สกายวอล์ค “ดอยกองมู” จุดพลุท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน จริงหรือ!!!

รายงานของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว ซึ่งนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.สัญจร ในกลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 ช่วง ม.ค.-ต.ค.61 รายได้จากนักท่องเที่ยว เฉลี่ย/คน/ทริปอยู่ที่ 7,954 บาท เชียงใหม่ 9,534 บาท ,ลำพูน 1,315 บาท,ลำปาง 3,103 บาท และแม่ฮ่องสอน 4,799 บาท ถ้ามองในภาพรวมรายได้ทั้งปี เชียงใหม่เกือบแสนล้านบาท หรือเดือนละ 2,700 ล้านบาท อันดับ 2 คือ เชียงราย ตามด้วย แม่ฮ่องสอน ปีละเกือบ 4 พันล้านบาท

แนวนโยบาย “ปรุงต้นทุนท้องถิ่น”ด้วยเครื่องเคียง ล่อตา ล่อใจ ให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากที่สุด จึงเป็นชุดความคิดกระจายไปสู่เมืองหลัก เมืองรองมานาน จากมูลค่ารายได้ท่องเที่ยวสู่ประเทศที่ตั้งเป้าว่า น่าจะพุ่งทยานสู่ 3 ล้านล้านบาทในปีนี้

กลยุทธ์ สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่อ้างอิงเสียงเรียกร้องจากพื้นที่ ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นรูปแบบ “โครงการสกายวอล์ค (SkyWalk) ” ทางเดินกระจกยื่นออกไปตามชง่อนผา เชิงดอยต่างๆ

จุดชมวิวบนกระจกใสแห่งแรกของไทย เป็นรูปเกือกม้าอยู่ที่วัดผาตากเสื้อ ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย ว่ากันว่าเป็นจุดชมวิว ที่ปลุกกระแสความต้องการของหลายๆท้องถิ่น ในทุกภูมิภาค

ถัดมาเป็นโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ สกายวอล์ค พระใหญ่ ภูคกงิ้ว ทางเดินพื้นกระจกใส บ้านท่าดีหมี ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย ใช้งบ 28,698,000 บาทก่อสร้าง มีการนำเสนอสกายวอล์คใหญ่สุดในไทย จะเป็นของ อปท.ใน ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากเป็นโปรเจคใหญ่มาก ต้องใช้งบมหาศาล แต่หน่วยงานที่คิดแผน ยืนยันว่าคุ้ม

ในขณะที่ โครงการ สกายวอล์ค ในภาคเหนือ ที่กำลังโด่งดังเป็นกระแสคือ ” สกายวอล์ค ดอยกองมู “แม่ฮ่องสอน แผนพัฒนาด้านการท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน มีเสียงสะท้อนจากขุน เขาว่า การจะดำเนินกิจกรรม ที่อ้างว่าพัฒนาทองถิ่น จะต้องยึดหลักการพื้นฐานการมีส่วนร่วม

ที่ผ่านมาโครงการวิจัยของ สกว.ในแม่ฮ่องสอน กว่า 20 ปี ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า เป็นจังหวัดที่ร่ำรวยทั้งมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น หลายภาคส่วนตั้งธงว่า การพัฒนาแม่ฮ่องสอน ต้องพัฒนาแบบน้ำพุ ไม่ใช่พัฒนาแบบน้ำตก จะก่อสร้างสิ่งใดขึ้นมา ควรถามเจ้าของบ้านก่อน

กรณีสกายวอล์ก ที่จะสร้างบริเวณวัดพระธาตุดอยกองมู ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัด โครงการดังกล่าวชาวบ้านไม่ทราบเรื่องมาก่อน เช่นเดียวกับโปรเจค กระเช้าลอยฟ้าของเชียงใหม่ สกายวอล์คเชียงใหม่ หลายๆหน่วยงาน ยังรอจังหวะ ตามน้ำ ตามกระแส ที่อื่นๆ(วัด) สร้างได้ ทำไมเชียงใหม่สร้างบ้างไม่ได้ ขนาดโครงการใหญ่ๆรุกล้ำพื้นที่ควรสงวนรักษา ยังเกิดโครงการบ้านพักในป่า ในดอยสุเทพ -ปุย ตราบใดที่ชาวบ้านชล่าใจ ไม่รับรู้รายละเอียดใดๆล่วงหน้า กว่าจะรวมตัวคัดค้าน โครงการก็พร้อมจะก่อสร้างหรือสร้างไปแล้ว ต้องมาหาฤกษ์ไล่รื้อ ผลาญงบกันอีก

ร่วมแสดงความคิดเห็น