชในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทน้อย เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก เมื่อพบควรรีบกำจัดก่อนระบาดไปยังแปลงปลูกอื่นๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันที่ 16-17 ม.ค. 62 อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนบางแห่งทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 11-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 18-22 ม.ค. 62 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศา อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-30 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ
    – เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ควรระวัง และป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกระทู้หอม และหนอนเจาะลำต้น เป็นต้น
    – สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลปริมาณน้ำให้สมดุลกับจำนวนสัตว์ที่เลี้ยง หากไม่สมดุลสัตว์น้ำจะอยู่อย่างแออัดทำให้อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง ในวันที่ 16-18 ม.ค. 62 มีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 ม.ค. 62 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • จากสภาวะอากาศที่จมตัวในระยะนี้ เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบไม้ และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพราะควันไฟจะบดบังทัศนวิสัย และเป็นการเพิ่มมลพิษในอากาศ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หากมีความจำเป็นควรสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นขณะอยู่กลางแจ้ง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ
    – เกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด โดยให้น้ำแก่พืชครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ควรใช้เศษวัชพืชคลุมโคนต้นทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่ม เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำและรักษาความชื้นของดิน

ภาคตะวันออก ในวันที่ 16-18 ม.ค. 62 มีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 ม.ค. 62 อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 60-75 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ช่วงนี้ปริมาณฝนมีน้อยไม่เพียงพอกับไม้ผลที่อยู่ในระยะติดผลอ่อน เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม หากให้น้ำไม่เพียงพอ จะทำให้การติดผลจะลดลง รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยไฟและไรชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยง
    – สำหรับเกษตรกรที่มีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง ควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก(ฝั่งอ่าวไทย) ในช่วงวันที่ 16-18 ม.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 ม.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส
ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก(ฝั่งอันดามัน) ในวันที่ 16 ม.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 17-22 ม.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากปริมาณฝนมีน้อยไม่พอเพียงกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้พืชชะงักการเจริญเติบโต โดยคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำและเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน
    – เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช จำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยไฟและไรชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต

นายธาดา ศรัทธา ผอ.สถานีอุตุนิยมวิทยาสุโขทัย

ร่วมแสดงความคิดเห็น