คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ออกแนวคิดปรับปรุงลานหน้าห้างดัง ชี้ไม่เห็นด้วยในการทำเป็นถนน แต่ควรเป็นลานกิจกรรม

อ.ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ออกแนวคิดปรับปรุงลานหน้าห้างดัง ชี้ไม่เห็นด้วยในการทำเป็นถนน แต่ควรเป็นลานกิจกรรม วาดฝันพัฒนาเป็น “ข่วงรินคำ” แลนด์มาร์ค สำคัญเมืองเชียงใหม่

จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ ที่ทางผู้สื่อข่าวได้มีการนำเสนอข้อมูล เกี่ยวกับโครงการปรับปรุงถนนเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรแออัดบริเวณสี่แยกรินคำ ในตัวเมืองเชียงใหม่ ของกรมทางหลวง ที่ได้มี รองศาสตราจารย์ธีระ วิสิทธิ์พานิช อดีตอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการโพสต์แสดงความเห็นพร้อมภาพประกอบลงในเฟซบุ๊คส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า “Theera Vi” ตั้งข้อสังเกตว่ากลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับห้างสรรสินค้าชื่อดังที่ตั้งอยู่บริเวณดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากพบว่ามีการปล่อยให้ใช้เขตพื้นที่ของทางหลวงสร้างเป็นลานกิจกรรมและลานน้ำพุ แทนที่จะใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรแออัดในย่านดังกล่าวตามวัตถุประสงค์ที่ควรจะเป็น พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ และต่อมาหลังการนำเสนอข่าวออกไปนั้นก็มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและวิจารณ์ไปต่างๆ หลายประเด็น ตามที่ปรากฎออกไปนั้น

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ทางด้าน รศ.ชูโชค อายุพงศ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมทั้งทำการลงสำรวจ พร้อมทั้งได้ให้สัมภาษณ์กับทางผู้สื่อข่าวโดยเปิดเผยว่า จากกรณีที่มีประเด็นข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการลานกิจกรรมบริเวณด้านหน้าห้างสรรสินค้าชื่อดัง โดยได้มีการแยกออกเป็น 2 ประเด็น ซึ่งในประเด็นแรกนั้นตนเห็นด้วยอย่างมากที่ควรจะนำพื้นที่ที่ห้างสรรพสินค้าหรือเอกชนใช้ประโยชน์โดยส่วนตัวอยู่ให้กลับมาเป็นพื้นที่ของรัฐทั้งหมด แต่กลังจากการได้พื้นที่คืนมาแล้วในแนวคิดของทางภาคประชาชนและฝ่ายวิชาการที่เล็งเห็นถึงเรื่องของการพัฒนาเมืองเป็นหลักได้มองว่า มีความเห็นด้วยกับการเอาพื้นที่คืน แต่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการสร้างถนน เนื่องจากทางวิศวกรรมจราจรได้วิเคราะห์แล้วว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวนั้นไม่มีการจราจรติดขัด จึงไม่จำเป็นต้องมีถนนเพิ่ม และเมื่อไม่มีการเพิ่มถนน จึงควรทำให้กลางเป็นลานกิจกรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนและส่วนรวมมากที่สุด โดยตั้งชื่อบริเวณลานนี้ว่า “ข่วงรินคำ” เพื่อเป็นลานกิจกรรมที่จะให้ประโยชน์กับประชาชน และนักท่องเที่ยว รวมไปถึงส่วนราชการ ได้ใช้ลานดังกล่าวในการพัฒนาการท่องเที่ยว

ขณะเดียวกันหากมองไปยังทิศใต้ของบริเวณดังกล่าวจะเป็นพื้นที่นิมมานเหมินทร์ ซึ่งเป็นจุดที่ได้ประกาศให้เป็นสมาร์ทซิตี้ และทิศเหนือของลานก็เป็นวัดเจ็ดยอด และพิพิธภัณฑ์ที่จะมีการพัฒนา ประกอบกับมีนักท่องเที่ยวเดินทางตลอดเวลา นอกจากนี้ยังพบว่าในบริเวณดังกล่าวช่วงวันปกติหรือวันหยุด จะมีนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาที่บริเวณลานดังกล่าวจำนวนวันละหลายหมื่นคน ซึ่งหากมีการทำเป็นพื้นที่ถนนไปเลยนั้นจะพบว่าพื้นที่ดังกล่าวจะหายไป ทำให้นักท่องเที่ยวไม่มีจุดพัก หรือจุดนัดพบ ดังนั้นการที่ทำให้มีจุดนัดพบของนักท่องเที่ยวและลานกิจกรรมใหญ่ๆ ซึ่งจากการสำรวจแล้วพบว่ามีพื้นที่ประมาณ 1,500 ตารางเมตร หรือเกือบประมาณ 1 ไร่ จะทำให้เป็นแหล่งสำคัญที่ช่วยดึงดูดผู้คน อีกทั้งเป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่สุดของเมืองเชียงใหม่ ในปัจจุบัน จึงอยากให้มองประเด็นนี้มากกว่าด้านอื่น

รศ.ชูโชค กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ดังนั้นในการคิดตนเห็นด้วยที่จะมีการเอาพื้นที่ตรงจุดนี้คืน และขอให้ทางหลวงได้พัฒนาลานกว้างตรงจุดนี้ให้เป็นลานกิจกรรมเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นเมืองวัฒนธรรม ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าถนนไม่มีความจำเป็นแต่ลานกว้างหรือลานกิจกรรมจะช่วยเอื้อประโยชน์กับผู้สัญจรรวมทั้งผู้เดินทาง และนักท่องเที่ยวมากกว่า

ทางด้าน ดร.วสันต์ จอมภักดี ประธานคณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม (คอปส.) เปิดเผยว่า บริเวณพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นจุดสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ดังนั้นการใช้ประโยชน์ในพื้นที่นอกจากจะกันไว้สำหรับยนต์ส่วนหนึ่งแล้วนั้นต้องกันให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมไปถึงการส่งเสริมให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจของชุมชนด้วย ดังนั้นข่วงหรือพื้นที่แห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง คลายกับข่วงประตูท่าแพ จึงควรมีการออกแบบให้เป็น “ข่วงรินคำ” เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน รวมไปถึงการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเอื้อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งคนเดินเท้า คนพิการ เด็ก ผู้สูงอายุ และยานพาหนะต่างๆ เช่น จักรยาน โดยเชื่อมไปจนถึงข่วงที่อยู่ถัดไปคือข่วงหน้าวัดเจ็ดยอดที่เป็นพื้นที่เขตโบราณสถานยื่นออกมาในเขตทางหลวงประมาณเกือบ 30 เมตร เช่นเดียวกัน ดังนั้น 2 ข่วงดังกล่าวนี้ก็จะเชื่อมต่อกันโดยถนนสายเล็กๆ ที่ใช้ชื่อว่า “ถนนสายโพธิ์” ที่จะกลางเป็นแลนด์มาร์คร่วมกัน ที่ไม่ใช่เฉพาะเพียงจุดนี้ แต่จะเป็นย่านทั้งหมด ตั้งแต่ข่วงรินคำ ข่วงเจ็ดยอด และข่วงสิงห์ โดย 3 ข่วงดังกล่าวนี้ จะมีทางเดินเท้า ทางจักรยาน และทางสีเขียวที่ร่มรื่นเชื่อมกันตลอดทาง ซึ่งเป็นหัวใจของการออกแบบที่กำลังสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น