ไตวายเฉียบพลัน!! โรคร้ายที่หลายคนไม่เห็นความสำคัญ

หากพูดถึง “โรคไต” หลายคนคงเคยได้ยิน หรือรู้จักกันดีอยู่แล้ว เพราะถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโรคที่น่ากลัวไม่แพ้โรคร้ายแรงอื่น ๆ เนื่องจากโรคไตที่ว่านี้ มีผลต่ออัตราการเพิ่มการเสียชีวิตของผู้ป่วยในหลาย ๆ ราย แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่า โรคไตนั้นมีมากกว่า 1 ชนิด และแต่ละชนิดก็มีสาเหตุ และอาการที่แตกต่างกัน ซึ่งโรคหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว ก็คือ “โรคไตวายเฉียบพลัน”

โดยข้อมูลจากปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้ป่วยประมาณ 1 แสนคน ที่ป่วยเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และในจังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลทั้งหมดในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 25,806 คน จากประชากร 1,746,840 คน คิดเป็น 1.5% เท่ากับว่า ในจำนวนคนเชียงใหม่ทุก ๆ 100 คน จะมีคนเป็นไตวายเฉียบพลัน 1-2 คน

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจ และรู้จักกับ “โรคไตวายเฉียบพลัน” ให้มากขึ้นกันค่ะ

ไต สำคัญอย่างไร?

โดยปกติ ไตของคนเรามีอยู่ 2 ข้าง คือ ข้างซ้าย และข้างขวา จะอยู่บริเวณช่องท้องด้านหลังของกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอว หน้าที่หลักของไต คือ การกรองของเสียที่อยู่ในเลือดแล้วขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะ ทำให้น้ำปัสสาวะมีสารพวกยูเรียที่มีกลิ่นเฉพาะตัว ที่เกิดจากการสลายสารพวกโปรตีนด้วย นอกจากนี้ไตยังทำหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย และปรับสมดุลกรดด่างในร่างกายอีกด้วย

ภาวะไตวายเกิดขึ้นได้อย่างไร?

โดยปกติแล้ว ไตจะสามารถทำหน้าที่กรองของเสียในเลือด แต่ไตที่เริ่มเสื่อมจะไม่สามารถกรองของเสียได้ และความสามารถในการกรองจะลดลง จนไม่สามารถทำหน้าที่กรองของเสียในเลือดได้ และไม่สามารถขับของเสียออกมาจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะได้ ทำให้มีของเสียตกค้างในร่างกาย อีกทั้งยังทำให้ระดับน้ำ เกลือแร่ และแร่ธาตุต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความไม่สมดุล เราจึงเรียกว่า “ภาวะไตวาย”

สาเหตุของการเกิดโรคไตวายเฉียบพลัน

  1. เกิดจากความผิดปกติของการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย หรือร่างกายสูญเสียน้ำจากอาการท้องเสียอย่างรุนแรง ซึ่งกรณีที่น้ำในร่างกายลดลงเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และรวดเร็ว ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงไตได้น้อยลง ทำให้เนื้อไตตาย และเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันในที่สุด
  2. ภาวะไตอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากโรคโกลเมอรูลัส (glomerular disease) หรือจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดได้ที่ไตโดยตรง หรือบริเวณอื่นของร่างกายก็ได้
  3. การได้รับยา หรือสิ่งที่เป็นพิษต่อไต ยาที่พบบ่อย อย่างเช่น ยาในกลุ่มต้านการอักเสบ และยาฆ่าเชื้อที่ได้รับมาในระยะเวลานาน ซึ่งยาเหล่านี้จะมีผลต่อการทำงานของไต โดยอาการแพ้นั้นจะแสดงออกที่ไต ทำให้เกิดปัญหาไตอักเสบ ถ้าพบว่ามีการอักเสบของไตมาก จะทำให้มีผลกระทบกับหน้าที่การทำงานของไต อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้
  4. การอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น
  5. การติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียบางชนิด เมื่อแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด เชื้อโรคเหล่านี้จะถูกพาไปยังไต และทำให้ไตถูกทำลาย
  6. การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มจนเกินไป ส่งผลเสียต่อไตได้

อาการของโรคไตวายเฉียบพลัน

เริ่มจากการที่เราปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเลย มีอาการบวมที่ขา และเท้า รวมไปถึงเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกมึนงง อ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังอาจมีอาการปวดหลังบริเวณชายโครง หายใจถี่ หรือบางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย หรือในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจทำให้มีอาการชัก หรือหมดสติ ทำให้เข้าสู่ภาวะโคม่าแบบเฉียบพลันได้ แต่ในบางรายที่ไตมีความเสียหายร้ายแรง อาการไตวายอาจเปลี่ยนจากไตวายเฉียบพลันเป็นไตวายเรื้อรังได้ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

ดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้เสี่ยงเป็นไตวาย

  1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
  2. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม
  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  4. ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  6. หลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านการอักเสบติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  7. ควบคุมระดับน้ำตาล ความดันโลหิต และไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

สรุป
อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า สาเหตุของการเกิดภาวะไตวายนั้นมีหลายสาเหตุ ดังนั้น การป้องกันโรคไตวายที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพ ถนอมไตไม่ให้ทำงานหนัก หลีกเลี่ยงปัจจัยสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือยาที่มีผลต่อไต หรือทำให้ไตทำงานหนัก โดยเฉพาะอาหารรสจัด อาหารเค็ม และแนะนำให้ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อที่จะได้ดูแลรักษาได้ทัน

ข้อมูลจาก : phyathai.com, pobpad.com
เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

บทความที่เกี่ยวข้อง

หนักเค็ม! ทำให้ไตพัง เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

โซเดียมสูง! เสี่ยงโรค ปรับวิถีการกินเลี่ยงเกิดโรค

ร่วมแสดงความคิดเห็น