โรควิตกกังวลกับโรคซึมเศร้า

ทุกคนคงเคยมีความรู้สึก “วิตกกังวล” รู้หรือไม่การมีความรู้สึกวิตกกังวลเป็นบางครั้งถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากความรู้สึกนี้เข้าไปขัดขวางการใช้ชีวิตประจำวันของเรา แสดงว่าเรากำลังเป็น “โรควิตกกังวล” และคงมีหลายคนที่สับสน หรือคิดว่าโรควิตกกังวล กับโรคซึมเศร้าเป็นโรคเดียวกัน

โรควิตกกังวล แตกต่างจากโรคซึมเศร้าอย่างไร วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะเล่าให้ฟัง

โรควิตกกังวล คืออะไร

ความวิตกกังวล (Anxiety) เป็นความรู้สึกวิตก หรือไม่สบายใจ การรู้สึกแบบนี้บ้างเป็นบางครั้ง ถือเป็นเรื่องปกติ ความรู้สึกนี้เป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายธรรมชาติต่อความเครียด ทำให้คุณรู้สึกตื่นตัวมากขึ้น และพร้อมที่จะตอบสนอง แต่โรควิตกกังวล มีความแตกต่างจากความรู้สึกวิตกกังวลโดยทั่วไป คือโรควิตกกังวลจะมีความรู้สึกกลัว หรือกังวลมากเกินไป จนควบคุมได้ยาก หรือขัดขวางการใช้ชีวิตประจำวัน

โรควิตกกังวล แตกต่างจากโรคซึมเศร้าอย่างไร

ส่วนมากคนที่โรควิตกกังวล สามารถเป็นโรคซึมเศร้าร่วมด้วยได้ และผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ก็สามารถเป็นโรควิตกกังวลได้เช่นกัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า มักมีอาการที่คล้ายคลึงกับอาการของโรควิตกกังวล แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรควิตกกังวล ซึ่งโรคซึมเศร้า เกิดจากความผิดปกติของสมอง ที่มีผลต่อความคิด อารมณ์ แต่โรควิตกกังวล เกิดจากความกังวลที่มีมากเกินไป เช่น กังวลเรื่องผลสอบ หรือหากปวดท้องทางขวา ก็กังวลว่าตัวเองจะไปไส้ติ่งอักเสบ จนกระทบต่อการใช้ชีวิต

สาเหตุหนึ่งของความวิตกกังวลคือความคิดเราเอง

ประเภทของโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวล จัดเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย

1.โรคกลัว (Phobias) หมายถึง ความกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ปกติไม่ทำอันตราย
2.โรคหวาดระแวง (Panic disorder) โดยจะมีอาการหวาดระแวงขึ้นมาเป็นพัก ๆ
3.โรคกลัวสังคม (Social Anxiety) บางคนมีความรู้สึกไม่สบายใจอย่างรุนแรง หากต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม
4.โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder – OCD) มีความคิดซ้ำๆ และมีการตอบสนองต่อความคิดด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ
5.โรควิตกกังวล (Generalized anxiety disorder) มักมีความกังวลที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันจนเรื้อรัง

นิสัยที่มักพบบ่อยในผู้ที่มีความวิตกกังวล

1.เกิดความทุกข์มากเป็นพิเศษเมื่อประสบความล้มเหลว
2.กลัวความเสี่ยง
3.สูญเสียสมาธิ
4.ป่วยบ่อย
5.สนใจคำวิจารณ์จากคนอื่น
6.รู้สึกกระวนกระวาย
7.ต้องการการวางแผน
8.รู้สึกลังเลที่จะหาเพื่อนใหม่

อาการที่พบได้คือ ความกระสับกระส่าย

สาเหตุของโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวล โรคนี้มีสามารถถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมได้ โดยหากพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวล ลูกมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากขึ้น เหตุการณ์ความเครียด หรือเหตุการณ์ที่กระทบต่อจิตใจมีผลทำให้เกิดโรควิตกกังวลได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่พบกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ แล้วกลายเป็นโรควิตกกังวล และไม่ใช่ผู้ป่วยโรควิตกกังวลทุกคน ที่จะประสบกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจมาก่อน

วิธีควบคุมโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวล เป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม มีวิธีที่จะช่วยควบคุม หรือบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ ดังนี้

1.หลีกเลี่ยง หรืองดการบริโภคผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต หรือเครื่องดื่มชูกำลัง เพราะส่วนหนึ่งที่อาจกระตุ้นให้อาการของโรควิตกกังวลแย่ลงได้
2.ก่อนซื้อยารักษาโรค หรือสมุนไพรต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อน
3.ควรฝึกทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และรู้จักปล่อยวางด้วยการฝึกทำสมาธิ
4.หากรู้ตัวว่าตนเองเริ่มมีความวิตกกังวล โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน ควรไปพบจิตแพทย์ หรือผู้ให้คำปรึกษา เพื่อขอความช่วยเหลือ และหาวิธีแก้ไขต่อไป

การรักษาที่ดีที่สุดคือการพบแพทย์

สรุป

โรควิตกกังวล ไม่ใช่โรคใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้น เพียงแต่ในภาวะปัจจุบัน สิ่งแวดล้อมรอบตัวกำลังหล่อหลอมให้เกิดอาการวิตกกังวลขึ้น ซึ่งเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้ในอนาคต กำลังใจ และข้อคิด คือสิ่งที่จะทำให้เราผ่านพ้นสิ่งเหล่านี้ไปได้ ที่น่าเป็นห่วงคือการซื้อยา หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากินเอง เพื่อแก้ไขอาการที่ตัวเองเป็น เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ เป็นต้น ยาเหล่านี้อาจได้ผลเพียงชั่วขณะ ทางที่ดีเราควรโทรขอคำปรึกษาทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 (ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง)

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง

กินผิดวิธีเสี่ยงโรค

อาหารดีมีประโยชน

ร่วมแสดงความคิดเห็น