“แสว” คืออะไร? คำเมืองของคนล้านนาที่ถูกลืม

วันเวลาผ่านผัน นับวันภาษาเมืองล้านนาที่เป็นของพื้นเมืองจริงๆ ก็เริ่มที่จะลบเลือนสูญหายไปตามการเวลา เด็กๆ หรือคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาในยุคใหม่ อาจไม่จะไม่รู้จักหรือไม่รู้สึกคุ้นกับคำว่า “แสว” ก็เป็นได้

ซึ่งในวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะขอนำเสนอคำเมืองล้านนาแท้ๆ ที่เริ่มจะจางหายไปจากคนรุ่นใหม่ เช่นคำว่า “แสว” อ่านตัว “ว” สะกด ไม่ได้อ่านว่า “สะ-แหว”

เนื้อสดหรือแสว

คำว่า “แสว” หมายถึงเนื้อสัตว์ทุกชนิดที่เป็นอาหาร ไม่ว่าเนื้อสัตว์สี่เท้าเช่น วัว ควาย ช้าง ม้า เต่า หรือสัตว์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ปลา, กิ้งก่า หรือสัตว์แปลกๆ ชนิดอื่นๆ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ ก็ถือว่าเป็น แสว ทั้งสิ้น

ก้อยหรือลาบดิบทางภาคอีสาน ก็ถือว่าเป็นแสว

มีคำกล่าวของคนล้านนาว่า “บ่ดีกิ๋นแสว มันช่างเป๋นด้อย” หมายความว่า ไม่ควรรับประทานเพียงแต่เนื้อในถ้วยหรือมื้ออาหารเท่านั้น เพราะว่ารับประทานแต่เนื้อมักจะทำให้เกิดอาการเป็นโรค “ด้อย” คือลักษณะพุงโรก้นป่อง มีพยาธิตัวตืดในท้องมากมาย (ด้อย นอกจากหมายถึงโรคพุงโรก้นป่องในเด็กแล้ว ด้อยในคำกริยา ยังหมายถึง อาการหรือพฤติกรรมของคนที่เท้าและมืออยู่ไม่สุข กระดิกไปมา) หากรับประทานอาหารแล้วต้องรับประทานข้าวเข้าไปด้วย ไม่ควรรับประทานเพียงแต่เนื้อดังในปัจจุบัน เช่น รับประทานเนื้อ ปิ้ง, ย่าง, เนื้อกระทะ, จิ้มจุ่ม, ชาบู เป็นต้น

ส้า ลาบดิบทางภาคเหนือ คนล้านนาโบราณก็ถือว่าเป็นแสว

หากรับประทานแต่ “แสว” หรือรับประทานเพียงแต่เนื้อสัตว์ ไม่รับประทานข้าวเป็นเครื่องแจม สิ่งที่ตามมาคือ โรคพยาธิตัวตืด หรือ ตัวแบน หรือคำพูดเรียกกันว่า “ตัวแป๊ว” ที่มักจะสลัดท่อนตัวที่แก่จัดออกมาตามรูทวาร มองเห็นคล้ายเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ ติดตามน่อง หรือท้องขา หากผู้คนอื่นเห็นก็จะทราบว่า คนๆนี้มีตัวตืดในท้องและผู้คนล้านนามักจะกล่าวเป็นคร่าวบอกว่า “ตั๋วตืกบ่ดี ช่างขายหน้าเจ้า…” หมายความว่า ตัวตืดนี้มันไม่ดี เพราะทำให้เจ้าของอับอายขายหน้า

นอกจากจะมีตัวตืดหรือตัวแบนแล้ว คนที่ชอบรับประทาน แสว ยังมีตัวพยาธิอีกหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็น พยาธิเส้นด้าย ที่มักออกมาพล่านในเวลากลางคืน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มักจะนอนดิ้น เชื่อว่านั่นคือพยาธิเส้นด้ายกำลังออกมาพลุกพล่านเดินเล่นที่รูทวารหนัก ต้องรีบเอาผ้ามาเช็ดออก และหายามาถ่ายให้เด็ก หากเป็นผู้ใหญ่จะมีอาการคันที่รูทวารหนัก เพราะผู้ใหญ่ก็ชอบรับประทาน แสว รับประทานลาบดิบ ส้า, ก้อย, เนื้อสุกๆดิบๆ ซึ่งก็ทำให้เกิดโรคพยาธิ

โดยสรุปแล้ว คำว่า “แส้ว” นั้นเป็นคำในภาษาเหนือ หรือภาษาล้านนาที่แปลว่า “เนื้อ” นั่นเอง ซึ่งส่วนมากวัยเด็กถึงวัยกลางคนก็เริ่มที่จะลืมคำนี้กันแล้ว “เชียงใหม่นิวส์” จึงเสนอคำนี้มาให้ท่านผู้อ่านได้รู้และเข้าใจความหมายของคำเมืองโบราณคำนี้โดยทั่วกัน

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : NIKHOM PHROMMATHEP
ภาพจาก : images2.laweekly.com, www.imgrumweb.com, foodof.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น