จ้องจอนาน!! เสี่ยงเป็น “CVS” โรคยอดฮิตของคนติดจอ

“โรค CVS” หรือ “โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” (Computer Vision Syndrome) เป็นโรคทางสายตาที่มักจะเกิดขึ้นได้บ่อยกับหลาย ๆ คนที่ใช้ชีวิตติดจอ ไม่ว่าจะเป็นการจ้องหน้าจอสมาร์ทโฟน หรือจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวัน ถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่หลีกเลี่ยงได้ยากในสังคมปัจจุบัน และพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพดวงตาของเราเป็นอย่างมาก เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมได้

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ “โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” ที่ว่านี้ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ตลอดจนจะมีวิธีป้องกันได้อย่างไรบ้าง มาให้ทุกคนได้ทราบกันด้วยค่ะ

ทำความรู้จัก “โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม”

คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม เกิดจากพฤติกรรมการมองจอภาพเป็นเวลานาน ๆ อย่างต่อเนื่อง นานเกิน 2-3 ชั่วโมงต่อวัน เพราะต้องใช้กล้ามเนื้อรอบดวงตา และประสาทตาในการเพ่งมอง หรือจ้องหน้าจออยู่ตลอดเวลา ซึ่งความรุนแรงของอาการจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการใช้งาน เวลาทำงานกับคอมพิวเตอร์ ดวงตาของเราจะถูกใช้งานแตกต่างจากการอ่านตัวอักษรบนหน้ากระดาษ ไม่ว่าจะเป็นระยะการมอง หรือมุมที่ต้องก้มในขณะที่อ่าน และบ่อยครั้งที่พบว่าอักษรบนหน้าจอคอมพิวเตอร์นั้นมีความชัดเจนไม่เพียงพอ รวมทั้งแสงสว่างของหน้าจอที่ถูกปรับตั้งไว้ไม่เหมาะสมในขณะใช้งาน สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องใช้สายตามากกว่าปกติในขณะที่ใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งพบว่าผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมง จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมได้สูง

สาเหตุของการเกิดโรค

โดยปกติแล้วเราทุกคนจะต้องกะพริบตาอยู่เสมอในอัตรา 20 ครั้งต่อนาที เพื่อเป็นการเกลี่ยน้ำตาให้คลุมผิวตาให้ทั่ว ๆ แต่หากเราใช้สายตาจ้องคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน อัตราการกะพริบจะลดลงกว่าร้อยละ 60 ทำให้ผิวตาแห้ง ก่อให้เกิดอาการแสบตา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมได้ อย่างเช่น

  1. ภาวะแสงในขณะทำงานไม่เพียงพอ
  2. แสงสะท้อนจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ อาจเกิดจากแสงสว่างที่ไม่เหมาะสม ทำให้ตาเมื่อยล้า
  3. ตำแหน่งของหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือการจัดท่านั่งที่ไม่เหมาะสม
  4. ภาวะสายตาที่ไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะสายตายาวหรือสายตาเอียง

อาการของคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

โรคนี้ส่วนมากมักจะพบในกลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงาน เนื่องจากคนกลุ่มนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนเกือบตลอดเวลา จนทำให้เกิดอาการตาแห้ง แสบตา เคืองตา ปวดตา ตาพร่า ทำให้เกิดภาพเบลอ หรือภาพซ้อน และบ่อยครั้งมีอาการปวดหัว ปวดคอ ปวดไหล่ หรือปวดหลังร่วมด้วยซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิด “โรคออฟฟิศซินโดรม” ได้ด้วย หากปล่อยไว้นานนอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพดวงตาในระยะยาวอีกด้วย

ทำอย่างไรไม่ให้เป็นคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

  1. วางหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากดวงตา 20-28 นิ้ว และควรให้จุดกึ่งกลางของหน้าจออยู่ต่ำกว่าระดับสายตาในแนวราบ 4-5 นิ้ว
  2. ปรับแสงสว่างหน้าจอให้เหมาะสม ไม่มืด หรือสว่างจนเกินไป
  3. ถ้าต้องอยู่หน้าจอทั้งวันเกิน 1-2 ชั่วโมง ควรพักสายตาเป็นระยะ ด้วยการละสายตาจากหน้าจอทุก 20 นาที แล้วมองไปที่วัตถุไกลอย่างน้อย 20 ฟุต ประมาณ 20 วินาที
  4. เวลาต้องอยู่กับหน้าจอนาน ๆ ต้องหมั่นกระพริบตาบ่อย ๆ หากแสบตามาก อาจใช้น้ำตาเทียมช่วยได้
  5. ควรใช้แผ่นกรองแสงวางหน้าจอ หรือใส่แว่นกรองแสง
  6. ปรับเก้าอี้ให้อยู่ในท่านั่งที่เหมาะสม
  7. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพดวงตา อย่างเช่น ผักใบเขียว น้ำมันปลา เป็นต้น

สรุป
เห็นแล้วใช่ไหมคะว่าในปัจจุบัน “โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเราทุกคนเป็นอย่างมาก โดยที่บางคนก็อาจจะเป็นโรคนี้ได้โดยไม่รู้ตัว และถ้าหากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ และแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง อาจทำให้ส่งผลรุนแรงได้ในอนาคต ดังนั้นเราทุกคนควรปฏิบัติตัวเองในการใช้คอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนอย่างเหมาะสม และถูกวิธี หากรู้สึกตัวว่ามีอาการผิดปกติทางสายตาควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

ข้อมูลจาก : theworldmedicalcenter.com, 40plus.posttoday.com
ภาพจาก : freepik.com
เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ระวัง! โรคปลอกประสาทอักเสบ

5 สัญญาณเตือน !! โรคออฟฟิศซินโดรม

แพทย์เตือน หนุ่มสาวออฟฟิศ ระวัง!! Office Syndrome เสี่ยงตายเร็ว

ภัยใกล้ตัวของมนุษย์เงินเดือน

รู้หรือยัง!? แค่นั่งนานๆก็ทำให้อายุสั้นได้!

ร่วมแสดงความคิดเห็น