ล่วงลับสู่สวรรค์ “นกหัสดีลิงค์” กับความเชื่อหลังความตาย

ตำนานที่เล่าขานต่อมาโดยคนโบราณ มักจะมีสัตว์ที่แปลกประหลาด เช่น กิเลน, มังกร, พญานาค, ครุฑ ฯลฯ และมักจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อในด้านต่าง ๆ เช่น การเกิด, การป่วย หรือรวมไปถึงการตาย

ในวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ขอนำเสนอตำนานของ “นกหัสดีลิงค์” ที่ชาวล้านนา และชาวอีสานเชื่อกันว่าเป็นพาหนะนำดวงวิญญาณของคนตายไปสู่สวรรค์

นกหัสดีลิงค์

ตำนานกล่าวว่า นกหัสดีลิงค์มีมาตั้งแต่สมัยโบราณหลายพันปีมาแล้ว นกหัสดีลิงค์ หรือที่ชาวล้านนาเรียกสั้น ๆ ว่า นกหัส นั้นมีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า หัสฺถิลิงฺคกสุโณ แปลความหมายตรงตัวว่า นกที่มีเพศเหมือนช้าง และเป็นหนึ่งในสัตว์จำพวกนกแห่งป่าหิมพานต์ มีลักษณะลำตัวเป็นนก หัวเป็นช้าง มีงา มีจะงอยปากเป็นงวง พละกำลังเทียบเท่ากับช้าง 5 เชือก

เมื่อนั้นในนครตักกะศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ามหานคร พระมหากษัตริย์แห่งนครนั้นถึงแก่สวรรคต ตามธรรมเนียมต้องอัญเชิญพระศพออกไปฌาปนกิจที่ทุ่งหลวง ในครั้งนั้นพระมหาเทวีให้จัดการพระศพตามโบราณประเพณี ได้แห่พระศพออกจากพระราชวังไปยังทุ่งหลวงเพื่อถวายพระเพลิง

ชาวบ้านกำลังตบแต่งขบวนศพแบบ นกหัสดีลิงค์

ขณะนั้นมีนกสักกะไดลิงค์ หรือนกหัสดีลิงค์ซึ่งกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารบินมาจากป่าหิมพานต์ นกได้เห็นพระศพคิดว่า เป็นอาหารของเขา จึงบินโฉบลงมาเอาพระศพจะไปกิน เมื่อพระมหาเทวีเห็นเช่นนั้นก็ประกาศให้คนช่วยต่อสู้กับนกหัสดีลิงค์เพื่อเอาพระศพคืนมา แต่ก็ไม่มีใครสามารถต่อกรกับนกหัสดีลิงค์ได้ และถูกนกหัสดีลิงค์จับกินทั้งหมด ในครั้งนี้ ธิดาแห่งพญาตักกะศิลาจึงเข้ารับอาสาสู้นกหัสดีลิงค์นั้น นางมีนามว่า สีดา นางได้ใช้ศรอาบยาพิษยิงนกหัสดีลิงค์ ทำให้นกหัสดีลิงค์ถึงแก่ความตายตกลงมาพร้อมพระศพแห่งกษัตริย์องค์นั้น พระมาหาเทวีจึงโปรดสั่งให้ช่างทำเมรุคือ หอแก้วบนหลังนกหัสดีลิงค์แล้วเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วถวายพระเพลิงไปพร้อมกัน

ยังมีหลักฐานที่ปรากฏในพงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักรว่า “ลุศักราช 940 (พ.ศ.2121) ปีขาล สัมฤทธิศก เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ นางพระยาวิสุทธิราชเทวี ผู้ครองนครพิงค์เชียงใหม่ ถึงพิราลัย พระยาแสนหลวงแต่งการศพเป็นพิมานบุษบก ตั้งบนหลังนกหัสดินทร์ (นกหัสดีลิงค์) ขนาดใหญ่ รองด้วยเลื่อนแม่สะดึง เชิญหีบพระศพขึ้นไว้ในบุษบกนั้น แล้วฉุดชักไปด้วยแรงคชสาร เจาะกำแพงเมืองออกไปถึงทุ่งวัดโลก ก็กระทำฌาปนกิจถวายเพลิง ณ ที่นั้น เผาพร้อมทั้งรูปสัตว์และวิมานที่ทรงศพนั้นด้วย จึงเป็นธรรมเนียมลาวในการปลงศพ เจ้าผู้ครองนคร ทำเช่นนี้สืบกันมา

