น่าทึ่ง!! เสาแดนหลักเมืองเชียงใหม่-ลำพูน กับต้นยางต้นแรกหมายเลข 1 ที่ ร.9 เสด็จชม

บนถนนสายเก่าเชียงใหม่ – ลำพูน มีต้นยางนา หรือที่เรียกกันว่า”ต้นยางยักษ์” มีอายุหลายร้อยปีขึ้นเป็นอีกหนึ่งถนนที่มีอัตลักษณ์ความสวยงามในอดีตจนถึงปัจุบัน เป็นถนนสายหลักออกจากเมืองเชียงใหม่ แต่หลังจากมีถนนสายซุปเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่-ลำพูน และถนนเรียบรางรถไฟ ทำให้ถนนสายนี้จะไม่ค่อยมีคนมาใช้เส้นทางนอกจากประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ แต่ระหว่างเส้นแบ่งของสองจังหวัดระหว่างตำบลสารภี อำเภอสารภีส่วนเมืองเชียงใหม่ ก็มีการปลูก ต้นยาง เป็นสัญลักษณ์ กับฝั่งถนนที่เป็นต้นขี้เหล็กนั้นคือ เขตตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่บ้างในปัจจุบันนี้ เนื่องจากมีการปรับปรุงขยายถนนของเมืองลำพูน

ซึ่งยังมีแท่งเสาหลักเมืองเก่าปัก และศาลหลังใหม่ที่กำลังก่อสร้างดำเนินการ ซึ่งจะมีพระศรีสองเมือง และมี ช้างปู้กล่ำงาเขียว ยังคงเป็นโบราณ สถานที่สำคัญเป็นที่เคารพ สักการะของชาวเชียงใหม่และลำพูน เพื่อความเป็นสิริมงคลใครเดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ หรือจะเดินทางไปจังหวัดลำพูนผ่านถนนสายนี้ ต้องแวะกราบไหว้ขอพร ขอให้มีโชค คลาดแคล้วจากศัตรู ภัยพิบัติ การเดินทางสวัสดิภาพปลอดภัย ซึ่งก็สุดแต่จะขอ หรือ อธิษฐานประการใด ๆ เพื่อให้เทพเจ้าได้ดลบันดาลให้พบแต่ความสุขความเจริญ จะเห็นดอกไม้ธุปเทียน ผ้าแพร 7 สี พวงมาลัยดอกไม้ต่างๆ นำมากราบไหว้

นอกจากนี้ชาวบ้านสองฝั่งได้จัดประเพณีหนึ่ง ร่วมกันยึดถือสืบทอดกันมาหลายปี ก็คือ ประเพณีทำบุญประจำปี ศาลเจ้าหลักเมืองเชียงใหม่-ลำพูน นับเป็นอีกหนึ่งศาลหลักเมืองสองจังหวัดที่ชาวเชียงใหม่-ลำพูน เดินทางผ่านข้ามไปมาจะมากราบไหว้ขอพรจนตี่แต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยจะรู้ว่าที่เส้นระหว่างของสองจังหวัดนี้มีเสาหลักเมืองสร้างเป็นศาลขึ้นมา

ครั้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2501 ชาวเชียงใหม่ได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 โดยเสด็จพระราชดำเนินมาบนถนนต้นยางและทรงแวะพักที่บริเวณต้นยางหมายเลข 1 ซึ่งเป็นต้นยางต้นแรกและเป็นสัญลักษณ์หรือหมุดหมายที่บอกจุดสิ้นสุดของจังหวัดลำพูนและจุดเริ่มต้นของจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันต้นยางประวัติศาสตร์ต้นนั้นยังคงอยู่บริเวณตรงข้ามศาลเจ้าแดนเมือง

จากประวัติของผู้เฒ่าผู้แก่ว่าเริ่มต้นจากเจ้าหลวงเมืองลำพูนขณะนั้น ชื่อ เจ้าอนันตยศ และ เจ้ามหันตยศ ได้ออกเดินทางจากเมืองลำพูนมาทางทิศเหนือ เพื่อต้องการหาแนวเขตแดนสิ้นสุดของเมืองลำพูน ว่าสมควรจะอยู่บริเวณใดถึงจะเหมาะสม ซึ่งเจ้าหลวงเมืองลำพูน ได้นั่ง ช้างพัง ชื่อ ช้างปู้กล่ำงาเขียว และขณะนั่งช้างมานั้น เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่ช้าง ปู้กล่ำงาเขียว ได้หยุดพักบริเวณวัดร้าง คือวัดนางเหลียวแห่งนี้ไม่ยอมเดินทางต่อไปเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เจ้าหลวงเมืองลำพูน จึงกำหนดให้เลือกบริเวณวัดร้างแห่งนี้ เป็นแนวเขตแบ่งระหว่างเมืองลำพูนและเมืองเชียงใหม่ โดยเจ้าหลวงเมืองลำพูนได้ใช้ไม้เนื้อแข็งปักเป็นเขตแดนไว้ ต่อมาไม้เกิดการผุกร่อนเนื่องจากถูกแดดถูกฝน เจ้าหลวงจึงสั่งการให้เกณฑ์นักโทษจากเมืองลำพูนจำนวนหนึ่งให้มาช่วยก่อสร้าง โดยใช้วัสดุ คือ ดินเผาและปูนขาว มาโบกแทนหลักไม้เนื้อแข็งเดิม แล้วให้เขียนเป็นสัญลักษณ์ว่า “หลักเขตแดนเมือง เชียงใหม่- ลำพูน” ระหว่างบ้านพี่เมืองน้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น