“บาหลี” เกาะสวรรค์ แดนดินอารยธรรมบนคาบสมุทรอินเดีย

ราวเดือนตุลาคมปี พ.ศ.2545 ข่าวการระเบิดไนท์คลับกลางย่านคูต้าสแควร์ บนเกาะบาหลี สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนไปทั่วโลก ด้วยว่าบาหลีเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวและมีนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศเดินทางเข้ามาพักผ่อนที่เกาะแห่งนี้ในแต่ละปีอยู่เป็นจำนวน
มาก เหตุระเบิดดังกล่าวทำให้มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตกว่า 200 ศพและบาดเจ็บอีกราว 300 คน หลังจากโศกนาฏกรรมนั้นแล้ว “บาหลี” ได้เงียบหายไปจากผู้มาเยือน เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตนเองเกรงว่าเหตุโศกนาฎกรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำ 2 อีก เมื่อไหร่ไม่รู้

ช่วงเวลา 4-5 ปีให้หลัง หลังจากเหตุร้ายคลีคลายลง ชื่อ “บาหลี” ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ด้วยว่าเป็นดินแดนที่ซึ่ง “ธรรมชาติ” และ “วัฒนธรรม” ดำรงอยู่ด้วยกันอย่างไม่แปลกแยก ดึงดูดให้นักเดินทางผู้ไม่กลัวความตายเข้ามายังเกาะสวรรค์แห่งนี้เหมือน
เคย กระทั่งนักท่องเที่ยวหลายคนมุ่งมั่นกับตัวเองว่า จะต้องมาเยือนบาหลี ให้ได้สักครั้งในชีวิต

บาหลี เป็นเกาะหนึ่งในจำนวน 17,676 เกาะที่รวมกันเป็นประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ส่วนปลายสุดของเกาะชวา กล่าวกันว่าบาหลีคือ “ขอนไม้ท่อนสุดท้าย” ของระบบเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เพราะไม่ว่าสถานการณ์ภายในประเทศนี้วุ่นวายเช่นไร ก็ยังมีนักท่องเที่ยวแห่แหน เดินทางเข้ามาบาหลี ถึงปีละ 2 ล้านคน ทำรายได้ให้กับอินโดนีเซียเป็นกอบเป็นกำ บาหลีจึงกลายเป็นเกาะสวรรค์ของนักเดินทาง ทั้งที่ในความเป็นจริงถ้าเทียบกันหาดต่อหาด อ่าวต่ออ่าวแล้ว อาจมีอยู่หลายหาดที่ทะเลไทยบ้านเราสวยงามกว่าบาหลี ทว่าใครเขาไปบาหลีเพื่อเที่ยวทะเลกันอย่างเดียวละ ศิลปะ วัฒนธรรม ผู้คน วิถีชีวิต ธรรมชาติ ศาสนา ทะเลสาบ ภูเขาไฟ นาขั้นบันได ระบำบารอง ผ้าบาติก และความหมายของคำว่า “บาหลี” ที่แปลว่าความแข็งแกร่งดั่งภูผา ต่างหากที่รวมกันให้ดินแดนแห่งนี้ กลายเป็นสวรรค์บนโลกมนุษย์ที่ปุถุชนอย่างเราก็สามารถขึ้นสวรรค์ได้ โดยไม่ต้องรอถึงตายเสียก่อน …

ชื่อของ “บาหลี” เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเมื่อราวต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อมีกลุ่มศิลปินจากยุโรปได้เดินทางเข้ามา กระทั่งเกิดความหลงใหลในความงดงามของธรรมชาติและวัฒนธรรมของชาวบาหลี จึงได้ผลิตงานเขียนและภาพวาดไปเผยแพร่ในยุโรป ไม่นานนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกต่างพากันเดินทางมาเยือนเกาะบาหลีแห่งนี้เป็นจำนวนมาก โดยมีชาวออสเตรเลียและญี่ปุ่น นิยมเดินทางมาเที่ยวมากที่สุดถึง 80 % ส่วนใหญ่เดินทางมาเพื่อเล่นกระดานโต้คลื่น โดยเฉพาะที่ย่านคูต้าสแควร์ซึ่งถือเป็นย่านของนักท่องเที่ยวจะมีสินค้าผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกีฬาเซริปบอรด์จากประเทศออสเตรเลียอย่างเช่น Billabong จำหน่ายอยู่หลายร้าน หากแต่นักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีของชาวบาหลีก็ต้องเดินทางออกไปนอกเมือง เพราะมีที่เที่ยวอยู่หลายที่ทั้ง “วัด” และ “วัง” อันมีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมสไตล์ “บาลีนีส” จนแพร่หลายไปทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย

บาหลี เป็นเกาะเล็ก ๆ ของชุมชนฮินดูที่ส่วนใหญ่กว่า 90 %จะนับถือศาสนาฮินดู (Hindu Dharma) ซึ่งได้รับอิทธพลจากชวา เป็นการผสมผสานระหว่างศาสนาฮินดูแบบที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ กับศานาพุทธซึ่งแพร่หลายเข้ามาก่อนหน้า ซึ่งหลักปฏิบัตินั้นมาจาก
ปรัชญาอินเดีย ร่วมกับการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อท้องถิ่น การผสมผสานนี้เองทำให้ศาสนาฮินดูที่บาหลีแตกต่างจากฮินดูที่อินเดีย ชาวบาหลีนั้นเชื่อในธรรมชาติว่ามีพลัง เชื่อในจิตวิญญาณว่าทุก ๆ สิ่งจะมีวิญญาณสิงสถิตอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวบาหลีมีการเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้าเบื้องสูงและภูตผีเบื้องต่ำวันละ 5 ครั้ง ดังนั้นเมื่อเดินทางไปบาหลี จึงเต็มไปด้วยเศษกระทงใบตองที่พวกเขาใช้สำหรับเซ่นสรวงเทพเจ้า หรือ “จานัง” จำนวนนับไม่ถ้วนสำหรับใส่ข้าว ดอกไม้และธูป ไปวางไว้บนศาลประจำบ้านเพื่อเซ่นสรวงเทพชั้นสูง และเกลื่อนตามท้องถนนและฟุตบาทหน้าบ้านเพื่อบูชาเทพเจ้าชั้นต่ำ คงเหมือนกับที่พวกเขาต้องไปกราบไหว้ทั้งภูเขาไฟ ในฐานะที่ประทับแห่งเทพยดา และมหาสมุทร ในฐานะที่สิงสถิตของผีร้าย ด้วยความเชื่อแห่งฮินดูที่ฝังรากลงในจิตใจของชาวบาหลีนี่เอง จึงทำให้ “บาหลี” ได้ชื่อว่าเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของกลุ่มคนที่นับถือศาสนาฮินดู ทั้งที่คนในประเทศอินโดนีเซียกว่าค่อนหันไปนับถือศาสนาอิสลามกันหมดแล้ว

ชาวบาหลีเชื่อว่าการบูชาทั้งเทพเจ้าและภูตผี คือการสร้างสมดุลระหว่างความดีและความเลว ดังนั้นประตูบ้านทุกหลังจึงมีรูปสถาปัตยกรรมคล้ายภูเขาแบ่งครึ่งออกเป็น 2 ซีก (จันทิ ปันตัร) แทนความหมายถึงสมดุลแห่งความดีกับความเลว ชายกับหญิง มืดกับสว่าง นอกจากบาหลี จะมีชื่อเสียงในเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมอันลือเลื่องแล้ว สถาปัตยกรรมสไตล์ “บาลีนิส” ก็ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเหมือนกัน ด้วยรูปลักษณ์ที่แฝงไว้ด้วยคติแห่งความหมาย จึงทำให้ดินแดนนี้มีนักท่องเที่ยวหลากหลายทั้งคนที่ชอบธรรมชาติ ป่าเขาทะเล และอีกกลุ่มคนที่ชื่นชอบศิลปวัฒนธรรมรวมตัวกันอยู่บนเกาะแห่งนี้ สถาปัตยกรรมในบาหลีที่เราเรียกว่า “วัด” นั้น สร้างขึ้นจากความเชื่อว่าเพื่อถวายเป็นทิพยวิมานต่อองค์ “ตรีมูรติ” ประมุขเทพที่รวมร่างของพระศิวะ พระพรหมและพระนารายณ์ อันเป็นเทพสูงสุดในศาสนาฮินดู และเทพเจ้าอีกหลายองค์ เช่นที่มหาวิหารทานาลอต (Pura Tanah Lot) สร้างยื่นออกไปกลางทะเล เชื่อกันว่าวัดแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของการบรรจบกันของธรรมชาติและจักรวาล ชาวบาหลีสร้างถวายเทพแห่งท้องทะเล

ปุระเคเฮน (Pura Kehen) เป็นวัดขนาดใหญ่ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในบาหลี ชาวบาหลีสร้างขึ้นเพื่อถวายให้แก่เทพเจ้าแห่งไฟ วัดนี้มีความสวยงามมากสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์บาหลี นอกจากนี้บริเวณหน้าวัดยังมีเจดีย์ของศาสนาพุทธประดิษฐานอยู่เพียงแห่ง
เดียวในบาหลีที่ทะเลสาบบาตูร์ (Batur Lake) ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในบาหลี ชาวบาหลียังเชื่อว่าทะเลสาบแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สถิตของเทวีดานู (Dawi Danu) เจ้าหญิงแห่งทะเลสาบ ทะเลสาบบาตูร์เกิดขึ้นจากน้ำตกจำนวน 11 สายไหลมารวมกัน แต่ไม่มีทางน้ำไหลออก

ชาวบาหลียังเชื่ออีกว่าน้ำในทะเลสาบจะซึมผ่านใต้ดินและกลายเป็นน้ำพุที่ปรากฏในแหล่งอื่นของเกาะ บริเวณทะเลสาบบาตูร์ยังเป็นจุดชมวิวที่สวยงามแห่งนี้ในบาหลีสามารถมองเห็นปากปล่องภูเขาไฟบาตูร์ ซึ่งเคยระเบิดเมื่อประมาณ 30,000 ปีมาแล้ว นอกจากนั้นยังมีหมู่บ้านริมทะเลสาบ (Trunyan Village) เป็นหมู่บ้านที่ยังนับถือผีโบราณและยังคงธรรมเนียมการทิ้งศพให้แห้งบนดินก่อนที่จะนำไปฝัง

การเดินทางไปบาหลีในครั้งนั้น ทำให้ประจักษ์ชัดว่าแท้ที่จริงสรรพสิ่งในโลกล้วนมี 2 ด้าน หากเพียงเราต้องรู้เท่าทันรวมถึงต้องเตรียมใจตั้งรับกันมันให้ได้ เฉกเช่นที่ชาวบาหลีพึงประพฤติปฏิบัติต่อความเชื่อของศาสนาที่ได้ฝังลึกลงในทุกจิตใจของคนบาหลีทุกคน ภายใต้
ดุลยภาพแห่งความดีและเลว กระทั่งนักเดินทางทั้งหลายต่างฟันธงลงอย่างไม่อายว่า นี่คือสวรรค์บนพื้นพิภพอีกแห่งหนึ่งที่คนจากทั่วโลกใฝ่ฝันหาจะได้มาสัมผัส

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น