นกหัสดีลิงค์ในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน การทำปราสาทศพนกหัสดีลิงค์มีเฉพาะพระสงฆ์ มหาเถระผู้ทรงสมณศักดิ์ และสูงด้วยวัยวุฒิเท่านั้น สำหรับฆราวาสไม่เคยเห็นมีปรากฏ ดังเช่นงานศพพลตรีเจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) เจ้านายฝ่ายเหนือชั้นสูงของเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2516 ก็ไม่มีนกหัสดีลิงค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศศพ เชิญขึ้นประดิษฐานบนราชรถ เคลื่อนขบวนจากคุ้มวงษ์ตะวัน (ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ตรงข้ามสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่) ไปสู่เมรุชั่วคราววัดสวนดอกประเพณีงานศพของประชาชนทั่วไปในปัจจุบัน ไม่มีนกหัสดีลิงค์มาเกี่ยวข้อง มีเพียงแต่การวางหีบศพไว้บนปราสาทที่ตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม ลากจูงไปกระทำฌาปนกิจ ณ ฌาปนสถาน

ความเชื่อถือของคนล้านนาในพิธีศพพระเถระ

วัฒนธรรมของคนล้านนาเกี่ยวกับพิธีศพนั้น เป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกในวิถีชีวิตของคนเมืองมานานนับหลายร้อยปี เมื่อมีคนตายจะต้องจัดงานศพขึ้นเพื่อเป็นการไว้อาลัย แก่คนตายอย่างสมเกียรติ พิธีศพของคนล้านนาจะแตกต่างจากภาคอื่น คือ การจัดแต่งปราสาทศพ ประดับประดาด้วยดอกไม้สดหรือแห้ง หลอดไฟระยิบระยับให้ดูแลสวยงาม สำหรับนัยว่าเพื่อเป็นการยกย่องผู้ตายให้ขึ้นไปสู่สวรรค์ชั้นฟ้า

พิธีศพของพระเถระผู้สูงด้วยวัยวุฒิ และทรงสมณศักดิ์ จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ปราสาทใส่ศพของพระเถระชาวล้านนาจะยิ่งใหญ่ไม่แพ้ปราสาทศพของบรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือ ตามคติความเชื่อโบราณของคนล้านนา พระเถระ และเจ้านายได้รับการยกย่องในสังคมว่าเป็นชนชั้นสูง เมื่อมรณภาพหรือสิ้นชีพไปแล้ว จะไปจุติในภพที่สูงกว่า หรือเป็นเทพสถิตในสรวงสวรรค์ชั้นต่าง ๆ บนเขาพระสุเมรุ อันเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นจากความเชื่อระหว่างศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์ผสมกัน

ตามประเพณีที่ทำกันมาแต่โบราณ งานศพของพระสงฆ์จะมีการทำบุญทำทานกันอย่างใหญ่โต มีมหรสพ และการละเล่นเพื่อลดความวังเวงหรือโศกเศร้า โดยเฉพาะปราสาทศพ ได้รับการตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามอลังการซึ่งทำเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ ถือว่าเป็นพาหนะของผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เท่านั้น ยิ่งชั้นสูง ๆ ก็จะใหญ่มากขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะนิยมเก็บศพไว้จนถึงหน้าแล้ง หรือช่วงที่ไม่มีฝนตก ราวเดือน พฤศจิกายน – เมษายน การสร้างเมรุศพนั้นประกอบด้วยไม้จิงเป็นพื้น มีฐานตั้งอยู่บนนกหัสดีลิงค์ ศรัทธาชาวบ้านจะชักลากไปสู่ฌาปนสถาน มีฆ้องกลองแห่ตามขบวน มีคนตีกังสดาล เดินไปตีไปตามขบวนจนกว่าจะถึงฌาปนสถาน

กล่าวโดยสรุปแล้ว นกหัสดีลิงค์ หรือที่ชาวล้านนาเรียกโดยทั่วไปว่า นกหัส ซึ่งถือเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์มีความศักดิ์สิทธิ์และได้ไปปรากฎในตำนานของคนล้านนาดังที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนั้น นกหัสดีลิงค์ยังมีความสำคัญต่อพิธีศพของพระเถระที่มรณภาพ โดยเชื่อว่า นกหัสดีลิงค์จะนำพาดวงวิญญาณไปอยู่บนสวรรค์และไปเกิดใหม่ในภพชาติที่ดีกว่านั่นเอง

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : มรดกล้านนา – สืบสานภูมิล้านนา ร่วมพัฒนาสู่สากลโลก, guideubon.com
ภาพจาก : board.postjung.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น